- Details
- Category: CLMV
- Published: Wednesday, 19 November 2014 22:25
- Hits: 5536
TMB Analytics มองตลาดค้าปลีกเวียดนามเติบโตต่อเนื่อง
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB หรือ TMB Analytics มองตลาดค้าปลีกเวียดนามที่เติบโตต่อเนื่อง สร้างโอกาสขยายตลาดให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไทย
ตลาดค้าปลีกค้าส่งในเวียดนามอาจมีมูลค่าถึง 2.34 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีนี้ และด้วยอัตราการขยายตัวขนาดเลขสองหลักทุกปีในแปดปีที่ผ่านมา ทำให้คาดว่าเมื่อถึงปี 2563 อาจมีมูลค่าสูงถึง 4.13 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการขยายตัวระยะยาวของตลาดค้าปลีกเวียดนามได้รับแรงสนับสนุนจากจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 90 ล้านคนและรายได้ต่อหัวที่สูงกว่าประเทศอื่นใน CLMV นอกจากนั้น ประชากรกว่า 70% อยู่ในช่วงวัยแรงงาน (อายุ 15-64ปี) ทำให้มีรายได้และกำลังซื้อที่ยังขยายตัวได้อยู่ และมีสัดส่วนของประชากรที่อยู่ในเขตเมืองสูงขึ้น จาก 33% ในปีนี้ เพิ่มเป็น 38% ในปี 2563 ซึ่งช่วยกระตุ้นให้ตลาดค้าปลีกเวียดนามยังคงสามารถเติบโตต่อไปได้ในอนาคต
จากกิจกรรมการค้าปลีกที่ยังคงขยายตัวทุกปี ปัจจุบันจึงมีบริษัทต่างชาติหลายรายสนใจเข้ามาลงทุนร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง อาทิ สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ขณะที่กลุ่มทุนเอเชียเอง ก็มีทั้งนักลงทุนจาก เกาหลี มาเลเซีย สิงคโปร์ และกลุ่มทุนไทย และบริษัทใหญ่ๆของไทย เช่น บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) และเซ็นทรัลพัฒนา ได้เข้าไปบุกเบิกตลาดและขยายสาขาเพิ่มมากขึ้น โดย BJC ใช้กลยุทธ์เข้าซื้อกิจการท้องถิ่นจากผู้ประกอบการรายเดิม เพื่อใช้เป็นศูนย์กระจายสินค้าในเวียดนามเหนือและเวียดนามกลาง อีกทั้งยังร่วมมือกับตัวแทนกระจายสินค้าให้กับร้านโชห่วยอีกด้วย ขณะที่กลุ่มทุนเวียดนามเดิมในตลาดก็ยังคงมีความแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็น Co-op Mart, Maxi Mart, Hanoi Supermarket และ Vina Conex ทำให้ตลาดค้าปลีกเวียดนามนั้น ถือว่าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันในระดับสูง สอดคล้องไปกับตลาดค้าปลีกเวียดนามยังคงขยายตัว และกลายเป็นการเปิดช่องทางให้สินค้าใหม่ๆเข้าไปแข่งขันมากขึ้นผ่านช่องทางของผู้เล่นค้าปลีกเหล่านี้
ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกสินค้าไทยในการขยายช่องทางการจำหน่ายเพื่อเข้าสู่ตลาดเวียดนามมากขึ้น ทั้งการกระจายสินค้าผ่านตัวแทนของไทยและตัวแทนท้องถิ่น ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสินค้าอุปโภคบริโภคส่งออกจากไทยไปเวียดนามในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2557 พบว่ามีมูลค่าส่งออกรวมถึง 4.4 หมื่นล้านบาท และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 4.2% โดยสามารถแบ่งสินค้าส่งออกในกลุ่มนี้เป็น 4 หมวดใหญ่ๆด้วยกัน ได้แก่ หมวดอาหารสด มีมูลค่าส่งออก 1.1 หมื่นล้านบาท และขยายตัวได้ถึง 38.1% หมวดเครื่องดื่ม อาหารแปรรูปและอาหารกระป๋อง มีมูลค่าส่งออกรวมราว 1 หมื่นล้านบาท และขยายตัวที่ 18.3% หมวดสินค้ายาเวชภัณฑ์ และเครื่องสำอางค์ มียอดส่งออก 4,654 ล้านบาท หดตัว 54.6% และสินค้าเพื่อการบริโภคทั่วไป ที่ยอดส่งออกมีมูลค่า 18,195 ล้านบาท ขยายตัวถึง 17.9%
นอกจากการขยายตัวได้ในระดับที่ค่อนข้างดี สินค้าไทยมีส่วนแบ่งในการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคไทยของตลาดเวียดนามค่อนข้างสูงเช่นกัน โดย ในหมวดอาหารสด สินค้าไทยมีส่วนแบ่งในตลาดนำเข้าเวียดนามร้อยละ 26 โดยข้อมูลจากกระทรวงการค้าเวียดนามแสดงให้เห็นว่า ผลไม้สดมีแนวโน้มส่งออกดีที่สุดและมีส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีกเวียดนามประมาณถึง 40% นอกจากนี้ ในหมวดเครื่องดื่ม อาหารแปรรูปและอาหารกระป๋อง ไทยมีส่วนแบ่งไม่น้อยในตลาดนำเข้าเวียดนามที่ 22% โดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องดื่มน้ำผลไม้ 100% ขนมขบเคี้ยวและเครื่องปรุงรส มีแนวโน้มขยายตัวได้ทุกๆปี อย่างไรก็ตาม ด้านหมวดสินค้ายา เวชภัณฑ์ และเครื่องสำอางค์ ไทยเหลือส่วนแบ่งในตลาดนำเข้าเวียดนามเพียง 10% หลังเสียส่วนแบ่งไปกว่าครึ่งให้กับแบรนด์เกาหลีและไต้หวัน ซึ่งมีสินค้าหลากหลายและราคาย่อมเยาว์กว่าแม้ผลิตภัณฑ์ของไทยเองก็เป็นที่รู้จักในกลุ่มหญิงสาวเวียดนามอยู่แล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันอย่างเข้มข้นของสินค้าอุปโภคบริโภคจากทั่วทั้งเอเชียในตลาดเวียดนาม
ในอนาคต ตลาดค้าปลีกเวียดนามจะคงยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ประกอบกับการแข่งขันที่ปะทุขึ้นในตลาดค้าปลีกเวียดนาม ย่อมจะทำให้ร้านค้าปลีกต้องคอยมองหาสินค้าใหม่ๆเพื่อตอบโจทย์ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการบริโภคของชาวเวียดนามที่กำลังเปลี่ยนไป จากรายได้สูงขึ้นและพัฒนาสู่ความเป็นเมือง ทำให้มีความนิยมบริโภคสินค้าที่คุณภาพดี ด้วยที่ราคาเหมาะสม ให้ความใส่ใจสุขภาพและความงามและเริ่มบริโภคอาหารนอกบ้านมากขึ้น จึงนับเป็นโอกาสของผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไทยที่ไม่ควรมองข้าม