- Details
- Category: CHINA
- Published: Sunday, 14 July 2024 13:33
- Hits: 8833
เอกอัครราชทูตจีน'หาน จื้อเฉียง' ปาฐกถาพิเศษ เปิดการอบรมหลักสูตร บทจ.รุ่นที่ 1
หลักสูตรผู้บริหารธุรกิจไทย-จีน รุ่นที่ 1 (Business Leadership of Thai & China) ประจำปีการศึกษา 2567-2568 ซึ่งสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน จัดขึ้น ด้วยความร่วมมือจากหอการค้าไทย-จีน และ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้เปิดการศึกษาอบรมเป็นวันแรก เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ
โดยมี นายหาน จื้อเฉียง (Mr. Han Zhiqiang) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ให้เกียรติปาฐกถาพิเศษ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน นายกำพล มหานุกูล นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน กล่าวต้อนรับ ท่ามกลาง ข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจไทย-จีน ที่เข้าร่วมหลักสูตรการฝึกอบรม ประมาณ 70 คน โดยทางรายการจับจ้องมองจีน และ ศูนย์เอเชียและแอฟริกา China Media Group (CMG) ร่วมสนับสนุนการจัดงาน
นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า วันครบรอบ 49 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีน-ไทย เพิ่งจะผ่านพ้นไป ในช่วง 49 ปีที่ผ่านมา ความเป็นมิตร ความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเอื้อหนุนเกื้อกูลกัน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างสองประเทศ
ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมีความลึกซึ้งและมีความมั่นคงยิ่ง นอกจากนี้ขอบเขตความร่วมมือก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นำมาซึ่งผลประโยชน์ทางการพัฒนาอย่างมากมายแก่ทั้งสองประเทศและประชาชนไทย-จีน
ดังจะเห็นได้จากการแลกเปลี่ยนของผู้บริหารระดับสูงระหว่างสองประเทศที่เกิดขึ้นบ่อย โดยในเดือนพฤศจิกายน 2565 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ผู้นำของทั้งสองประเทศได้บรรลุฉันทามติสำคัญในการสร้างประชาคมร่วมอนาคตจีน-ไทยที่มีความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรือง และความยั่งยืนยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังเสริมสร้างมิตรภาพแบบ 'จีน-ไทยมิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน'
ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทยได้เข้าสู่ยุคใหม่แห่งการสร้างประชาคมร่วมอนาคต ในเดือนตุลาคม 2566 นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้เดินทางเยือนประเทศจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดความร่วมมือระหว่างประเทศ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ครั้งที่สาม และพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุฉันทามติใหม่ที่สำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-ไทย
ประการสำคัญ ในปีนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จเยือนประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง ในเดือนมกราคม นายหวัง อี้ กรรมการคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนได้เยือนประเทศไทย\
และในสัปดาห์นี้ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยได้เยือนจีน ความสำเร็จในการแลกเปลี่ยนการเยือนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศภายในครึ่งปี แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของความสัมพันธ์จีน-ไทย ที่มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก
จะเห็นได้ว่า ความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศ มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยมา 11 ปีติดต่อกัน ไม่เพียงแต่มีขนาดใหญ่เกิน 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือ มีโครงสร้างที่ดี คุณภาพสูง และได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน
ตลาดส่งออกสินค้าเกษตรมีความสำคัญอย่างยิ่งในการค้าระหว่างประเทศและเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงที่สุด ประเทศจีนเพียงประเทศเดียวสามารถรองรับการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย มากกว่า 40% และเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของไทย
ขณะเดียวกัน จีนได้กลายเป็นแหล่งลงทุนจากต่างประเทศ รายใหญ่ที่สุดของไทย ในปี 2566 การลงทุนของจีนในประเทศไทยจะเกิน 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 109% เมื่อเทียบเป็นรายปี และจำนวนเงินลงทุนจะคิดเป็น 25% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดของไทย
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา บริษัทจีนได้ยื่นขอโครงการลงทุนในประเทศไทยมูลค่าเกือบ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนของจีนในนิคมอุตสาหกรรมระยอง ไทย-จีน ได้สร้างงานในท้องถิ่นมากกว่า 55,000 ตำแหน่ง
นอกจากนี้ ประชาชนทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนกันอย่างใกล้ชิด จีนเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของไทยมาหลายปี ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยไปจีนสูงถึง 160,000 คน ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 ก่อนเกิดโรคระบาด
โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาไทย 3.44 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 193.135 พันล้านบาทให้กับประเทศไทย ซึ่งติดอันดับหนึ่ง ในด้านการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทย
เมื่อมองในด้านการเสริมสร้างและการประสานงาน ในประเด็นระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค ทั้งสองประเทศสนับสนุนลัทธิพหุภาคี การค้าเสรี และบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค โดยมีจุดยืนที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกันในประเด็นระดับโลก เช่น ความมั่นคงทางอาหาร การคุ้มครองทรัพยากรน้ำ การพัฒนาสีเขียว ธรรมาภิบาลระดับโลกของปัญญาประดิษฐ์
และการต่อต้านอาชญากรรมไซเบอร์ทั่วโลก และทั้งสองประเทศมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ประเด็นเมียนมาร์ มุ่งไปสู่การเจรจาและการปรองดอง และเราคัดค้านการเผชิญหน้าของมหาอำนาจและการแบ่งขั้วเข้ามาในภูมิภาค เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อจัดการกับความท้าทายทั้งแบบเดิมและที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิม โดยร่วมกันรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
“เรามักจะพูดกันเสมอว่า จีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดี มีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ เป็นญาติสนิทที่มีสายเลือดเดียวกัน และเป็นพันธมิตรที่ร่วมชะตากรรมเดียวกัน ประสบการณ์จากการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทยตลอด 49 ปีที่ผ่านมา ได้ให้ความกระจ่างแก่เราว่า ตราบใดที่เรายึดมั่นในหลักการเคารพซึ่งกันและกัน ปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม
สร้างผลประโยชน์ร่วมกัน ให้ความสำคัญและมองเห็นถึงกันและกัน ขยายจุดร่วมผลประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติตามหลักการที่ถูกต้อง ซื่อตรง และสร้างสรรค์สิ่งใหม่อย่างมีประสิทธิผล ดำเนินการด้วยความดี วิธีที่ดีและช่องทางที่ถูกต้อง ก็จะสามารถรวบรวมและเสริมสร้างพลังบวกให้กับความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทยอย่างต่อเนื่อง และนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศอย่างแท้จริง”
นายหาน กล่าวอีกว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ไทย ต่างได้รับผลประโยชน์ร่วมกันและเอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทย สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประชาชน มีความร่วมมือในวงกว้างและมีความกระตือรือร้นสูงจากทุกสาขาอาชีพ ที่ผ่านมา มีการรายงานและข้อถกเถียงเชิงลบ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ไทย อย่างมากมาย ในสื่อและทางอินเทอร์เน็ตของไทย
เราเข้าใจถึงความกดดันที่พ่อค้าในท้องถิ่นบางรายในประเทศไทย ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันในตลาด และยังได้ยินมาว่า นักธุรกิจบางรายจากจีนมีการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมาย และไม่เป็นไปตามข้อบังคับ
สำหรับ ความเห็นและข้อเสนอในประเด็นนี้ ประการแรก กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ควรดำเนินการตามหลักการของความร่วมมือ แบบได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายและปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับ ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดรัฐบาลจีน สำหรับวิสาหกิจในประเทศและพลเมืองที่ออกไปต่างประเทศ
ประการที่สอง แก่นแท้ของการค้าและความร่วมมือจีน-ไทย คือการเอื้อผลประโยชน์ร่วมกัน กว่าร้อยละ 85 ของการส่งออกของจีนไปยังประเทศไทยเป็นสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูปการส่งออกของไทย จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าทางการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของไทย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาด้านเกษตรกรรมของไทยและการเพิ่มรายได้ของเกษตรกร
ประการที่สาม การลงทุนหลักของจีนในไทย คือการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนเหล่านี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมไทย เพิ่มการจ้างงาน รายได้จากภาษี และการส่งออก ซึ่งช่วยประเทศไทยอบรมบุคลากรที่มีความสามารถทางวิชาชีพและด้านเทคนิค จำนวนมาก และดำเนินการกิจกรรมการกุศลในสังคมอย่างกระตือรือร้น ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ทุนจีนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
ประการที่สี่ เราต้องให้ความสำคัญและพยายามแก้ไขปัญหาความกดดันทางการแข่งขัน ที่บางคนต้องเผชิญภายใต้กลไกการตลาด กำกับดูแลตลาดอย่างแข็งแกร่ง เพื่อป้องกันการละเมิดกฎหมายและกฎระเบียบ อย่างไรก็ตาม เราไม่เห็นด้วยกับการใช้ประเด็นเฉพาะบางกรณีมานิยามความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ไทย ในแง่ลบ ความร่วมมือฉันมิตรระหว่างทั้งสองประเทศนั้น จำเป็นต้องดูแลและปกป้องรักษาโดยทุกๆ คน
นายหาน กล่าวว่า ในปีนี้เป็นปีครบรอบ 75 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วง 75 ปีที่ผ่านมา จีนได้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความท้าทายและการเปลี่ยนแปลง จากประเทศที่ยากจนและขาดแคลน สู่สังคมที่มั่งคั่งอย่างรอบด้าน ปัจจุบัน จีนได้ก้าวเข้าสู่การเดินทางครั้งใหม่ ในการเสริมสร้างประเทศชาติและการฟื้นฟูความเจริญของประเทศชาติ ด้วยรูปแบบความทันสมัยแบบจีน ความรู้สึกถึงความเป็นอยู่ที่ดี ความสุข และความปลอดภัยของประชาชนก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง ของสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศในปัจจุบัน จีนยังคงยึดมั่นในการพัฒนาอย่างสันติภาพ ปฏิบัติตามกลยุทธ์การเปิดกว้างที่ให้ผลประโยชน์ร่วมกันอย่างมั่นคง รักษาความยุติธรรมและความเป็นธรรมระหว่างประเทศ ปฏิบัติตามพหุภาคีนิยมที่แท้จริง ผลักดันการดำเนินการตามข้อริเริ่มการพัฒนาทั่วโลก ข้อริเริ่มความมั่นคงทั่วโลก และข้อริเริ่มอารยธรรมทั่วโลก เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ
จีนจะร่วมมือกับประชาชนจากทุกประเทศเพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลกและสร้างอนาคตที่ดีงามสำหรับมนุษยชาติ จีนจะยังคงขับเคลื่อนการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง ส่งเสริมการเปิดกว้างสู่โลกภายนอกที่มีระดับสูง และยึดมั่นในแนวทางการพัฒนาอย่างสันติ จีนที่ก้าวหน้าอย่างมั่นคงนี้ จะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมให้กับประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย”
นายหาน กล่าวอีกว่า ปีหน้าจะครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทย และความสัมพันธ์จีน-ไทย จะยืนอยู่บนจุดเริ่มต้นใหม่แห่งประวัติศาสตร์ ทั้งสองประเทศควรเสริมสร้างความไว้วางใจทางการเมืองและสนับสนุนซึ่งกันและกัน
ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หลักและข้อกังวลหลักควรรักษาแนวโน้มที่ดีของการติดต่ออย่างใกล้ชิดระหว่างผู้นำระดับสูง และทำให้ความร่วมมือในทุกด้านลึกซึ้งยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และร่วมกันเสริมสร้าง’หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ให้มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ของโครงการขนาดใหญ่ระหว่างจีน-ไทย
ขณะเดียวกัน ควรสำรวจความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ใหม่ๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวอย่างกระตือรือร้น ควรส่งเสริมมิตรภาพดั้งเดิม ขยายการแลกเปลี่ยนบุคลากร และขุดค้นศักยภาพความร่วมมือในด้านการท่องเที่ยว การบิน และวัฒนธรรมเพิ่มเติม เสริมสร้างการสื่อสารและการประสานงานระหว่างประเทศและภูมิภาค ร่วมมือกันรักษาสันติภาพและการพัฒนาในภูมิภาค เพื่อให้บรรลุความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
“ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ ทุกท่านต่างมาจากหลายหน่วยงาน ทุกท่านล้วนเป็นตัวแทนและบุคคลยอดเยี่ยมของสังคมไทย และเป็นแกนนำในการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านในที่นี้ จะมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในตำแหน่งของตน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจส่งเสริมให้ผู้คนจำนวนมาก เข้ามาใส่ใจและสนับสนุนภารกิจอันเป็นมิตรระหว่างจีน-ไทย
เรายินดีที่จะร่วมมือกับเพื่อนๆ จากทุกภาคส่วนในประเทศไทย เพื่อสานต่อความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมระหว่างจีนและไทยอย่างทั่วถึง และสร้างบทใหม่ของ ‘ครอบครัวจีน-ไทย’ ในยุคใหม่ และร่วมกันส่งเสริมความสัมพันธ์จีน-ไทยให้มีความก้าวหน้า ไปสู่อีก 50 ปีข้างหน้าที่ยิ่งใหญ่ ขอขอบพระคุณทุกๆ ท่าน”เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวในท้ายสุด
https://www.tcjapress.com/2024/07/13/business-leadership-han-zhiqiang/