WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รัฐชูยุทธศาสตร์บีไอโอใหม่ มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจยั่งยืน

                บ้านเมือง : สลักจิตร ผิวพรรณ์ รายงาน

    คงต้องจับตาสถานการณ์ปี 2558 รัฐบาลจะเดินหน้าการลงทุนภาคอุตสาหกรรม เพื่อสู้ศึกการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ล่าสุดนายกรัฐมนตรีชูยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่สอดรับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล

    ขณะที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน การอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ระบุมั่นใจไทยสามารถพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศที่มีธุรกิจที่ใช้ทักษะ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ พร้อมผลักดันประเทศเป็นศูนย์กลางการค้าและบริการในภูมิภาค ขณะที่คงต้องจับตาสถานการณ์ปี 2558

รัฐเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่อง "ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ : เพื่ออุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน" และยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี (พ.ศ.2558-2564) ว่า ปัจจุบันรัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยรวมอย่างเร่งด่วน รวมทั้งดำเนินการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เท่าเทียมกัน และยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ก็มีความคืบหน้าของการดำเนินงานในหลายด้าน และยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ในระยะ 7 ปี (พ.ศ.2558-2564)" ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้การดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลมีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในระยะยาว

   ทั้งนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ บีโอไอมีนโยบายและมาตรการที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี นโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ชายแดนภาคใต้ การส่งเสริมกิจการหรือบริการเพื่อรองรับการพัฒนา Digital Economy และการให้ส่งเสริมกิจการที่พัฒนาจากทรัพยากรในประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าเกษตร รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานจากวัสดุเหลือใช้และขยะ

ส่งเสริมการลงทุนแข่ง ตปท.

     โดยยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนมีความสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจการลงทุน ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขยายตัวเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันกับทั่วโลกได้มากขึ้น

     ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจให้มุ่งไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะ เทคโนโลยี นวัตกรรม และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งรวมถึงกิจการที่เกี่ยวข้องหรือรองรับกับเศรษฐกิจดิจิตอล

     นอกจากนี้ ประเทศไทยควรจะเพิ่มช่องทางและกิจกรรมทางการค้า ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และรัฐบาลพร้อมสนับสนุนและให้ความสำคัญในการดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarter : IHQ) บริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Centers : ITC) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและบริการในภูมิภาค

     ทั้งนี้ จะต้องมีมาตรการในการดึงดูดให้นักธุรกิจเข้ามาตั้งกิจการดังกล่าวในไทย โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงระบบราชการ กฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงการแก้ไขประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับกระทรวงการคลัง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในเดือนมกราคม 2558

ยุทธศาสตร์ใหม่ 4 ภาคทั่วประเทศ

     นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กล่าวว่า การส่งเสริมการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่จะยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ตามเขตที่ตั้ง เหลือเฉพาะพื้นที่ทีมีรายได้ต่อหัวต่ำใน 20 จังหวัดเท่านั้น ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มอีก 3 ปี จากสิทธิพื้นฐานตามประเภทอุตสาหกรรม

    สำหรับ ประเภทกิจการที่จะให้ส่งเสริมยังมีจำนวนใกล้เคียงกับประเภทกิจการที่ให้ส่งเสริมในปัจจุบัน ประมาณ 200 กว่าประเภทกิจการ แต่จะแบ่งออกเป็นกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้นิติบุคคล ประมาณ 180 กิจการ อีกประมาณ 50 กิจการจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านอากรนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี โดยมีการประกาศรายชื่อประเภทกิจการที่จะให้ส่งเสริมในเว็บไซต์บีโอไอแล้ว สำหรับการมีผลบังคับใช้สำหรับนโยบายใหม่นี้ จะเริ่มใช้สำหรับโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป

   ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม ถึงกุมภาพันธ์ 2558 บีโอไอจะเดินสายจัดสัมมนาทำความเข้าใจเรื่องยุทธศาสตร์ใหม่ 4 ภาค ทั่วประเทศ เพื่อให้นักลงทุนไทยและต่างประเทศในพื้นที่ได้รับทราบรายละเอียด ขณะเดียวกันก็จะมีการจัดกิจกรรมสัมมนาชี้แจงนักลงทุนต่างชาติในต่างประเทศด้วย

อุตฯ ลั่น ศก.ปีหน้าฟื้นตัว

    นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงแนวทางขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยปี 2558 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะผลักดันอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปให้มีการเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้นผ่านโครงการฟู้ดวัลเล่ย์ โดยดำเนินการทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ตามแหล่งมีวัตถุดิบที่เอื้ออำนวย ในการแปรรูป

     นอกจากนี้ ยังเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเป็นการเฉพาะ รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราในการผลิต เนื่องจากประเทศไทยเป็น ผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ติดอันดับโลก ซึ่งจีนสนใจจะเข้ามาลงทุน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) จะได้รับการช่วยเหลือจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมผ่านโครงการต่างๆ โดยจะนำวัตถุดิบผลิตต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น แร่ควอตซ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่องจากน้ำตาล ข้าว

   นายจักรมณฑ์ กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีหน้า เชื่อว่าจากการที่ปีนี้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมทั้งปีจะขยายตัวประมาณ 1% แต่ปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับประมาณ 3-4% ส่วนจีดีพีภาคอุตสาหกรรมเชื่อว่าจะขยายตัวเป็นบวกในอัตราที่สูงกว่าจีดีพีประเทศ

ลุ้นไทยรับอานิสงส์ ศก.โลก

   นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวถึงแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมปี 2558 ว่า จะปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่สหรัฐจะฟื้นตัวดีขึ้น ยกเว้นสหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจจะยังไม่ดี อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการลงทุนของประเทศไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนจากโครงการลงทุนภาครัฐที่น่าจะเดินหน้าไปได้ ซึ่งจะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจได้

    นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์น่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยประเมินว่าจะมียอดการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากปีนี้ที่ติดลบประมาณ 20% ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เพราะมูลค่าการผลิตมีผลต่อ จีดีพีของประเทศค่อนข้างมาก อุตสาหกรรมที่จะดีต่อเนื่อง คือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากที่ภาพรวมตลอดปีนี้ขยายตัวประมาณ 2% ปี2558 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 3-4% ส่วนอุตสาหกรรมเหล็กคาดว่าจะทรงตัวต่อเนื่องไปจะไม่ต่างจากปี 2557

     ขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเส้นใยติดลบ ปีหน้าจะขยายตัวเป็นบวก 3-4% อุตสาหกรรมอาหารปีนี้ประมาณบวก 3% ปีหน้าจะเพิ่มเป็นขยายตัวประมาณ 5% หากพิจารณาจากเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันลด อุตสาหกรรมอาหารน่าจะได้ผลดี ทำให้ส่งออกได้มากขึ้นและช่วยให้การผลิตอาหารดีขึ้นกว่าปีนี้ และคาดว่าภาพรวมจีดีพีอุตสาหกรรมจะบวกได้แน่

เครือข่ายความร่วมมือ SMEs กับญี่ปุ่นต่อ

   กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เสนอกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคตดีปี 58 ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ผู้ซื้อมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น พร้อมเดินหน้าสร้างความมั่นใจในการลงทุนกับประเทศญี่ปุ่น โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อสร้างความร่วมมือกับจังหวัดชั้นนำด้านอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง

    ซึ่งครั้งนี้เป็นการลงนามระหว่างนายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับ นายทาคาคาซึ อิชิอิ ผู้ว่าราชการจังหวัดโทยามา ประเทศญี่ปุ่น เป็นจังหวัดที่ 9 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการร่วมมือกันเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาของทั้ง 2 ประเทศ โดยมีบริษัทตัวแทนจากทั้ง 2 ประเทศร่วมลงนามในครั้งนี้ด้วย คือ บริษัท ซีดีไอพี จำกัด และบริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี จำกัด ของประเทศไทย ลงนามกับ บริษัท โคเคนโด จำกัด ของจังหวัดโทยามา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมกันทำการวิจัยและพัฒนาสูตรยาจากประเทศญี่ปุ่นด้วยเทคโนโลยีโนฮาว (Knowhow) ผ่าน 3 กรอบความร่วมมือ ได้แก่ 1.เสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ 2.ร่วมมือเพื่อการสนับสนุน SMEs ของทั้งสองประเทศในการขยายธุรกิจในระดับสากล และ 3.แลกเปลี่ยนข้อมูลและดำเนินกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น เช่น การจัดทำโครงการแลกเปลี่ยนด้านอุตสาหกรรม การส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเพื่อความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการประชุมทางธุรกิจ

   โดยคาดว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะส่งผลให้ผู้ประกอบการประเทศญี่ปุ่นจะขยายฐานการผลิตในประเทศไทย และเกิดการจ้างงานในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้ มีบริษัทในจังหวัดโทยามาเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทยแล้ว 58 บริษัท ในจำนวนนี้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 31 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นประเภทอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้มีโต๊ะญี่ปุ่น ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานด้านการลงทุนในการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ให้มีศักยภาพมากขึ้น

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!