WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

INDUSอตตม สาวนายนรัฐบาล เตรียมประกาศออก TOR เชิญชวนร่วมประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 30 พ.ค., แย้มมี 5 กลุ่มจากใน-ตปท.สนใจ

         นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาครัฐพร้อมจะประกาศเชิญชวนนักลงทุนภาคเอกชนที่มีศักยภาพ ทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมการประกวดราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) แล้วในวันที่ 30 พ.ค.61 โดยมีเป้าหมายจะดำเนินการคัดเลือกผู้ลงทุนให้ได้ภายในปี 61

         โครงการดังกล่าวครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภา โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง รวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร ประกอบด้วย

                1.รถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ ดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21 กิโลเมตร

                2.รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 29 กิโลเมตร

                3.รถไฟความเร็วสูงจากสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร

                4.พัฒนาพื้นที่สถานีและสนับสนุนการให้บริการผู้โดยสาร ได้แก่ สถานีมักกะสันประมาณ 150 ไร่ สำหรับการเป็นสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง, สถานีศรีราชาประมาณ 100 ไร่ สำหรับการเป็นสถานีสนับสนุนบริการรถไฟและโรงซ่อมหัวรถจักรของ รฟท.

     สำหรับ กรอบการร่วมลงทุนในครั้งนี้ได้นำข้อเสนอและความคิดเห็นที่ได้รับจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศมาพิจารณาอย่างจริงจัง เพื่อให้มีความสมบูรณ์และชัดเจนบนหลักการเปิดกว้างให้เกิดการแข่งขันของภาคเอกชน (International Bidding) เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐ โดยจะดำเนินโครงการภายใต้ประกาศคณะกรรมการนโยบายเรื่องการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (PPP EEC Track)

      "วันที่ 30 พ.ค.ประกาศเชิญชวนอย่างเป็นทางการให้ผู้ลงทุนที่มีความสนใจ เข้ามารับเอกสารคือเชิญชวนให้เข้ามาดูโครงการ แล้วก็ให้มาซื้อเอกสาร TOR ทั้งนี้ทั้งนั้นเป้าหมายคือ ให้สามารถคัดเลือกเอกชนที่เหมาะสม เข้ามาดำเนินโครงการนี้ภายในปี 61 เป็นไปตามแผน นี่คือเป้าหมายหลัก"รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

      ทั้งนี้ ในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะจัดประชุมครั้งแรกหลังจาก พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา และจะจัดการประชุมชี้แจงต่อสถานฑูตทุกประเทศเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ ที่กระทรวงการต่างประเทศ

      นายอุตตม กล่าวว่า ขณะนี้มีนักลงทุนต่างชาติจากจีน ญี่ปุ่น ยุโรปหลายประเทศสนใจเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ ดังนั้นคงจะมีการจัดตั้งเป็นรูปแบบ Consortium ซึ่งรวมแล้วขณะนี้มีอยู่ประมาณ 5 กลุ่มทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

      ขณะเดียวกัน เพื่อผู้เข้าร่วมประมูลจำนวนมาก จึงมีแนวโน้มให้มีสัดส่วนต่างชาติถือหุ้นได้มากกว่า 50% และได้ผ่อนผันให้รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานรัฐของประเทศเดียวกันเข้าร่วมประมูลได้มากกว่า 1 กลุ่ม แต่รัฐบาลประเทศนั้นๆ ต้องทำหนังสือรับรองว่าหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจประเทศนั้นๆ จะไม่มีการฮั้วกัน

       นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนโครงการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. - 17 มิ.ย. และจะเปิดขายเอกสารประกวดราคาระหว่างวันที่ 18 มิ.ย.-9 ก.ค.นี้ โดยจะมีการประชุมชี้แจงครั้งที่ 1 ในวันที่ 23 ก.ค. และ 24 ก.ค.จะพาไปลงพื้นที่ ในวันที่ 24 ก.ย.จะมีการจัดประชุมชี้แจงครั้งที่ 2 โดยระหว่างนั้นตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.- 9 ต.ค.นี้จะเปิดรับคำถามจากเอกขน

      จากนั้นจะกำหนดให้ยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 12 พ.ย.61 โดยจะมีทั้งหมด 4 ซอง คือซองคุณสมบัติทั่วไป ซองเทคนิค ซองเสนอราคา และ ซองข้อเสนอพิเศษที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ ทั้งหมดจะพิจารณาประกอบกันและคาดใช้ระยะเวลาพิจารณาคัดเลือกประมาณ 1 เดือน ซึ่งจะประกาศผู้ที่เสนอผลตอบแทนที่ดีที่สุด หรือมีข้อเสนอให้รัฐร่วมลงทุนน้อยที่สุดเป็นผู้ชนะการประมูล ภายในธ.ค.นี้ เมื่อสรุปผลประกวดราคาแล้วจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติ จึงจะสามารถลงนามสัญญากับเอกชนได้ราวต้นปี 62

      โครงการนี้จะมีระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 5 ปี กำหนดเปิดให้บริการต้นปี 67 ขณะเดียวกัน สนามบินอู่ตะเภาจะมีการลงทุนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ที่รองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคน/ปี ที่ใช้เวลาก่อสร้างราว 4-5 ปี ซึ่งทั้งสองโครงการจะต้องเกิดขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

      นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า ด้วยการออกแบบกระบวนการให้รวดเร็วและกระชับในรูปแบบ PPP EEC Track จะทำให้การเดินหน้าโครงการรวดเร็วสอดรับไปกับการพัฒนาของเขตพิเศษภาคตะวันออก สำหรับสถานีที่รถไฟจะวิ่งผ่านนั้น นอกเหนือไปจากเป็นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมสำหรับประชาชนแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งที่รองรับการพัฒนาและการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกสามจังหวัดอีกด้วย

      โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 2.2 แสนล้านบาท เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนรุปแบบ net cost อายุโครงการ 50 ปี โดยรัฐจะร่วมลงทุนไม่เกิน 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐจะทยอยจ่ายให้เอกชนภายใน 10 ปีหลังจากเปิดให้บริการ หลังจากครบ 50 ปี รัฐบาจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมด รวมรถไฟความเร็วสูง สถานี และอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสิ้นจะมีผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจตลอดทั้งโครงการประมาณ 7 แสนล้านบาท

      นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงคมนาคมกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้นอกจากครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภา โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง รวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร มีจำนวนสถานีรวมทั้งสิ้น 15 สถานี โดยรถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ ดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21 กิโลเมตร มีจำนวน 2 สถานี , รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 29 กิโลเมตร มีจำนวน 8 สถานี และ รถไฟความเร็วสูงจากสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร มีจำนวน 5 สถานี

      ปัจจุบันรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท-สุวรรณภูมิ ที่เปิดดำเนินการอยู่แล้ว ในร่าง TOR ได้กำหนดให้เอกชนซื้อกิจการรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ในมูลค่าราว 1.1 -1.2 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันผลการดำเนินงานมีขาดทุนสะสมประมาณ 1,785 ล้านบาทก โดยปี 60 ขาดทุนประมาณ 280 ล้านบาท และเป็นหนี้ค่าก่อสร้างประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท เมื่อต้องทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จึงนำโครงการแอร์พอร์ตลิงก์มารวม และแก้ปัญหาการขาดทุนในคราวเดียว

     ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสารรถไฟแอร์พอร์ตลิง ปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 7 หมื่นเที่ยวคน/วัน โดยรถไฟให้บริการ 7 ขบวน ซึ่งจะเพิ่มเป็น 9 ขบวนในปลายปีนี้ และคาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มมาเป็น 1 แสนเที่ยวคน/วันในปี 63-64 หลังจากเชื่อมเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่เปิดให้บริการ โดย รฟท.จะให้เวลาเอกชนเตรียมตัวรับมอบกิจการ 2 ปี และปีที่ 3 เอกชนจึงจะรับมอบและรับรู้รายได้ของกิจการ

      นอกจากนี้ ได้ให้เอกชนเช่าที่ดินบริเวณรอบสถานีมักกะสันประมาณ 150 ไร่ และที่ดินบริวเณศรีราชาประมาณ 25 ไร่จากทั้งหมดมี 100 ไร่ที่นำไปปรับปรุงเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูง โดยเอกชนจะต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินทั้งสองแห่งให้ รฟท.ประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาทตลอดระยะเวลาสัมปทาน

      ผู้ที่สนใจสามารถเข้าดูข้อมูลโครงการที่เว็บไซต์ของรฟท. เว็บไซต์อีอีซี เว็บไซต์กระทรวงคมนาคม และสถานทูตไทยในต่างประเทศทุกประเทศ และจะประกาศทางหนังสือพิพม์และสถานีโทรทัศน์ด้วย

                        อินโฟเควสท์

5 รายสนชิงรถไฟไฮสปีด พร้อมพัฒนาที่มักกะสัน-ศรีราชา

       แนวหน้า : เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม,นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ร่วมแถลงเอกสารการประกวดราคา(ทีโออาร์) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

     นายอุตตม กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม-17 มิถุนายน 2561 จะประกาศ เชิญชวนนักลงทุนภาคเอกชนที่มีศักยภาพทั้งไทย และต่างประเทศเข้าร่วมประกวดราคาแบบนานาชาติ คาดจะสามารถคัดเลือกผู้ชนะประมูลได้ภายในปี 2561 ซึ่งเบื้องต้นมีนักลงทุนทั้งจากไทยและต่างประเทศ 5 กลุ่มธุรกิจให้ความสนใจลงทุน

         ขั้นตอนจากนั้นจะกำหนดการขายซองประกวดราคาในวันที่ 18 มิถุนายน-9 กรกฎาคม 2561, กำหนดเรียกประชุมชี้แจงเอกชนผู้ซื้อ เอกสาร ครั้งที่ 1 วันที่ 23 กรกฎาคม 2561, ลงพื้นที่ดูโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิ้งค์และพื้นที่ตามแนวเส้นทางวันที่ 24 กรกฎาคม 2561, ประชุมชี้แจงเอกชนผู้ซื้อเอกสารครั้งที่ 2 วันที่ 24 กันยายน 2561, ระหว่างนี้จะเปิดรับคำถามจากเอกชน ผู้ซื้อเอกสารวันที่ 10 กรกฎาคม-9 ตุลาคม 2561, พร้อมตอบคำถามวันที่ 10 กรกฎาคม-30 ตุลาคม 2561, กำหนดให้ เอกชนยื่นเอกสารข้อเสนอวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 และ จะเจรจาต่อรองประกาศผลปลายปี 2561 ก่อนลงนามสัญญาต่อไป

        โครงการดังกล่าวมีระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร (กม.) 15 สถานี ความเร็ว 250 กม./ชม. มูลค่าโครงการประมาณ 2.2 แสนล้านบาท คาดระยะเวลาก่อสร้าง 4-5 ปี กำหนดอายุสัมปทานโครงการ 50 ปี ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ตลอดทั้งโครงการประมาณ 7 แสนล้านบาท เมื่อครบสัญญารัฐ จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมด มูลค่ามากกว่า 3 แสนล้านบาท รวมทั้งให้สิทธิพัฒนาพื้นที่สถานีและสนับสนุนการให้บริการให้ผู้โดยสารสถานีมักกะสัน ขนาดพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ พร้อม การพัฒนาพื้นที่สถานีศรีราชาที่มีประมาณ 100 ไร่ แต่ใช้ประโยชน์พื้นที่ 75 ไร่ สำหรับเป็นสถานีเพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ ที่จอดและโรงซ่อมหัวรถจักรของร.ฟ.ท. ส่วนที่เหลืออีก 25 ไร่ ให้เอกชนนำไปพัฒนา และจ่ายค่าเช่าให้ร.ฟ.ท.ตามราคาตลาด

     มีรายงานแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง, เครือปตท., กลุ่มบีทีเอส ต่างสนใจร่วมประมูล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!