- Details
- Category: CAT-TOT
- Published: Monday, 01 May 2017 10:54
- Hits: 5168
'พิเชฐ'จี้ TOT ผนึก'กสท'ควบรวมธุรกิจโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำ
แนวหน้า ; นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า เตรียมเรียก กรรมการผู้จัดการใหญ่ 2 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เข้ามาหารือแนวทางการควบรวมธุรกิจระหว่าง 2 องค์กร ในส่วนของการควบรวมธุรกิจโครงข่ายระหว่างประเทศ หรือ บริษัท NGN และ บริษัท NGDC ที่เป็นการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ 2 องค์กรบริหารร่วมกัน ที่จะต้องทำให้ชัดเจนและเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล
"ปัจจุบันโครงการระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศที่จะเป็นการให้ผู้บริการ อินเตอร์เนตเกตเวย์ หรือ IIG ที่มีการเชื่อมต่อระบบสื่อสัญญาณระหว่างประเทศผ่านประเทศไทย ดังนั้น ทั้ง 2 บริษัท จะต้องทำรายงานสรุปแผนงานทั้งหมดให้ละเอียดชัดเจน พื้นที่ไหนที่ยังไม่มีเส้นทางเคเบิลใต้น้ำผ่าน ให้เสนอสร้างเส้นทางเพิ่ม และเส้นทางเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่ความสามารถในการรองรับการใช้งาน (คาพาซิตี้) ไม่เพียงพอให้ขยายเพิ่มซึ่งจะต้องสรุปให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน เพื่อที่จะสรุปให้รัฐบาลรับทราบ โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุมดีอีพิจารณา ต่อไป" นายพิเชฐ กล่าว
นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ AAE-1 (Asia-Africa- Europe1) ที่จังหวัดสตูลว่า ที่ผ่านมา ทีโอที ได้สร้างระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ AAE-1 ซึ่งเป็นเคเบิลใต้น้ำ ระหว่างประเทศ 1 ใน 3 ระบบ ที่ ทีโอที ได้รับอนุมัติจาก คณะรักษา ความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อปี 2557 โดยจากการลงพื้นที่ล่าสุดพบว่าคืบหน้าโดยรวมมากกว่า 85% และมีกำหนดเปิดใช้งานในส่วนของเส้นทางประเทศไทย-สิงคโปร์ และไทย - ฝรั่งเศสในไตรมาสสองปี 2560
สำหรับ เคเบิลเส้นนี้มีระยะทาง ของเส้นเคเบิลใยแก้วนำแสงทั้งสิ้นประมาณ 25,000 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปโดยเป็นระบบ เคเบิลใต้น้ำข้ามทวีปที่มีความจุสูง เส้นแรก ที่มีแนวเคเบิลเส้นทางหลักจากฮ่องกงพาดผ่านทางภาคใต้ของประเทศไทยโดยมีจุดขึ้นบก ณ จังหวัดสงขลาและเชื่อมต่อผ่านสายไฟเบอร์ออพติกภาคพื้นดิน (Thailand Crossing) ไปยัง จังหวัดสตูลเพื่อ เชื่อมต่อไปยังยุโรป เสมือนเป็น land bridge ทางด้านโทรคมนาคมระหว่างประเทศที่ช่วยลดระยะทางการเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างเอเชีย และยุโรป
ทั้งนี้ หลังจาก ทีโอที ได้ลงทุนโครงระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ AAE-1 เฟสแรกแล้ว ทีโอที ยังจะลงทุนในเฟสสอง เส้นทางไทย-ฮ่องกง คาดว่า จะเปิดใช้งานได้ราวไตรมาส 4/2560 โดยคาดว่าหลังจากที่ทีโอทีได้เปิดให้บริการภายปีนี้แล้วเสร็จจะมีรายได้ ต่อปีราว 300 ล้านบาท ซึ่งการเปิด เส้นทางดังกล่าวสามารถลดต้นทุนได้ ราวปีละ 500 ล้านบาท
แหล่งข่าวทีโอที เผยยังไม่สรุปผลประเมินพันธมิตรคลื่น 2300MHz คาดรู้ผลปลาย เม.ย.อาจมีมากกว่า 1 ราย
แหล่งข่าวจาก บมจ.ทีโอที (TOT)เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า คณะที่ปรึกษายังประเมินและคัดเลือกคู่ค้าร่วมลงทุนให้บริการคลื่น 2300 MHz ในรอบแรก (Shortlist) ไม่แล้วเสร็จ เพราะแต่ละรายมีเอกสารจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะมีรายชื่อมากกว่า 1 ราย โดยจะรู้ผลราวปลายเดือน เม.ย.นี้
"เรากำลังเร่งประเมิน ตัองมีการสอบทานทุกราย รวมทั้งตัวเลข คิดว่าได้ short list ปลายเมษายนนี้ short list จะไม่ใช่แค่รายเดียว"แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าว ยังกล่าวอีกว่า เมื่อสรุปรายชื่อ short list แล้วก็จะเริ่มขั้นตอนการเจรจา คาดว่าจะได้สรุปการคัดเลือกและเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา มีเอกชนทั้งหมด 6 รายยื่นข้อเสนอในการคัดเลือกครั้งนี้ ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (ADVANC), บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC), TUC RMV for 2300 MHz Consortium ในเครือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE), บริษัท ไฮมีเดีย เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท โมบาย แอลทีอี จำกัด และ บริษัท ทานตะวัน เทเลคอมมูนิเคชั่น จำกัด
อินโฟเควสท์