- Details
- Category: EEC เมกะโปรเจกต์
- Published: Saturday, 25 January 2020 18:51
- Hits: 3575
EEC การบริหารจัดการน้ำระยะยาวให้เพียงพออย่างดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในเขตอีอีซี
ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2563 การประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 1/2563 วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2563 โดยมี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ได้รับทราบ และพิจารณาความก้าวหน้า
การดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
- แผนบริหารจัดการน้ำใน อีอีซี : แก้ระยะสั้น วางแผนระยะยาวให้ยั่งยืน
- ที่ประชุม กบอ. รับทราบ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เสนอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ และการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563 – 2580) ต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2562 วันที่ 20 ธันวาคม 2562 ซึ่ง กนช. ได้มีมติเห็นชอบ และจะได้เสนอต่อ ครม. ต่อไป โดยมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
มาตรการระยะสั้น เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2563
การประชุมร่วมกันระหว่าง สทนช. สกพอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สรุปสถานการณ์น้ำในจังหวัดระยองและฉะเชิงเทรา มีใช้เพียงพอ ส่วนจังหวัดชลบุรี มีความต้องการน้ำเพิ่มเล็กน้อย (ประมาณ 5 - 6 ล้านลูกบาศก์เมตร) แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง และทำงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำ โดยเตรียมโครงการเพิ่มเติม ดังนี้
- ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำแผนใช้น้ำ ลดลงร้อยละ 10 ช่วงเดือน มกราคม – มิถุนายน 2563
- วางมาตรการเพิ่มปริมาณน้ำ หากฝนตกล่าช้าจากปกติเดือนมิถุนายน สทนช. ได้วางโครงการเพื่อลดความเสี่ยง ดังนี้
1.) โครงการสูบน้ำกลับคลองสะพาน มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 20 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTWATER ประสานกับกรมชลประทาน เร่งดำเนินการ
2.) โครงการสูบน้ำคลองหลวง ณ จุดพานทองเข้ากับท่อส่งน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต - บางพระ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 70 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย EASTWATER ประสานกับกรมชลประทาน เร่งดำเนินการ
3.) โครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำประแกด (ลุ่มน้ำวังโตนด) จ.จันทบุรี มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 70 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยต้องเจรจาค่าน้ำกับคณะกรรมการลุ่มน้ำคลองวังโตนด ดำเนินการเสร็จทั้ง 3 โครงการ จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 160 ล้านลูกบาศก์เมตร
การบริหารจัดการน้ำระยะยาวให้เพียงพออย่างดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สทนช. ได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของปี 2563 – 2580 ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563 – 2580)
1.) การพัฒนาและจัดการน้ำต้นทุน วงเงิน 52,797 ล้านบาท
1.1 แผนการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน (Supply Side Management) 38 โครงการ วงเงิน 50,691.10 ล้านบาท เช่น สร้างอ่างเก็บน้ำ คลองวังโตนด อ่างเก็บน้ำ คลองโพล้ และพัฒนาระบบสูบกลับคลองสะพาน - อ่างเก็บน้ำประแสร์ เป็นต้น
1.2 แผนการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand Side Management) 9 โครงการ วงเงิน 1,927.15 ล้านบาท เช่น แผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย การประปาส่วนภูมิภาค สาขาต่าง ๆ ปรับระบบ การเพาะปลูก เป็นต้น
1.3 มาตรการอื่นๆ การศึกษาจัดทำฐานข้อมูลพัฒนาน้ำบาดาล 3 โครงการ วงเงิน 178.99 ล้านบาท
2.) การผลิตน้ำจืดจากทะเล (Desalination) เตรียมพิจารณาการลงทุนในอนาคต
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนในพื้นที่ อีอีซี คือ จะมีความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ มีน้ำต้นทุนเพียงพอต่อความต้องการทุกภาคส่วนจนถึงปี 2580 สามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ที่อยู่อาศัย พื้นที่เศรษฐกิจแหล่งท่องเที่ยว และสถานประกอบการต่างๆ มีน้ำคุณภาพดีที่ส่งผลดีต่อสุขภาพสุขภาพประชาชน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้านการผลิต และการบริหาร
- โครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในเขตอีอีซี
ที่ประชุม กบอ. เห็นชอบ หลักการตามที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นำเสนอ โดยมีแนวทาง ดังนี้
1.) ศึกษา พัฒนา ลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่นๆ และระบบกักเก็บพลังงาน ในพื้นที่อีอีซี และส่วนขยาย ให้เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรลุเป้าหมายสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิล ต่อพลังงานแสงอาทิตย์ ผลิตไฟฟ้าเป็น 70 : 30
2.) เร่งรัดการลงทุน ร่วมกับภาคเอกชน ให้มีการผสมผสานระหว่างการเกษตร และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ จำหน่ายในพื้นที่อีอีซี
3.) สนับสนุน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ออกแบบระบบ วางแผน สร้างกลไกคาร์บอนเครดิต สู่ระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบบซื้อขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจระหว่างผู้ประกอบการในพื้นที่ มุ่งสู่การเป็น Zero Carbon City และพื้นที่สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)
4.) ศึกษาความเหมาะสม และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน ร่วมกับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยรักษาเสถียรภาพ และบริหารความต้องการไฟฟ้าสูงสุดช่วงเวลากลางคืน
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web