สำนักงานสถิติแห่งชาติของสหรัฐฯ รายงานว่า สหรัฐฯมีเกษตรกรรายเล็กมากขึ้น และมีรูปแบบการเกษตรที่ชุมชนมาสนับสนุน (CSA : Community-supported agriculture หรือ community-shared agriculture) มากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคสนใจแหล่งที่มาของอาหารและเน้นถึงคุณภาพของอาหารมากขึ้น
แนวคิดของ CSA คือ การเกษตรที่เน้นการผลิตอาหารที่มีคุณภาพสูงสำหรับชุมชน ซึ่งมักเป็นการผลิตผักและผลไม้แบบอินทรีย์ โดยมีสมาชิกของชุมชนมาเป็นสมาชิกเพื่อลดความเสี่ยงในการผลิตและสนับสนุนด้านการตลาด
สาเหตุใน CSA ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องมาจากหลายสาเหตุ ได้แก่ เป็นการสนับสนุนการผลิตภายในชุมชน, ผลผลิตมีคุณภาพและสด, มีราคาย่อมเยาว์ เพราะไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง, ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นสินค้าอินทรีย์และลดการขนส่ง และการเปิดให้สมาชิกเยี่ยมชมฟาร์มได้ทุกสัปดาห์ ช่วยให้สมาชิกและลูกหลานของสมาชิกมีความเข้าใจการทำเกษตรมากขึ้น
ลักษณะของ CSA ได้แก่
- เน้นการผลิตในท้องถิ่น/ชุมชน
- แบ่งปันหรือขายผลผลิตให้แก่สมาชิก
- จัดส่งผลผลิตให้แก่สมาชิกเป็นรายสัปดาห์
ทั้งนี้ มีหลายประเทศที่มีระบบการเกษตรคล้ายคลึงกับระบบ CSA ของสหรัฐฯ เช่น AMAP ในฝรั่งเศส, Teikei ในญี่ปุ่น,Reciproco ในโปรตุเกส, Andelslandbruk ในนอร์เวย์, Solidarische Landwirtschaft ในเยอรมัน, และ ASC ในแคนาดา
โดย นายธงชัย บุณยโชติมา
|