WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

นีลเส็นเผย ผู้บริโภคทั่วโลกเต็มใจซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม

         นิวยอร์ก--(บิสิเนส ไวร์)--17 มิ.ย. 2557

    ผลวิเคราะห์ด้านการค้าปลีกจากทั่วโลกเผ ยอดขายของแบรนด์ต่างๆเพิ่มสูงขึ้น หากมีการระบุถึงความยั่งยืนบนบรรจุภัณฑ์ หรือแบรนด์นั้นๆทำตลาดเชิงรุกเกี่ยวกับการดำเนินการที่แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม

   ผลการสำรวจครั้งล่าสุดโดยนีลเส็น (Nielsen) เผยให้เห็นว่า 55% ของผู้บริโภคออนไลน์ใน 60 ประเทศทั่วโลกเต็มใจที่จะจ่ายมากกว่าเดิมให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทที่ให้ความสำคัญต่อผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมสูงที่สุดนั้น อยู่ที่เอเชียแปซิฟิค (64%), ละตินอเมริกา (63%) และตะวันออกกลาง/แอฟริกา 63% สำหรับตัวเลขของอเมริกาเหนือและยุโรปอยู่ที่ 42% และ 40% ตามลำดับ

   “ผู้บริโภคทั่วโลกต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป้าหมายทางสังคมของแบรนด์นั้นถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าเอมี เฟนตัน ผู้บริหารระดับโลก แผนกการพัฒนาและความยั่งยืนสาธารณะของนีลเส็นเปิดเผยว่า พฤติกรรมแบบนี้มีมากขึ้นและเปิดทางให้เกิดผลพวงที่มีนัยสำคัญให้กับสังคมของเรา นอกเหนือไปจากการเพิ่มการบอกต่อเรื่องแบรนด์

   สำหรับ การสำรวจทั่วโลกเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) นั้น นีลเส็นได้ทำการสำรวจผู้บริโภค 30,000 คน ใน 60 ประเทศ* เพื่อศึกษาว่า: ผู้บริโภคให้ความสนใจแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมากน้อยเพียงใดเมื่อต้องตัดสินใจเลือกซื้อ ผู้บริโภคกลุ่มใดที่สนับสนุนการดำเนินการเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือความรับผิดชอบต่อสังคมมากที่สุด และประเด็น/สาเหตุใดในทางสังคมที่ทำให้ใส่ใจที่สุด

   ผู้ตอบสำรวจเกินครึ่งทั่วโลก (52%) ระบุว่า ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ตนเองได้ซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการอย่างน้อย 1 อย่าง จากบริษัทที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยผู้ตอบสำรวจในละตินอเมริกา (65%), เอเชียแปซิฟิค (59%) และ ตะวันออกกลาง/แอฟริกา (59%) อยู่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ขณะที่ 4 จาก 10 ผู้ตอบสำรวจในอเมริกาเหนือและยุโรประบุว่า ตนเองซื้อผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา

   ความพยายามในการเสริมสร้างความยั่งยืน และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมสามารถกระตุ้นกำไรจากผลประกอบการได้

   การค้นหาผู้บริโภคจากทั่วโลกที่บอกว่า ตนเองใส่ใจสิ่งแวดล้อม หรือยากจนค่นแค้นนั้นเป็นเรื่องค่อนข้างง่าย แต่ความใส่ใจเกี่ยวกับประเด็นเหล่านั้นจะแปรเปลี่ยนเป็นการกระทำได้หรือไม่ เมื่อถึงคราวที่พวกเขาต้องตัดสินใจซื้อ?

   ผู้ตอบแบบสำรวจของนีลเส็นราว 52% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกระบุว่า การตัดสินใจซื้อของตนเองขึ้นอยู่กับการบรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่ง โดยพวกเขาจะตรวจสอบฉลากสินค้าเป็นอันดับแรกก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้า เพื่อให้มั่นใจว่า แบรนด์นั้นๆมุ่งมั่นที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม การตัดสินใจซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้รับอิทธิพลจากบรรจุภัณฑ์มากที่สุด ซึ่งสามารถแบ่งตามภูมิภาคได้ดังนี้ ในเอเชียแปซิฟิก (63%) ละตินอเมริกา (62%) ตะวันออกกลาง/แอฟริกา (62%) ยุโรป (36%) และสุดท้ายคือ อเมริกาเหนือ (32%)

   นอกจากนี้ นีลเส็นได้ทบทวนข้อมูลยอดค้าปลีกของกลุ่มสินค้าประเภทที่บริโภคได้ และบริโภคไม่ได้ จำนวน 20 แบรนด์ใน 9 ประเทศ เพื่อตรวจสอบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าตรงกับความคิดเห็นในแบบสำรวจหรือไม่ แบรนด์เหล่านี้ประกอบด้วยแบรนด์ที่อ้างอิงถึงการสร้างความยั่งยืนบนบรรจุภัณฑ์ หรือประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังในรูปแบบกลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆ ผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ในเดือนมีนาคม 2557 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ที่ระบุถึงการสร้างความยั่งยืนบนบรรจุภัณฑ์มียอดขายเฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้น 2% และผลิตภัณฑ์ที่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมสร้างเสริมความยั่งยืนผ่านทางโครงการด้านการตลาดมียอดขายต่อปีเพิ่มขึ้น 5% ส่วนแบรนด์อีก 14 รายการที่ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องการสร้างความยั่งยืนทั้งบนบรรจุภัณฑ์ และการจัดกิจกรรมทางการตลาดนั้นมียอดขายเพิ่มขึ้นเพียง 1%

  กลุ่มกระแสหลักที่คำนึงถึงความยั่งยืน

   เพื่อเป็นการแบ่งกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมไม่มากนักออกจากกลุ่มผู้บริโภคที่มีความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมสูง ทางสถาบัน Natural Marketing Institute (NMI) ซึ่งมีส่วนร่วมในโครงการธุรกิจเชิงกลยุทธ์ของนีลเส็น จึงได้จัดทำการวิจัยแบบออนไลน์ใน 9 ประเทศ เพื่อทำความเข้าใจถึงวิถีที่เปลี่ยนไปในเรื่องทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกที่มีต่อความยั่งยืน โดยบรรดาผู้บริโภคถูกแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มด้วยกัน เพื่อจำแนกว่าปัจจัยใดที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคเหล่านี้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อความยั่งยืน

    ผลการสำรวจค้นพบว่า สองในสามของกลุ่มประชากรกระแสหลักที่คำนึงถึงความยั่งยืน (คิดเป็นสัดส่วนสามในห้ากลุ่มหลัก) มีพฤติกรรมเลือกผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่ยั่งยืน มากกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วๆไป ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากที่สุดตามกำลังซื้อ และมีพฤติกรรมเลือกซื้อที่เปลี่ยนไป เพื่อลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังมีแนวโน้มสูงที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องจากบริษัทผู้ผลิต หากผู้บริโภคทราบว่า บริษัทนั้นๆใส่ใจในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและสังคม

   ประชากรกลุ่ม Millennial (อายุ 21-34) มีการตอบสนองต่อความยั่งยืนมากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ โดยในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกจากการสำรวจของนีลเส็น ที่มีการตอบสนองต่อความยั่งยืน ครึ่งหนึ่งเป็นประชากรกลุ่ม Millennial ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 51% ของผู้ที่ประสงค์จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนเรื่องความยั่งยืน และคิดเป็น 51% ของกลุ่มที่ตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ของสินค้าซึ่งมีการติดฉลากระบุถึงความยั่งยืน

   เมื่อแยกเป็นรายภูมิภาคแล้ว พบว่า มีช่องว่างระหว่างกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามวัยรุ่นและผู้สูงวัยมากทีเดียว ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และตะวันออกกลาง/แอฟริกา โดยในภูมิภาคที่กำลังพัฒนาในวงกว้างนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่ม Millennial ที่คำนึงถึงความยั่งยืนนั้น ให้การยอมรับการกระทำที่นำไปสู่ความยั่งยืนมากกว่ากลุ่ม Generation X (อายุ 35-49) ถึง 3 เท่าโดยเฉลี่ย และมากกว่ากลุ่ม Baby Boomer (วัย 50-64) มากกว่าถึง 12 เท่าโดยเฉลี่ย

    เฟนตัน กล่าวว่า คงไม่ต้องสอบถามกันแล้วว่า เหล่าผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อผลกระทบทางสังคมหรือไม่ ผู้บริโภคมีความใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง และพร้อมที่จะแสดงให้เห็นผ่านการกระทำ ปัจจุบันนี้ จุดสนใจหลักจะอยู่ที่แนวทางในการสร้างคุณค่าร่วมกันกับแบรนด์อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการผนวกรวมอุดมการณ์ทางสังคม เข้ากับกลุ่มลูกค้าอย่างเหมาะสม

    *หมายเหตุ : ผลสำรวจจากการวิจัยนี้ อ้างอิงจากผู้ตอบแบบสอบถามที่เข้าถึงแบบออนไลน์ใน 60 ประเทศ แม้ว่าวิธีการสำรวจแบบออนไลน์ได้ให้ภาพขนาดใหญ่และเข้าถึงผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลก แต่ก็นำเสนอเพียงมุมมองพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีอยู่เดิม ไม่ใช่ประชากรทั้งหมด ในขณะที่ตลาดกำลังพัฒนาซึ่งการเข้าถึงแบบออนไลน์ยังคงขยายตัว กลุ่มผู้ใช้อาจมีอายุน้อยกว่า และมีฐานะดีกว่าประชากรทั่วไปในประเทศ นอกจากนี้ การตอบแบบสำรวจยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของพฤติกรรมที่น่าจะเป็นไปตามจริง มากกว่าข้อมูลมาตรวัดที่แท้จริง

   เกี่ยวกับ Nielsen Global Survey

    การสำรวจ Nielsen Global Survey เกี่ยวกับความรับผิดชอบทางสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility) จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ - 7 มีนาคม 2557 โดยสำรวจผู้บริโภคมากกว่า 30,000 คน ใน 60 ประเทศ ทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก, ยุโรป, ละติน อเมริกา, ตะวันออกกลาง, แอฟริกา และอเมริกาเหนือ กลุ่มตัวอย่างที่กำหนดไว้ ซึ่งอิงกับอายุและเพศสำหรับแต่ละประเทศนั้น ยึดที่กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นหลัก และมีค่าในการเป็นตัวแทนผู้บริโภคทางอินเทอร์เน็ต โดยมีเปอร์เซ็นต์ความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ ±0.6% การสำรวจของนีลเส็นอ้างอิงเพียงแค่พฤติกรรมของผู้ตอบแบบสำรวจที่เข้าถึงแบบออนไลน์เท่านั้น ในขณะที่อัตราการใช้อินเทอร์เน็ตมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ นีลเส็นใช้มาตรฐานการรายงานขั้นต่ำที่สุดของอัตราการใช้อินเทอร์เน็ต 60% หรือประชากรออนไลน์ 10 ล้านคนเพื่อรวบรวมผลสำรวจ ทั้งนี้ Nielsen Global Survey ซึ่งรวมถึง Global Consumer Confidence Index จัดทำขึ้นในปี 2548

   เกี่ยวกับ Nielsen’s Retail Measurement Analysis

   ผลการสำรวจจากข้อมูลยอดค้าปลีก ซึ่งได้มีการระบุไว้ในรายงานด้วยนั้น รวบรวมจากร้านค้าต่างๆ ด้วยการใช้เทคโนโลยีระบบ ณ จุดขาย (point-of-sale) และ/หรือ ทีมผู้ตรวจสอบบัญชีในพื้นที่ ซึ่งแสดงข้อมูลภาคตัดขวาง (Cross-sectional Data) ทั้งจากสินค้าประเภทอุปโภคบริโภค และสินค้าที่ไม่ใช่กลุ่มอุปโภคบริโภค จำนวน 34 แบรนด์ ใน 9 ประเทศ สำหรับปีที่สิ้นสุด ณ เดือนมีนาคม 2557 ประเทศทั้ง 9 ประเทศดังกล่าว ประกอบด้วย แคนาดา, ฝรั่งเศส, ฮังการี, เนเธอร์แลนด์, ปากีสถาน, รัสเซีย, แอฟริกาใต้, ไทย และสหราชอาณาจักร ส่วนร้านค้าภายในเครือข่ายการค้าปลีกทั่วโลกของนีลเส็น ได้แก่ ร้านขายของชำ ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลีกแบบลดราคา ซึ่งมีโครงการความร่วมมือที่หลากหลาย และแบ่งปันข้อมูลยอดขายให้กับนีลเส็น

   เกี่ยวกับ งานวิจัยของสถาบัน Natural Marketing Institute Sudy

   ผลการศึกษาจากการวิจัยของสถาบันแนเชอรัล มาร์เก็ตติง อินสทิทิวท์ (Natural Marketing Institute หรือ NMI) ซึ่งได้มีการระบุอยู่ในรายงานข้างต้น ถือเป็นผลการศึกษาที่อ้างอิงจากการสำรวจแบบออนไลน์เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 โดยดำเนินการสำรวจใน 9 ประเทศ ได้แก่ บราซิล จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ เยอรมนี ญี่ปุ่น รัสเซีย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวเก็บรวบรวมมาจากผู้ตอบแบบสำรวจประมาณ 1,000 คนในแต่ละประเทศ ยกเว้นอินเดีย และแอฟริกาใต้ ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 1,500 คน ข้อมูลดังกล่าวมีการแสดงอายุ และเพศในแต่ละประเทศ

   เกี่ยวกับ นีลเส็น

   นีลเส็น เอ็น.วี. (Nielsen N.V.) (NYSE:NLSN) เป็นบริษัทผู้ให้บริการประเมินผล และข้อมูลข่าวสารระดับโลก ในฐานะผู้นำตลาดด้านข้อมูลการตลาด และผู้บริโภค, การประเมินด้านสื่อโทรทัศน์ และสื่ออื่นๆ รวมถึงการประเมินแบบอัจฉริยะออนไลน์ และบนโทรศัพท์มือถือ นีลเส็นมีสาขาในต่างประเทศประมาณ 100 ประเทศ โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และเมืองดีเมน เนเธอร์แลนด์ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nielsen.com

   เกี่ยวกับ NMI

   สถาบันแนเชอรัล มาร์เก็ตติง อินสทิทิวท์ (Natural Marketing Institute หรือ NMI) เป็นบริษัทวิจัยตลาด และให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์ทั่วโลก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงตามวัยอย่างมีสุขภาพที่ดี ในฐานะที่เป็นบริษัทวิจัยตลาด และที่ปรึกษาทางธุรกิจชั้นนำ NMI ได้เป็นผู้ช่วยบริษัทเกิดใหม่ และบริษัทที่มีรายชื่ออยู่ใน Fortune 500 ในอุตสาหกรรมต่างๆมากมาย NMI ให้บริการลูกค้าด้วยการวางแผนเชิงกลยุทธ์ และบทวิเคราะห์การตลาดเชิงลึก โดยใช้ประโยชน์จากการผสมผสานวิทยาการที่หลากหลาย และข้อมูลองค์กรที่กว้างขวาง สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.NMIsolutions.com

    รับชมภาพและสื่อมัลติมีเดียได้ที่: http://www.businesswire.com/multimedia/home/20140616006605/en/

         ติดต่อ:

         สำหรับสื่อมวลชน:

         นีลเส็น

         แอนน์-เทย์เลอร์ อดัมส์

         โทร. 646-654-5759

         อีเมล: [email protected]

หมายเหตุ:

       ไทย บิสิเนส นิวส์ คือผู้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ซึ่งส่งจากบริษัทและองค์กรหลายพันแห่งทั่วโลกไปยัง สื่อมวลชน ตลาดการเงิน นักลงทุน เว็บไซต์สำหรับให้บริการข้อมูล ฐานข้อมูล ฯลฯ

       ไทย บิสิเนส นิวส์ เป็นธุรกิจในเครือบริษัท สตูดิโอ มาเจนตา ลิมิเต็ด (Studio Magenta Limited) จัดตั้ง ขึ้นในปีพ.ศ. 2547 เพื่อแปลและเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ โดยท่านสามารถนำข่าวประชาสัมพันธ์ดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อในบริการและสื่อของท่านได้

      หากท่านสนใจลงทะเบียนรับข่าวของไทย บิสิเนส ไวร์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หรือต้องการดูข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด กรุณาเยี่ยมชมที่เว็บไซต์ http://www.thaibusinessnews.com/

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!