- Details
- Category: บีโอไอ
- Published: Sunday, 08 May 2016 20:00
- Hits: 10142
BOI ชี้ช่องบุกลงทุนอาเซียนระดมสมองแนะแนวทางเจาะตลาดรายประเทศ
แนวหน้า : นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 นี้ บีโอไอ จะจัดกิจกรรมสัมมนาเพื่อนำเสนอข้อมูลเชิงลึกในศักยภาพและโอกาสลงทุนใน 8 ประเทศอาเซียน ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ณ โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส โคราช จังหวัดนครราชสีมา โดยเน้นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยเฉพาะในจังหวัดนครราชสีมา ใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณาถึงโอกาสและช่องทางการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ
ทั้งนี้ กิจกรรมหลัก นอกจากจะเป็นการนำเสนอศักยภาพและโอกาสการลงทุน โดยจะครอบคลุมส่วนที่เกี่ยวข้องทุกด้านของการเข้าไปลงทุนทั้ง 8 ประเทศ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทันสมัย เช่น ศักยภาพของอุตสาหกรรมในแต่ละประเภท โอกาสและข้อจำกัด รวมทั้ง ขั้นตอน กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ภายในงาน ยังจะมีการเปิดเวทีให้คำปรึกษาและคำแนะนำ เกี่ยวกับการทำธุรกิจและการลงทุน การรับฟังบรรยายพิเศษจากบริษัทที่ปรึกษากฎหมายที่จะร่วมให้ความรู้ เช่น ข้อควรรู้เรื่องด้านภาษีการลงทุนในประเทศเมียนมา และลาว นอกจากนี้ยังจะจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์การลงทุนในต่างประเทศร่วมให้คำปรึกษาและคำแนะนำเกี่ยวกับการทำธุรกิจโดยตรงอีกด้วย
"กิจกรรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้การดำเนินการตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ ซึ่งจะให้ความรู้และข้อมูลช่องทางการลงทุนครอบคลุมประเทศอาเซียนครั้งสำคัญ และให้ข้อมูลเชิงลึกครบทุกด้านอย่างแท้จริง ทั้งนี้นอกเหนือจากการจัดสัมมนาในพื้นที่นครราชสีมาแล้ว บีโอไอยังกำหนดที่จะจัดให้มีรูปแบบให้ความรู้ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ รวมถึงการจัดฝึก อบรมผู้ประกอบการโดยตรงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี" นายโชคดีกล่าว
นายโชคดี กล่าวว่า ศักยภาพและโอกาส รวมถึงเงื่อนไขหรือข้อจำกัดในการเข้าไปลงทุนในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน จำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องทำความเข้าใจและศึกษาก่อนการเข้าไปลงทุน เช่น กัมพูชามีทิศทางการส่งเสริมการลงทุนที่เน้นอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เนื่องจากยังมีทรัพยากรทางธรรมชาติจำนวนมาก รวมไปถึง ค่าจ้างแรงงานที่ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น
ขณะที่ การลงทุนในสปป.ลาว ผู้ประกอบการ จะมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะในเรื่องค่าจ้างแรงงานที่ค่อนข้างต่ำ มีพื้นที่เพื่อใช้ในด้านกสิกรรมอยู่จำนวนมาก ด้านเมียนมา มีสัญญาณที่ดีจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และมีโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยในด้านอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น อุตสาหกรรมขนส่ง อุตสาหกรรมห้องเย็น อุตสาหกรรมบริการด้านการเงินและประกันภัย รวมทั้ง เมียนมา มีการร่างกฎหมายด้านการค้าและการลงทุนฉบับใหม่ และอยู่ระหว่างการรอผ่านสภา หรือบังคับใช้หลายฉบับ ซึ่งหากกฎหมายเหล่านี้ ผ่านสภาและมีผลบังคับใช้แล้ว จะส่งผลให้เกิดความเสรีในการลงทุนที่มากขึ้น
ส่วนการลงทุนในมาเลเซีย ที่มีความพร้อมเรื่องอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น ปิโตรเคมี การเกษตร จึงทำให้สะดวกในการใช้วัตถุดิบในประเทศเพื่อการผลิต ขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์ มีตลาดขนาดใหญ่ เนื่องจากมีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนอาหารแปรรูปยังถูกผลิตได้ไม่พอต่อความต้องการในประเทศอินโดนีเซีย รัฐบาลกำลังเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งในประเทศ ซึ่งจะทำให้ในระยะยาวเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน รวมถึงยังมีแรงงานที่มีทักษะระดับพอใช้ได้ เหมาะสมต่อการลงทุนในภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก
ด้านประเทศเวียดนาม มีท่าทีที่ชัดเจนในเรื่องการของการเปิดประเทศทั้งด้านการค้าการลงทุน และปัจจุบันยังเป็นประเทศสมาชิก TPP (ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการให้สัตยาบัน) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและกฎหมาย กฎระเบียบของประเทศให้ทันสมัย เป็นต้น