WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

‘บิ๊กตู่’สั่งบีโอไอเพิ่มสิทธิพิเศษดึงต่างชาติ นักธุรกิจสหรัฐสนลงทุนไทย

    แนวหน้า : กลุ่มสภานักธุรกิจสหรัฐอาเซียนเข้าพบนายกฯสนใจลงทุนด้านพลังงานไอที และอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่นายกฯ ย้ำให้ BOI ปรับปรุงกรอบสนับสนุนการให้สิทธิพิเศษต่างชาติ เร่งเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนรองรับเออีซี'หม่อมอุ๋ย' มั่นใจจีดีพีปี’58 โต 5% ยืนยันยังไม่ออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2

    ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังกลุ่มสภานักธุรกิจสหรัฐอาเซียน (USABC) เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษา ความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อหารือเรื่องความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ระหว่างกัน ว่า นายกรัฐมนตรีชี้แจงถึงสถานการณ์ในประเทศ พร้อมยืนยัน ว่ากำลังดำเนินการตามโรดแมปรวมถึงปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับภูมิภาค การขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำ การบริหารจัดการน้ำ พลังงานสะอาด การขยายด้านการเงินและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการลดขั้นตอนการนำเข้าและส่งออก

    “นายกรัฐมนตรีเห็นว่าไทยต้องได้รับการสนับสนุนจากเอกชนในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัย รวมทั้งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยให้มีความเข้มแข็ง หากนักลงทุนใด ดำเนินการเรื่องนี้ได้จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ โดยได้สั่งให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ปรับปรุงกรอบการสนับสนุนและการให้สิทธิพิเศษกับต่างชาติ รวมถึงเร่งเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ในปี 2558 รวมทั้งกำชับกระทรวงการต่างประเทศดูแลเรื่องการออกวีซ่าให้นักธุรกิจให้สะดวกและคล่องตัวมากขึ้น”โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

    ร.อ.นพ.ยงยุทธ์ กล่าวว่า นักลงทุนของสหรัฐอเมริกาให้ความสนใจการลงทุนเรื่องพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน ไอที และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นอกจากนี้ยังให้ความสนใจกับเศรษฐกิจดิจิตอลอีโคโนมี และคาดหวังว่าจะได้มาร่วมงานกับไทยในอนาคต ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาด้านการค้า การลงทุน มีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2556 ที่ผ่านมาพบว่ามีมูลค่าการค้าระหว่างกัน ถึง 38,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนปี 2557 ถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีมูลค่าถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา The AEC+3 Summit 2014 ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่เติบโต ต่ำ 1.6-1.9% เป็นเพราะไม่มีเม็ดเงินอัดฉีดเข้าสู่ ระบบเศรษฐกิจ และภาครัฐลงทุนช้ามาก รวมถึงการส่งออกชะลอตัว แต่ถือว่าอยู่ในระดับที่ใช้ได้ ท่ามกลางภาวะที่ไทยเจอปัญหาทางการเมือง แต่ในปี 2558 เมื่อมีการเลือกตั้งตามกำหนดในปลายปี เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึง 4% และอาจเติบโตสูงถึง 5% เนื่องจากการลงทุนของภาครัฐจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้รวมทั้งแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่โดยเฉพาะด้านการคมนาคมขนส่งและการประมูลโครงการรถไฟรางคู่

    “ปีหน้าจีดีพีจะเติบโตได้ 4% แน่นอน แต่หากระบบรางคู่ ระบบไฟฟ้าในเมืองเดินหน้าได้เร็วนั้น จีดีพีจะพุ่งแตะที่ระดับ 5% แน่นอน”ม.ร.ว.ปรีดียาธร กล่าว

    ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 เพราะมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจที่ออกมาในรอบแรก เช่น การจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท จำนวน 3.4 ล้านครัวเรือน และการจัดสรรงบประมาณ 23,000 ล้านบาท ในการสร้างงาน สร้างโรงเรียนต่างๆ เม็ดเงินเหล่านี้จะลงสู่ระบบในเดือนธันวาคมนี้ และจะมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างชัดเจนในไตรมาส 1 ปี 2558 โดยจะขอติดตามผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกก่อน

   “รัฐบาลมั่นใจว่าในปลายปี 2558 จะมีการเลือกตั้งตามกำหนดระยะเวลาที่วางไว้โดยยังไม่เห็นว่าจะมีปัจจัยใดที่จะทำให้สะดุดหรือเป็นอุปสรรคโดยในขณะนี้การปฏิรูป ด้านต่างๆ และการเดินหน้ากฎหมาย เลือกตั้งกำลังดำเนินไป” ม.ร.ว. ปรีดิยาธร กล่าว

   ส่วนภาคการส่งออกในปีหน้าคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นและกลับมาเป็นบวกตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดีขึ้น ซึ่งการส่งออกจะเป็นตัวเสริมขณะที่ปัจจัยขับเคลื่อนหลักคือการลงทุนภาครัฐและการบริโภคในประเทศ

  ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่มีการใช้นโยบายประชานิยมโดยเฉพาะประชานิยมด้านพลังงานซึ่งขณะนี้กำลังเริ่มลดการอุดหนุนราคาพลังงานและปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เป็นไปตามกลไกตลาดและเป็นธรรมมากที่สุด ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงานประมาณ 1 ปี หลังจากที่มีการอุดหนุนราคาพลังงานตลอดรัฐบาล 3 ชุดที่ผ่านมา

  นายบัญฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัวให้ได้ 4% ซึ่งมองว่าเป็นเป้าหมายกลางๆ ไม่ถึงกับยากเกิน ไปแต่ก็ขึ้นอยู่กับการเบิกจ่ายงบประมาณด้วย

  ส่วนแนวทางการทำงานของรัฐบาลมองว่ามีความพยายามในการแก้ปัญหาต่างๆ เป็นอย่างดีโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่ก็ต้องควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อย่างการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเพราะไทยมีประชากรที่ทำการเกษตรเป็นจำนวนมาก เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!