- Details
- Category: บีโอไอ
- Published: Sunday, 22 November 2015 20:17
- Hits: 4763
บีโอไอ ชี้แจงนโยบายคลัสเตอร์แก่นักลงทุนรายอุตสาหกรรม มั่นใจเกิดการลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูง ดึงนักวิจัยเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม
บีโอไอ เชิญนักลงทุนรายอุตสาหกรรมเข้ารับฟังการชี้แจงนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ เผยเอกชนหลายกลุ่มแสดงความสนใจและมีแผนจะขอรับส่งเสริมการลงทุนภายใต้นโยบายคลัสเตอร์ มั่นใจจะช่วยจูงใจให้เกิดการลงทุนในกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และกระตุ้นให้กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความซับซ้อนและมีจำนวนน้อยรายให้ลงทุนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาบุคลากร ล่าสุดบีโอไอออกประกาศประเภทกิจการกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ที่เปิดให้การส่งเสริมในพื้นที่ซูเปอร์คลัสเตอร์
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้ บีโอไอได้เชิญนักลงทุนจากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมเข้าร่วมรับฟังการชี้แจงนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งนักลงทุนจำนวนมากแสดงความสนใจและมีแผนจะยื่นขอรับส่งเสริมในหลายกลุ่มคลัสเตอร์ และในวันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2558 บีโอไอจะจัดงานสัมมนาใหญ่เรื่อง "อนาคตไทย ก้าวไกลด้วยคลัสเตอร์" ตั้งแต่เวลา 13.00 -17.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน
ทั้งนี้ นโยบายคลัสเตอร์มีเงื่อนไขสำคัญในการยื่นขอรับส่งเสริมก็คือ โครงการลงทุนที่ยื่นขอรับส่งเสริมจะต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยเพื่อจัดทำโครงการ Talent Mobility หรือการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรม บีโอไอจึงมั่นใจว่า โครงการที่ลงทุนตามนโยบายคลัสเตอร์จะสร้างความเข้มแข็งในภาคการผลิตและปูทางไปสู่การสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
หรือร่วมกับสถาบันการศึกษา สถาบันอาชีวะในพื้นที่ จัดทำโครงการ Work-integrated Learning ซึ่งเป็นโครงการพัฒนากำลังคนด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อผลิตกำลังคนระดับ ปวส. และระดับปริญญาตรีที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งนักศึกษาจะเข้ารับการพัฒนา ฝึกอบรมแบบบูรณาการในสถานประกอบการเพิ่มเติมจากการเรียนในสถานศึกษา เพื่อให้มีความพร้อมและสามารถทำงานได้
นอกจากนี้ นโยบายคลัสเตอร์ยังจะช่วยจูงใจให้เกิดการลงทุนในกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และกระตุ้นให้กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความซับซ้อนและมีจำนวนน้อยรายให้ลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน คลัสเตอร์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งล่าสุด บีโอไอได้ออกประกาศประเภทกิจการในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ที่เปิดให้การส่งเสริมในพื้นที่ซูเปอร์คลัสเตอร์เพิ่มเติม โดยมีกิจการ 15 ประเภทจากกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ที่ได้รับส่งเสริม ซึ่งล้วนแต่เป็นกิจการที่มีผู้ผลิตน้อยรายและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ กิจการผลิตชิ้นส่วนระบบส่งกำลัง หรือเกียร์ กิจการผลิตชิ้นส่วนระบบความปลอดภัย หรือ ชิ้นส่วนถุงลมนิรภัย และกิจการผลิตชิ้นส่วนระบบเครื่องยนต์ เช่น Turbocharger เป็นต้น
"สิ่งที่เราจะได้จากนโยบายคลัสเตอร์ มิใช่เพียงแค่โครงการลงทุนทั่วๆ ไป แต่เราจะได้โครงการที่เข้ามาลงทุนผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และเกิดการยกระดับและพัฒนาบุคลากรจากสถาบันการศึกษา เกิดการนำนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ไปร่วมทำการผลิต และเกิดความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาของไทย" เลขาธิการบีโอไอกล่าว
สำหรับ คลัสเตอร์เป้าหมาย 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย กลุ่ม Super Cluster ซึ่งเป็นคลัสเตอร์สำหรับกิจการที่ใช้ เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งประกอบไปด้วยคลัสเตอร์ 6 กลุ่ม คือ (1) คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน (2) คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม (3) คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (4) คลัสเตอร์ดิจิทัล (5) Food Innopolis (6) Medical Hub
สำหรับ คลัสเตอร์เป้าหมายอื่นๆ อีก 2 กลุ่ม ได้แก่ คลัสเตอร์เกษตรแปรรูป คลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ทั้งนี้ โครงการที่จะขอรับส่งเสริมภายใต้นโยบายคลัสเตอร์ จะต้องยื่นขอรับส่งเสริมภายในสิ้นปี 2559 และต้องเริ่มดำเนินการจริงทั้งการผลิตหรือการให้บริการภายในสิ้นปี 2560