- Details
- Category: บีโอไอ
- Published: Monday, 30 January 2017 21:53
- Hits: 8392
ยอดขอลงทุนปี 59 เกินเป้าทั้งมูลค่าและกิจการเป้าหมาย ชู 6 ปัจจัยบวก โรดโชว์บริษัทเป้าหมาย ดูดการลงทุนอีก 6 แสนล้าน
บีโอไอ เผย ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2559 เกินเป้าหมาย ทั้งมูลค่าเงินลงทุน และกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมูลค่าเงินลงทุนสูงกว่า 580,000 ล้านบาท มีโครงการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจำนวนมาก มั่นใจปี 2560 จะมีโครงการลงทุนเข้ามามากขึ้น โดยมี 6 ปัจจัยบวกผลักดันการลงทุน เตรียมบุกโรดโชว์จีบบริษัทเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนเพิ่ม
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนในปี 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ว่า มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงกว่าเป้าหมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทยได้เป็นอย่างดี โดยมีการขอรับส่งเสริมจำนวน 1,546 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 584,350 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 550,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนเมื่อปี 2558 โดยจำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริมในปี 2559 สูงกว่าถึงร้อยละ 56 (ปี 2558 มีจำนวน 988โครงการ) ขณะที่มูลค่าเงินลงทุน ในปี 2559 สูงกว่าถึงร้อยละ 196 (ปี 2558 มีมูลค่า 197,740 ล้านบาท)
นายสุวิทย์ กล่าวต่อไปว่า แนวโน้มการลงทุนในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และได้กำหนดเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ไว้ที่มูลค่า 6 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการลงทุนของภาคเอกชน ได้แก่ 1.การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 2.โอกาสการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางในการส่งเสริมการลงทุน 3.การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง เช่น อากาศยานและชิ้นส่วน เครื่องมือแพทย์ และยา ซึ่งรวมถึงการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ไปยังกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทย ที่จะก้าวเข้ามารับช่วงการผลิต หรือร่วมทำธุรกิจด้วย 4.การลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสำคัญ คือ 5.โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) 6.เครื่องมือใหม่ตามร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน และร่าง พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่ง อีอีซีและ พ.ร.บ. ดังกล่าว จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนกลุ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านการวิจัยพัฒนา นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ไม่เคยมีการลงทุนในไทยมาก่อน ให้เข้ามาลงทุน
ด้านนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าวว่า การขอรับส่งเสริมการลงทุนในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 584,350 ล้านบาท นอกจากจะสะท้อนถึงความมั่นใจของนักลงทุนแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการเข้ามาลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมขั้นสูงที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะร้อยละ 51 เป็นการขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยกลุ่มที่มีมูลค่าขอรับส่งเสริมมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่าเงินลงทุน 88,511 ล้านบาท อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าเงินลงทุน 64,918 ล้านบาทอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ มูลค่าเงินลงทุน 46,986 ล้านบาท อุตสาหกรรมการเกษตร มูลค่าเงินลงทุน 45,892 ล้านบาท อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 21,398 ล้านบาท อุตสาหกรรมการแพทย์ 7,800 ล้านบาทอุตสาหกรรมดิจิทัล 5,173 ล้านบาท
ตัวอย่าง กิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กิจการผลิตระบบหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงอิเล็กทรอนิกส์ กิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น สารเคมีสำหรับใช้ทำปฏิกิริยาเพื่อพองถุงลมนิรภัย เข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย ชิ้นส่วนพวงมาลัย ชิ้นส่วนระบบเบรก ชิ้นส่วนช่วงล่างรถยนต์
กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ชนิดพิเศษ หรือเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ กิจการผลิตพลาสติกรีไซเคิล กิจการผลิตเชื้อเพลิงจากผลผลิตการเกษตร รวมทั้งเศษวัสดุหรือของเสีย กิจการคัดคุณภาพข้าว กิจการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์ กิจการการผลิตเมล็ดพันธุ์หรือการปรับปรุงพันธุ์พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ
กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ กิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้าอัจฉริยะ กิจการผลิตชิ้นส่วน Hard Disk Drive กิจการผลิตคอนแทคเลนส์ กิจการผลิตเลนส์แก้วตาเทียมกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากเลือด ชิ้นส่วนเครื่องอัลตราซาวด์และกิจการผลิตรากฟันเทียม
" ปีที่ผ่านมา บีโอไอได้พิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแก่โครงการต่างๆ รวมจำนวน 1,688 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 861,340 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมก่อนปี 2559 และโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมในปี 2559 และคาดว่า โครงการกลุ่มนี้จะสามารถลงทุนและเปิดดำเนินการได้ภายใน 1-2 ปีนับจากนี้ ซึ่งหากเปิดดำเนินการครบ จะก่อให้เกิดการสร้างงานคนไทยถึง 139,000 ตำแหน่ง เกิดการใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศไทย 697,000 ล้านบาทต่อปี และสร้างรายได้จากการส่งออกถึง 877,000 ล้านบาท " เลขาธิการบีโอไอกล่าว
รุกโรดโชว์ – ประเดิมด้วย Opportunity Thailand 2017
นางหิรัญญา กล่าวถึงแผนการชักจูงการลงทุนในปี 2560 ว่า ในปีนี้ การชักจูงการลงทุนจะเข้มข้นยิ่งกว่าทุกๆ ปี เพราะประเทศไทยกำลังจะก้าวไปสู่ "ประเทศไทย 4.0" ซึ่งจะมีสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ที่เอื้อต่อการลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 3 ฉบับ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับการลงทุนของภาคเอกชน บีโอไอจึงได้เตรียมแผนในการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ
โดยในช่วงต้นปี 2560 (มกราคม – มีนาคม) บีโอไอกำหนดแผนโรดโชว์ ทั้งคณะที่นำโดย รองนายกฯ หรือรัฐมนตรี และคณะที่นำโดยผู้บริหารบีโอไอ เช่น ที่ประเทศ ฮ่องกง สิงคโปร์ อินเดีย สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะไปชักชวนให้มาลงทุน ได้แก่ โทรคมนาคม ดาต้า เซ็นเตอร์ โลจิสติกส์ ชิ้นส่วนอากาศยาน ไบโอเทคโนโลยี ไอที ออโตเมชั่น เครื่องมือแพทย์ และเครื่องจักร ในช่วงกลางปี 2560 จะเดินทางไปชักจูงการลงทุนที่ประเทศ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย รัสเซีย สหรัฐอเมริกา เกาหลี อินเดีย และยุโรป โดยเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ อากาศยานและการบิน เครื่องมือแพทย์ ออโตเมชั่น หุ่นยนต์สำหรับงานอุตสาหกรรม ไอที รถยนต์พลังงานไฟฟ้า แบตเตอร์รี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซอฟต์แวร์
สำหรับ การจัดสัมมนาใหญ่แห่งปี งานสัมมนาและนิทรรศการ "โอกาสทางการลงทุนในประเทศไทย" (Opportunity Thailand 2017) ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ขณะนี้มีผู้ตอบรับเข้าร่วมงานครบแล้ว จำนวนกว่า 2,500 ราย กว่าครึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชนจากบริษัทชั้นนำของไทยและต่างประเทศที่อยู่ในไทย รวมทั้งคณะนักธุรกิจจากต่างประเทศด้วย
"บีโอไอ มั่นใจว่า นักธุรกิจที่เข้าร่วมงานสัมมนา Opportunity Thailand จะมองเห็นภาพอนาคตประเทศไทยและการขยายธุรกิจของเขาในประเทศไทยชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะจะได้รับทราบข้อมูลเชิงนโยบายจากนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็จะรับทราบถึงโอกาสใหม่ๆ จากภาคเอกชนไทยและต่างชาติที่ร่วมเสวนาบนเวที ตลอดจนรับทราบถึงโอกาสการลงทุนในกลุ่ม New S-Curve และโอกาสในการจับคู่ธุรกิจกับผู้ผลิตไทย" เลขาธิการบีโอไอกล่าว
บีโอไอคลอดกฎหมายใหม่ดึงลงทุนเพิ่ม
แนวหน้า : นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าประกาศในราชกิจจานุเบกษาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฉบับแก้ไข ฉบับที่ 4 ของบีโอไอ มีผล บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2560 เป็นต้นไป
เนื้อหาสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือใหม่ในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่ประเทศไทยต้องการ ประกอบด้วย 1.การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 13 ปี สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง การวิจัยและพัฒนา จากเดิมที่เคยได้รับการยกเว้นสูงสุดไม่เกิน 8 ปี 2.การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราไม่เกิน 50% ของอัตราปกติ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี สำหรับกิจการที่ควรได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้แทนการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
3.การให้สิทธิแก่ผู้ได้รับการส่งเสริมฯ ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้สามารถหักเงินที่ใช้ไปในการลงทุนในการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมจากกำไรสุทธิได้ (Investment Tax Allowance: ITA) เป็นเครื่องมือใหม่ที่บีโอไอไม่เคยใช้มาก่อน และ 4.การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่ผู้ได้รับการส่งเสริมฯ นำเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัย และพัฒนารวมถึงการทดสอบ ที่เกี่ยวข้อง
"พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้มีทั้งในส่วนของการปรับปรุงและเพิ่มเติมบางมาตรการที่จำเป็นเพื่อเป็นเครื่องมือใหม่ๆ ให้ทันกับสถานการณ์มากขึ้นเช่น การยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคล จากสูงสุด 8 ปี เป็น 13 ปีนั้น ก็เพื่อดึงการลงทุนใหม่ๆ แต่ไม่ใช่ว่าทุกกิจการใหม่ๆ จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด 13 ปี เพราะจะพิจารณาประเภทกิจการที่ควรได้รับ รวมถึงระยะเวลาที่ควรได้รับยกเว้นในกรอบ 13 ปี เพื่อให้เกิดการลงทุนที่มีคุณค่าต่อประเทศแท้จริง" นางหิรัญญา กล่าว
นอกจากนี้ ในปี 2560 บีโอไอยังจะมีกฎหมายที่อยู่ระหว่างการรอประกาศใช้อีก 1 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย คาดว่า จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้เร็วๆ นี้ซึ่งจะเป็น เครื่องมือที่สำคัญของการกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรม ที่เป็นเป้าหมายของประเทศได้อีกมาก