- Details
- Category: บีโอไอ
- Published: Wednesday, 22 March 2017 21:10
- Hits: 9043
บีโอไอ เตรียมถก บ.ญี่ปุ่นในไทย 300 ราย แจงนโยบายตามกฎหมายใหม่ 2 ฉบับ มั่นใจเพิ่มแรงจูงใจขยายลงทุนมากขึ้น
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า บีโอไอเตรียมถกบริษัทญี่ปุ่นในไทย 300 ราย แจงนโยบายตามกฎหมายใหม่ 2 ฉบับ มั่นใจเพิ่มแรงจูงใจกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง นวัตกรรม และวิจัยพัฒนาจากญี่ปุ่นขยายการลงทุนในไทย
ในวันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม 2560 บีโอไอจะร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (เจโทร) จัดงานสัมมนาเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ออกใหม่ล่าสุด และเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักลงทุนญี่ปุ่นที่เข้าร่วมงานประมาณ 300 ราย ได้สอบถามถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้วย
ทั้งนี้ บีโอไอจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ออกตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการลงทุนฉบับแก้ไข และพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ ดร. คณิศ แสงสุพรรณเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จะร่วมบรรยายเรื่องเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)
“ที่ผ่านมา นักลงทุนญี่ปุ่นถือเป็นนักลงทุนกลุ่มหลักที่เข้ามาลงทุนและขยายการลงทุนในไทยมากที่สุด เฉลี่ยประมาณร้อยละ 40 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด และอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นวัตกรรม และการวิจัยพัฒนา บีโอไอจึงมั่นใจว่า กฎหมายทั้งสองฉบับจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดและสร้างแรงจูงใจให้โครงการลงทุนใหม่ๆ จากญี่ปุ่น ตัดสินใจเข้ามาลงทุนหรือขยายการลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น”เลขาธิการบีโอไอกล่าว
นอกจากนั้น จะมีการบรรยายเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจอย่างมาก อาทิ กิจการการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center: ITC) กิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ)และกิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Support Office: TISO) และการบรรยาย เรื่อง วิธีปฏิบัติหลังได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยงานสัมมนาจะจัดขึ้นตั้งแต่เวลา 13.00 –17.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 1 โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท
ทั้งนี้ โครงการลงทุนจากญี่ปุ่นที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดจนถึงสิ้นปีปี 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 8,385 โครงการ รวมเป็นมูลค่าเงินลงทุนกว่า 3 ล้านล้านบาท ส่วนกิจการที่นักลงทุนญี่ปุ่นขอรับส่งเสริมมากที่สุด 3 อันดับต้นๆ ได้แก่กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน และกลุ่มเคมีภัณฑ์ พลาสติกและกระดาษ โดยในปี 2559 มีโครงการลงทุนจากญี่ปุ่นยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 264 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 57,466 ล้านบาท
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย