- Details
- Category: CLMV
- Published: Friday, 26 September 2014 00:10
- Hits: 4157
เปิดเคล็ดลับความสำเร็จเวียดนาม ดันแพนกาเซียส ดอร์รี่ สู่ปลาเศรษฐกิจ
เวียดนาม นับเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่นับว่ามีพัฒนาการและแนวโน้มความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง นั่นเพราะยังคงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ กอปรกับเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมือง ทั้งยังมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง เวียดนามจึงเป็นอีกประเทศที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาธุรกิจผลิตสินค้าเกษตรและแปรรูปสินค้าเกษตร ที่รัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญไม่แพ้การพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ วันนี้มีสินค้าเกษตรชนิดหนึ่งที่เวียดนามผลักดันให้เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศ คือ'ปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่'ปลาเศรษฐกิจที่ทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยสามารถผลิตได้มากถึงปีละ 1.5 ล้านตัน และมีการส่งออกผลผลิตกว่า 650,000 ตันต่อปี สู่ตลาดสำคัญ 9 ประเทศ คือ อเมริกา ยุโรป อาเซียน บราซิล เม็กซิโก จีน ซาอุดิอาระเบีย โคลัมเบีย และไทย จากข้อมูลของ Vietnam Association of Seafood Exporter and Producers (VASEP) พบว่าในปี 2555 เวียดนามมีมูลค่าส่งออกปลาชนิดนี้สูงถึง 1,745 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากปริมาณการส่งออกที่มีมูลค่าสูงนี้เอง ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การเลี้ยงปลาชนิดนี้ต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ เนื่องจากประเทศผู้นำเข้ามีความเข้มงวดและมาตรฐานด้านความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety) สูง และผู้นำเข้าเหล่านี้เองที่มีส่วนในการผลักดันให้การเลี้ยงปลาชนิดนี้เข้าสู่มาตรฐาน ไม่ใช่การเลี้ยงแบบพื้นบ้านอย่างเมื่อ 10 กว่าปีก่อน โดยผู้นำเข้าจะต้องส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบการเลี้ยง และร่วมกันปรับปรุง กระบวนการเลี้ยงให้ทันสมัย ทั้งการจัดการและการแปรรูป เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นคุณูปการให้อุตสาหกรรมการเลื้ยงปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ เติบโตจนกลายเป็นปลาที่มีมูลค่าถึงปัจจุบัน
ปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า pangasius hypophthalmus ในภาษาเวียดนามเรียกว่า ปลาจา ซึ่งเป็นปลาประจำถิ่นในลุ่มแม่น้ำโขง โดยเวียดนามเริ่มมีการเพาะเลี้ยงในเชิงเศรษฐกิจในปี 2542 จนสามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ผลิตและส่งออกปลาชนิดนี้ได้เป็นอันดับ 1 ของโลก ด้วย 3 ปัจจัยสู่ความสำเร็จ คือ 1.พันธุ์ปลาที่ดี 2.คุณภาพน้ำที่ดี และ 3.การใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูป
เรื่องพันธุ์ปลา นับเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ ซึ่งน่ายินดีที่มีบริษัทคนไทยเป็นหนึ่งในเบื้องหลังของความสำเร็จ จากการที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ปลา ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันในชื่อซีพีเอฟ ได้มุ่งปรับปรุงให้ได้ปลาที่มีความแข็งแรง มีเนื้อมาก และมีเนื้อสีขาวซึ่งตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะถูกควบคุมโดยมาตรฐานที่รัฐบาลเวียดนามรับรอง ทำให้เกษตรกรชาวเวียดนามมีพันธุ์ปลาจา ที่ดีสำหรับเลี้ยงในเชิงพาณิชย์
ส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ คุณภาพน้ำ เพราะที่เวียดนามเขาจะเลี้ยงปลาบริเวณริมแม่น้ำโขง แม่น้ำสายใหญ่ที่มีจุดเริ่มต้นในทิเบตที่ประเทศจีนไหลผ่าน 6 ประเทศ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และสิ้นสุดที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งช่วงปลายของแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนามก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ แม่น้ำโขงได้แยกตัวออกเป็น 9 สาย ที่คนเวียดนามเรียกว่า กิ่วล่อง หรือ กิ๋วหล่อง แปลว่า มังกร 9 หัว โดยแม่น้ำกิ่วล่องจะไหลผ่านประเทศเวียดนามทางใต้เป็นระยะทาง 230 กิโลเมตร ในบริเวณที่เรียกว่า สามเหลี่ยมแม่โขง หรือแม่โขงเดลต้า (Mekong Delta) ทำให้น้ำมีปริมาณมากและมีคุณภาพดี สำหรับการเลี้ยงปลาชนิดนี้จะทำการเลี้ยงในบ่อริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยอาศัยระดับน้ำที่ต่างกันถึง 2 เมตร จากการขึ้นลงตามธรรมชาติในช่วงเช้าและเย็นเป็นตัวปรับสภาพน้ำให้มีคุณภาพอยู่เสมอ ซึ่งการที่มีกระแสน้ำไหลแรงและมีน้ำขึ้นน้ำลงนี้เอง ที่ถือเป็นหัวใจหลักของการเลี้ยงปลาในเวียดนาม เพราะทำให้เกิดการไหลเวียนของน้ำอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการเลี้ยงปลาชนิดนี้ ที่ต้องมีการถ่ายเทน้ำอย่างน้อยร้อยละ 30 ของปริมาณน้ำในบ่อเป็นประจำทุกวัน และกระแสน้ำที่ไหลเวียนอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ ยังทำให้น้ำที่ใช้เลี้ยงปลามีค่าออกซิเจนสูงขึ้น เอื้อต่อการเจริญเติบโต และสามารถเลี้ยงอย่างหนาแน่นได้
อีกปัจจัยสู่ความสำเร็จคือ การใช้อาหารเลี้ยงสัตว์คุณภาพที่ไม่ก่อให้เกิดสีเหลืองแทรกเข้าไปในชั้นไขมัน และปลาไม่ได้กินอะไรที่เป็นของเสียเลย โดยเกษตรกรเลือกใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูป เพราะอาหารเม็ดมีคุณค่าทางอาหารสูง สามารถควบคุมคุณภาพ และปริมาณโภชนาการให้เหมาะสมกับปลาได้ ทุกวันนี้เกษตรกรชาวเวียดนามทุกรายจึงหันมาใช้อาหารเม็ดในการเลี้ยงปลา อย่างเช่น อาหารปลาซีพี ที่ผ่านการคิดค้น วิจัย และพัฒนา จนได้อาหารสูตรพิเศษ ที่ไม่มีวัตถุดิบที่มีเม็ดสีสีเหลืองเป็นส่วนผสม ทำให้เนื้อปลาที่ผลิตได้เป็นสีขาวหรือสีชมพูอ่อนๆ น่ารับประทาน เนื้อแน่น และที่สำคัญคือไม่มีกลิ่นคาว จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั่วไป เมื่อผนวกกับการจัดการฟาร์มถูกวิธีและได้มาตรฐาน มีการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด ทำให้สามารถเลี้ยงปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ ได้อย่างหนาแน่น ซึ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ในวงกว้าง
เมื่อได้ปลาคุณภาพดี ตามน้ำหนักที่ต้องการแล้ว กรมประมงของเวียดนามจะเข้ามาสุ่มตรวจปลาเพื่อตรวจสอบสารเคมีตกค้าง เมื่อผ่านการตรวจแล้วปลาสดจากฟาร์มจะถูกลำเลียงโดยเรือเข้าสู่โรงงานแปรรูปมาตรฐาน และจะนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปทันสมัย ได้มาตรฐานในระดับสากล ทำให้ปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้อย่างภาคภูมิใจ กระบวนการผลิตที่ดีและมีมาตรฐานเช่นนี้เองที่ช่วยผลักดันให้ปลาน้ำจืดชนิดนี้ กลายเป็นปลาเศรษฐกิจที่นำเงินตราเข้ามาพัฒนาประเทศของเขาได้ ไทยเราเองหากเอาจริงเอาจังในการชูสินค้าเกษตรให้มีการผลิตได้มาตรฐานและดำเนินการสนับสนุนการส่งออกอย่างจริงจังเช่นเดียวกับเวียดนามบ้าง ภาคเกษตรก็จะมีความเข้มแข็งและกลายเป็นสินค้าสร้างชาติได้ไม่ยากนัก./