WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2558 เวลา 01:14 น. ข่าวสดออนไลน์

 

สงบศึก16 ชาติพันธุ์ วาระการเมืองใหม่ของพม่า

ข่าวสดอาเซียน

พัฒนาการและทิศทางการเมืองของไทยกับพม่าดูเหมือนจะเดินสวนทางกันในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่ไทยถูกทักท้วงและสร้างปมวิตกกังวลให้รัฐบาลสหรัฐ อเมริกาและหน่วยงานระดับโลกอย่างสหประชาชาติในเรื่องการใช้มาตรา 44 รัฐบาลพม่ากลับได้รับคำชื่นชมกับการเดินหน้าสู่เส้นทางสงบศึกกับชนกลุ่มน้อย 16 กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศ
สองฝ่ายลงนามเห็นชอบหลักการของร่างข้อตกลงสัญญาหยุดยิง ปูทางสู่กระบวนการสันติภาพถาวรเบื้องหน้า

ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความเห็นว่า การเจรจาหยุดยิงล่าสุดของพม่า ถือเป็นความก้าวหน้าในการสร้างสันติภาพ เพื่อเปิดทางไปสู่การเมืองว่าด้วยเรื่องการกระจายอำนาจ และการเมืองสหพันธรัฐนิยม ซึ่งรัฐพม่าไม่เคยมีประเพณีปฏิบัติ อย่างเต็มที่มาก่อน

ข้อตกลงปางโหลงและร่างรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.2490 ซึ่งวางหลักให้พม่าเป็นรัฐรวมที่ประกอบด้วยรัฐบาลสองระดับ คือ รัฐบาลกลางแห่งสหภาพ กับรัฐบาลมลรัฐระดับภูมิภาค ใต้หลักการกระจาย อำนาจและการแบ่งสรรทรัพยากรที่เที่ยงธรรมระหว่างศูนย์กลาง กับชายขอบ กระนั้น หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ หลักสหพันธ์ และหลักกระจายอำนาจ ไม่ถูกนำมาปฏิบัติกันอย่างจริงจัง

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ความพยายามแยกตัวออกจากสหภาพพม่าได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ โดยมีทั้งการตั้งกลุ่มการเมืองเรียกร้องอำนาจปกครองท้องถิ่น และการจับอาวุธจัดตั้งกองกำลัง

การเจรจาหยุดยิงทั่วประเทศครั้งนี้ จึงมีนัยสำคัญต่อการนำพม่า เข้าสู่ยุคสหพันธรัฐนิยม ซึ่งจะทำให้อนาคตพม่ามีการก่อรูป ของรัฐบาลและรัฐสภาสองระดับอย่างชัดเจนขึ้น คือ ระดับกลางที่ กรุงเนปิดอว์กับระดับภูมิภาคใน 14 หน่วยปกครองซึ่งแบ่งแยกย่อยเป็น 7 รัฐชาติพันธุ์หลัก และ 7 เขตพม่าแท้

ความสงบจากจากหยุดยิงจะทำให้พม่าสามารถระดมทรัพยากรท้องถิ่นตามดินแดนต่างๆ เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น รวมถึงธำรงอัตลักษณ์ความหลากหลายทางภาษาวัฒนธรรมตามดินแดนต่างๆ ได้กว้างไกลขึ้น

อุปสรรคสำคัญที่กัดกร่อนกระบวนการสันติภาพ คือ สภาวะสงครามกลางเมืองที่ยาวนานจนทำให้ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูที่ถาวร บนเวทีการเมืองชาติพันธุ์พม่า จริงๆ แล้ว การเจรจาหยุดยิงเคยทำมาตั้งแต่ยุครัฐบาลทหารของ พลโทขิ่น ยุ้นต์ หากแต่ในทางปฏิบัติ การปะทะทางทหารอาจปะทุได้ทุกเมื่อ และความสัมพันธ์แบบเป็นมิตรหรือศัตรูอาจผกผันได้ตามการแปรเปลี่ยนของอำนาจ ซึ่งสภาวะเช่นนี้ ยังอาจดำรงอยู่ในโครงสร้างการเมืองพม่าปัจจุบัน เช่น การหวนกลับมาของกลุ่มโกก้างที่ฟื้นฟูพละกำลังขึ้นมาใหม่ ก็อาจกลายเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสันติภาพ

ผลกระทบจากการเจรจาหยุดยิงในมิติระหว่างประเทศ อาจมีรัฐในอาเซียนและรัฐมหาอำนาจทางการเมืองโลกที่ได้รับแรงกระทบหรือต้องปรับยุทธศาสตร์กับพม่า

ส่วนของไทย การหยุดยิงกับกลุ่ม ติดอาวุธตามชายแดนภาคเหนือและภาคตะวันตกของไทย จะทำให้ไทยสงบ ไม่ถูกตั้งข้อสงสัยจากพม่าว่าให้ที่พักพิง ชนกลุ่มน้อยภายใต้นโยบายรัฐกันชน (Buffer State) เหมือนในอดีต

แต่กองกำลังที่เคยต่อต้านรัฐบาลพม่า เช่น กะเหรี่ยง มอญ ซึ่งค่อยๆ โน้มความสัมพันธ์เข้าหาทางการพม่ามากขึ้น อาจทำให้พม่ามีความได้เปรียบในการเพิ่มกองทหารป้องกันชายแดนและอาจใช้ในการสู้รบหากเกิด ข้อพิพาทกับไทย โดยเฉพาะเรื่องพรมแดน ทางบกกว่า 2400 กิโลเมตร เช่น ดอยลาง ด่านพระเจดีย์สามองค์ และแนวแม่น้ำเมย

ส่วนรัฐเพื่อนบ้านของพม่าอื่นๆ ก็อาจได้รับผลกระทบจากจุดเปลี่ยนนี้เช่นกัน เช่น ทางด้านจีน ปัญหากองกำลังว้า กะฉิ่น และโกก้าง ซึ่งเคยอยู่ใต้ร่มพรรคคอมมิวนิสต์พม่ามาก่อน ยังคงเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์จีน-พม่า เนื่องจากทางการพม่ายังคงระแวงจีนว่าอาจให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏดังกล่าว

แต่ด้วยกิจกรรมลงทุนจำนวนมากของจีนในพม่า รวมถึงแนวท่อก๊าซจีนที่พาดผ่านพื้นที่กบฏ อาจทำให้ระบบการทูตพลังงานของจีนมีความมั่นคงขึ้น เพราะสัญญาณหยุดยิงย่อมมีผลให้การขนส่งพลังงานและสินค้าจากพม่าเข้ายูนนานมีเสถียรภาพมากขึ้น

ฟากอาเซียน การเปลี่ยนแปลงของพม่า ทำให้กระบวนการสันติภาพในภูมิภาคพัฒนาขึ้น พม่าอาจเหมือนฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่มีการพัฒนาเขตปกครองพิเศษและการปฏิรูปการกระจายอำนาจที่น่าประทับใจ

อย่างไรก็ตาม การบูรณการอาเซียน อาจทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า หาความร่วมมือจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น มินดาเนา อาเจะห์ ซึ่งจะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มีอำนาจต่อรองทางการเมืองที่อาจขยายสู่เวทีระดับภูมิภาคได้

สำหรับสหรัฐอเมริกา น่าเชื่อว่าการปฏิรูปการเมืองและการเจรจาหยุดยิง จะทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยในพม่าเดินหน้าต่อไป พร้อมทำให้สหรัฐเข้ามามีบทบาทในการเมืองพม่า เช่น การเผยแพร่แนวคิดสหพันธรัฐนิยม

นอกจากนั้น บทบาทสหรัฐที่ค่อยๆ เข้าไปในวงเจรจาสันติภาพ พัฒนายุทธศาสตร์เข้าแข่งขันอำนาจกับจีนในสนามพม่าได้มากขึ้น ถือเป็นแนวโน้มการเมืองโลกที่น่าจับตามอง

ท้ายที่สุดน่าเชื่อว่าพม่าในวันนี้กำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นรัฐประชาธิปไตยอำนาจนิยมแบบกึ่งสหพันธ์ (Authoritarian Democratic State under Quasi Federalism) ซึ่งนับเป็นยุคใหม่แห่งการปฏิรูปการเมืองการปกครองพม่า โดยเฉพาะการกระจายอำนาจและสหพันธรัฐนิยม ซึ่งจะเป็นวาระการเมืองใหม่ของรัฐพม่า

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!