- Details
- Category: CAT-TOT
- Published: Saturday, 15 April 2017 22:16
- Hits: 9297
TOT เผย ADVANC-DTAC-TRUE เข้ายื่นข้อเสนอเป็นพันธมิตรบริหารคลื่น 2300 MHz
รายงานข่าวจาก บมจ.ทีโอที เปิดเผยว่า ทีโอที เปิดรับข้อเสนอแผนลงทุนคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิร์ตซ (MHz) ของบริษัทวันนี้เพียงวันเดียว ปรากฏว่า มีเอกชนทั้งหมด 6 รายเข้ายื่นข้อเสนอ
ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (ADVANC), บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC), TUC RMV for 2300 MHz Consortium ในเครือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE), บริษัท ไฮมีเดีย เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท โมบาย แอลทีอี จำกัด และ บริษัท ทานตะวัน เทเลคอมมูนิเคชั่น จำกัด
นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีเอกชนเข้ามารับรายละเอียดเอกสารเชิญชวนให้มายื่นข้อเสนอ (Request for Proposal : REP) ไปทั้งสิ้น 13 ราย ประกอบด้วย ผู้ให้บริการรายใหญ่ และบริษัทที่ปรึกษาในการติดตั้งอุปกรณ์
นางสาวมนธ์สินี กีรติไกรนนท์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย บริษัท เดเทคอน เอเชีย-แปซิฟิค จำกัด หนึ่งคณะที่ปรึกษา ทีโอที ในการเปิดรับข้อเสนอครั้งนั้ กล่าวว่า คณะที่ปรึกษาฯ จะเริ่มพิจารณาเอกสารและประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคและด้านผลตอบแทนและการลงทุนทันที่ที่ปิดรับข้อเสนอในวันนี้ คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาภายใน 60 วัน
โดยจะประเมินและคัดเลือกชื่อคู่ค้ารอบแรก (Shortlist) ภายในวันที่ 12 เม.ย.นี้ จากนั้นเข้าสู่ในขั้นตอนต่อไป คือ การเจรจากับผู้ผ่านการพิจารณารอบแรก คือระหว่างวันที่ 18 -28 เม.ย.60 และคาดว่าจะประกาศผู้ที่ได้รับเลือกภายใน พ.ค.60
นายรังสรรค์ คาดว่า ทีโอที จะเซ็นสัญญากับพันธมิตรที่ได้รับการคัดเลือกภายในไตรมาส 3/60 และคาดว่าจะเปิดบริการคลื่น 2300MHz ได้ในไตรมาส 4/60 เป็นไปตามข้อกำหนดที่ให้ผู้บริการติดตั้งโครงข่ายในปีที่ 1-2 ในเมืองใหญ่ และติดตั้งให้ครบภายใน 5 ปี
ที้งนี้ การประเมินข้อเสนอประกอบด้วยการพิจารณาข้อเสนอที่ยื่นมา 3 ส่วน ได้แก่ 1. ข้อเสนอด้านเทคนิค ให้น้ำหนัก 40%และ 2. ด้านการลงทุนและผลตอบแทน ให้น้ำหนัก 60% ซึ่งเอกสารข้อเสนอจะถูกจัดเก็บไว้ในห้องประชุม 8 ชั้น 3 อาคาร 9 บมจ.ทีโอที ที่มีระบบล็อกไว้ 3 ชั้นเพื่อรักษาความปลอดภัย
ด้านนายรวีพันธ์ พิทักษ์ชาติวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานกฎหมาย DTAC กล่าวว่า วันนี้ได้ร่วมกับนายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ และนายเลิศรัตน์ รตะนานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายประสานงานภาครัฐ เป็นตัวแทน DTAC เข้ายื่นข้อเสนอแผนธุรกิจเพื่อเป็นพันธมิตรร่วมกับทีโอที ในการให้บริการคลื่นความถี่บนคลื่น 2300 MHz
ที่ผ่านมาหลังจากได้รับเอกสาร (Request for Proposal: RFP)ซึ่ง DTAC ได้จัดทีมวางแผนธุรกิจ กลยุทธ์ รายละเอียดการขยายโครงข่าย การติดตั้งครอบคลุมพื้นที่ ระยะเวลาในการดำเนินการ รวมถึงผลตอบแทนแก่ทีโอที เหนืออื่นใด DTAC มั่นใจที่จะนำคลี่น 2300MHz มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อลูกค้าผู้ใช้งาน รวมถึงการร่วมเป็นส่วนหนึ่งนำไทยไปสู่เป้าหมาย ประเทศไทย 4.0 ในปี 63 อย่างชัดเจน รวมทั้งดีแทคมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่ผู้นำด้านดิจิทัลในประเทศไทย
อินโฟเควสท์
ยักษ์มือถือรุมตอมคลื่น 2300 ทีโอทีจ่อประมูลหาพันธมิตร
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ : 'ทีโอที'นับหนึ่งหาพันธมิตรคลื่น 2300 MHz เปิดกว้างรับข้อเสนอ คาดไม่เกินมีนาคมรู้ผล ใครชนะได้สิทธิ์ใช้คลื่นนานถึงปี 2568 มั่นใจช่วยปั๊มรายได้ ด้านค่ายมือถือขานรับถ้วนหน้า 'ดีแทค' หวังเฉลี่ยความเสี่ยงสัมปทานใกล้หมดอายุ ส่วน 'เอไอเอส-ทรู' รอลุ้นรายละเอียดโครงการ
นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภายในสัปดาห์นี้จะทยอยเชิญผู้เกี่ยวข้องในวงการโทรคมนาคม ทั้งบรรดาโอเปอเรเตอร์และเวนเดอร์ รวมถึงผู้สนใจรายใหม่ที่จะเข้ามาเป็นคู่ค้ากับทีโอทีให้เข้ามารับฟังรายละเอียดในโครงการขยายโครงข่าย และให้บริการบรอดแบนด์บนคลื่น 2300 MHz ด้วยเทคโนโลยี LTE ที่ทีโอทีได้สิทธิ์ถือครองอยู่ 60 MHz ก่อนที่จะเปิดให้ผู้สนใจเข้ามารับซองรายละเอียดและเงื่อนไขทางเทคนิค (TOR) จากทีโอที ราวต้นเดือน ก.พ.นี้ เพื่อให้แต่ละบริษัทได้ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับแผนธุรกิจ รายละเอียดการขยายโครงข่ายและผลตอบแทนที่จะให้กับทีโอที คาดว่าภายในเดือน มี.ค.นี้จะคัดเลือกบริษัทที่เหมาะสมได้
โดยในหลักการ โครงการนี้เมื่อทีโอทีและบริษัทที่ปรึกษาคัดเลือกผู้เสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุดได้แล้ว ทีโอทีจะเริ่มขยายโครงข่ายด้วยการเช่าอุปกรณ์จากพันธมิตร และมีรายได้จากการนำความจุของโครงข่ายมาขายต่อให้คู่ค้า รวมถึง MVNO (ขายส่งขายต่อบริการ) นำความจุโครงข่ายไปให้บริการ 4G/LTE กับลูกค้าย่อย ทั้งจะนำความจุโครงข่ายไปให้บริการเองด้วย
"คู่ค้าต้องขยายโครงข่าย 4G/LTE สำหรับรองรับทั้งอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายแบบประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) และโมบายบรอดแบนด์ บนย่าน 2300 MHz เต็มทั้ง 60 MHz ตามแผนธุรกิจ ทีโอทีจะนำความจุไปให้บริการโมบาย 20% Fixed Wireless Broadband 20% อีก 60% แบ่งเป็นโมบายให้คู่ค้า ซึ่งคู่ค้าในโครงการนี้ไม่จำกัดเฉพาะค่ายมือถือเดิม แต่เปิดให้ทั้งโอเปอเรเตอร์ เวนเดอร์ และผู้สนใจรายใหม่ด้วย"
ตั้งเป้าโครงข่าย 80% ใน 2 ปี
โดยโครงข่ายที่สร้างขึ้นรองรับได้ราว 10-19 ล้านเลขหมาย แปรผันตามปริมาณความจุและความเร็วของบรอดแบนด์ที่จะนำไปให้บริการลูกค้าแต่ละราย ซึ่งขั้นต่ำต้องขยายเครือข่ายให้ครอบคลุม 80% ของประชากร ในปี 2563 แต่หากผู้ประกอบการรายใดยื่นข้อเสนอดีกว่าก็เป็นแต้มต่อในการพิจารณา ส่วนการคัดเลือก MVNO ในการนำความจุไปทำตลาด คาดว่าเริ่มเปิดให้เข้ามาเจรจาได้ในไตรมาส 2 ปีนี้ หลังโครงข่ายหลักพร้อมให้บริการ
"ในส่วนของ MVNO ทีโอทีเปิดกว้างให้ผู้ที่มีใบอนุญาตจาก กสทช.มาคุยได้เลย จะมาแบบใช้ระบบบิลลิ่ง ระบบแบ็กออฟฟิศของทีโอทีทั้งหมด หรือไม่ใช้ก็ได้ แต่จะมีการทำสัญญาที่ปิดจุดอ่อนที่ทีโอทีเคยมีปัญหากับ MVNO รายเดิมบนคลื่น 2100 MHz มาก่อน อาทิ เงื่อนไขเกี่ยวกับการชำระเงิน การขยายตลาด แต่โดยหลักแล้ว MVNO ในไทยค่อนข้างมีข้อจำกัดในการทำตลาด ฐานลูกค้าอยู่ในราว 5 แสน-1 ล้านเท่านั้น"
มั่นใจผลตอบแทน 2 ดิจิต
แม้โครงการนี้จะมีข้อจำกัดเรื่องเงื่อนไขการใช้คลื่นความถี่ที่ กสทช.คงไว้ที่ปี 2568 เว้นแต่จะมีหลักฐานใหม่ที่นำมาประกอบการพิจารณาขยายเวลาได้ ทำให้มีเวลาดำเนินการ 8 ปีครึ่ง แต่เชื่อว่าคลื่น 2300 MHz ยังน่าสนใจ และนำคลื่นย่านอื่นมาใช้ร่วมกันได้ในอนาคต โดยเฉพาะคลื่น 2600 MHz ซึ่งทีโอทีก็สนใจหาทางนำคลื่นย่านดังกล่าวมาใช้เช่นกัน
"ทีโอทีพยายามเป็นอินฟราสตรักเจอร์เน็ตเวิร์กโพรวายเดอร์ เน้นสร้างและพัฒนาธุรกิจระยะยาวเพื่อให้เป็นธุรกิจดาวรุ่งสร้างรายได้ใหม่ให้องค์กร ขณะที่ผลตอบแทนของโครงการนี้เมื่อหักกลบระหว่างค่าเช่าที่ทีโอทีต้องจ่ายกับส่วนรายได้ที่ทีโอทีจะได้รับแล้ว คาดว่าอยู่ในระดับ 2 ดิจิต"
โดยปีนี้ คาดว่ารายได้เริ่มเข้ามาในครึ่งปีหลัง ราว 700-800 ล้านบาท แต่จะเป็นพื้นฐานสำหรับรายได้ในปีถัด ๆ ไป
ค่ายมือถือเดิมรุมชิงเค้ก
แหล่งข่าวจาก บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ได้รับการติดต่อจากทีโอทีให้เข้าไปฟังเงื่อนไขโครงการนี้แล้ว ซึ่งเอไอเอสแม้จะมีทั้งคลื่น 900 MHz 1800 MHz และ 2100 MHz แต่ก็ยังสนใจคลื่น 2300 MHz ที่จะนำมาให้บริการโมบายบรอดแบนด์ เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้บริการที่ดีขึ้นไปอีก
"คลื่นย่านนี้รองรับการใช้โมบายบรอดแบนด์ในสปีดที่สูงขึ้นจึงเข้าไปแซมโครงข่ายเดิมในเมืองที่มีอยู่แล้ว รองรับการใช้งานที่หนาแน่นได้ แต่ก็ต้องพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ทีโอทีต้องการก่อน ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียด และจะเป็นการชี้แจงรายบริษัท ซึ่งต้องประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนหลายด้าน ทั้งผลตอบแทนที่ทีโอทีต้องการ เงินลงทุนโครงข่าย เนื่องจากคลื่นย่านนี้ต้องลงเสาถี่กว่าย่านเดิม และต้องประเมินด้วยว่า แฮนด์เซตที่ลูกค้าจะใช้ได้มีมากน้อยแค่ไหน ในเบื้องต้นทราบว่า โมเดลท็อป ๆ ของแบรนด์ชั้นนำรองรับคลื่นย่านนี้แล้ว แต่ยังไม่ได้สำรวจชัดเจนว่า ลูกค้าเอไอเอสพร้อมใช้งานมากน้อยแค่ไหน"
แหล่งข่าวจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่นกล่าวว่า กลุ่มทรูยังสนใจคลื่นย่าน 2300 MHz แม้มีคลื่นในมือมากอยู่แล้ว แต่จะนำไปใช้ในส่วนใดหรือมีความเป็นไปได้แค่ไหน ต้องรอพิจารณาเงื่อนไขจากทีโอทีอย่างละเอียดก่อน
ดีแทคหวังลดเสี่ยงสัมปทาน
แหล่งข่าวจาก บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดเผยว่า เพื่อประกันความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าว่า ดีแทคและเทเลนอร์ยังลงทุนในไทยแน่นอน ทำให้การเจรจาเป็นพันธมิตรกับทีโอที บนคลื่น 2300 MHz มีความสำคัญ แม้สิทธิ์ในการใช้คลื่นจะมีถึงแค่ปี 2568 แต่ถือว่าคุ้มค่าในการลงทุน เพราะอุปกรณ์ส่วนใหญ่นำไปใช้กับคลื่นย่านอื่นได้ ทั้งเมื่อคลื่น 2300 MHz สิ้นสุดสิทธิ์การใช้งานแล้ว กสทช.ต้องนำคลื่นไปประมูล ซึ่งดีแทคมีโอกาสเข้าไปประมูลแข่งเพื่อได้สิทธิ์ใช้งานต่อ และมีแต้มต่อทันทีหากชนะประมูล เนื่องจากมีโครงข่ายพร้อมเปิดให้บริการทันที
"ปัญหาเดียวของโครงการนี้คือ การดีเลย์ที่มักเกิดเสมอกับรัฐวิสาหกิจ ปัจจุบันก็ถือว่าดีเลย์ไปพอสมควร เดิมทีโอทีตั้งใจเซ็นสัญญาให้ได้ปลายปีที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าทุกอย่างจบได้ในปีนี้ เพราะเป็นดีลที่ดีกับทุกฝ่าย"