สหรัฐฯกำลังประสบภาวะภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี โดยครอบคลุมถึง 22 รัฐ เช่น โคโลราโด, เท็กซัส, นิวเม็กซิโก, ไวโอมิง, มิสซูรี่, เนบาสก้า, เซ้าท์ดาโกต้า และอลาบามา มีผลให้ผลผลิตพืชหลักของสหรัฐฯลดลงอย่างมาก ได้แก่ ข้าวโพด , ถั่วเหลือง และข้าวฟ่าง รวมถึงทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก และส่งผลต่อเนื่องให้ราคาอาหารสัตว์ และเนื้อสัตว์ปรับเพิ่มขึ้น เช่น เนื้อหมู , เนื้อไก่และไข่ไก , เนื้อวัว และนม
ล่าสุด ดัชนีราคาอาหารและราคาธัญพืชของ FAO ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้ปรับเพิ่มขึ้นอีก 3 จุดจากเดือนสิงหาคมเป็น 216 และ 263 จุดตามลำดับ ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 7% แต่ยังต่ำกว่าระดับดัชนีที่เคยพุ่งสูงสุดในช่วงปี 2008 บางหน่วยงานจึงเรียกปรากฎการณ์ภาวะเงินเฟ้อจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ว่า Agflation
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 ทางการสหรัฐฯได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรแล้วหลายมาตรการ เช่น - การให้เงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ประสบภัยแล้งรวม 28 ล้านดอลล่าร์ - การออกเงินกู้ฉุกเฉินแก่เกษตรกร - การให้เงิน 5 ล้านดอลล่าร์เพื่อประเมินและทำแปลงเกษตรสาธิตเพื่อช่วยให้เกษตรกรปรับตัวต่อภัยแล้งได้ - การโยกงบไม่ผูกพัน 14 ล้านดอลล่าร์เป็นงบช่วยเหลือฉุกเฉิน - การปรับขั้นตอนและลดระยะเวลาการขอรับความช่วยเหลือ - การซื้อเนื้อสุกร เนื้อไก่ เนื้อแกะ และปลามูลค่ารวม 170 ล้านดอลล่าร์เข้า Food Banks และโปรแกรมช่วยเหลือด้านโภชนาการของรัฐ
ปรากฎการณ์ภัยแล้งยังมีผลให้รัฐสภามุ่งให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นพิเศษจนไม่ได้พิจารณาออกกฎหมาย Farm Bill ฉบับใหม่ (2012-2017) แทน Farm Bill ฉบับเดิม (2008-2012) ซึ่งได้หมดอายุลงไปในเดือนกันยายนที่ผ่านมาแล้ว และคาดว่ารัฐสภาจะออก Farm Bill ฉบับใหม่หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปลายปีนี้
|