WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

อาเซียนเดินหน้าเร่งทำงาน เตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC

    ไทยโพสต์ : ที่ผ่านมา นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council) ครั้งที่ 28 ณ กรุงเนปิดอร์ ประเทศเมียนมาร์

    ในการประชุม คณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน ที่ประชุมได้ร่วมกันประกาศผลการดำเนินการด้านการค้าสินค้าของอาเซียน เพื่อเตรียมการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 โดยเน้นการดำเนินการที่จะเอื้ออำนวยและเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอาเซียนให้สามารถดำเนินธุรกิจระหว่างกันได้อย่างสะดวก รวดเร็วและลดต้นทุนในการดำเนินการให้ต่ำลงเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างอาเซียนให้มากขึ้น และผลักดันให้อาเซียนเป็นส่วนสำคัญของ Global Supply Chain

สำหรับผลงานเด่นๆ ของอาเซียนในด้านสินค้ามีดังนี้

    1) การพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window : ASW) เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศทั้งการนำเข้า การส่งออก การเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดต้นทุนการบริหาร การจัดการ และการใช้ทรัพยากรต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนา ASW นอกจากนี้ประเทศสมาชิกอาเซียน ยังได้จัดทำความตกลงสำหรับ ASW Pilot Project โดยพัฒนาโครงการนำร่อง ASW ประกอบด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าของอาเซียน (ATIGA Form D) และข้อมูลใบขนสินค้าอาเซียน (ASEAN Customs Declaration Document : ACDD) โดยในส่วนของประเทศไทย กรมศุลกากรได้เริ่มใช้ระบบ e-Customs ผ่านระบบ NSW (National Single Window) อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2551 และในปัจจุบันสามารถเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาต/ใบรับรองในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ NSW กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้แล้ว 17 หน่วยงาน และกรมศุลกากรยังได้ร่วมกับหน่วยงานออกใบอนุญาต/ใบรับรองจัดหาฐานข้อมูลรหัสพิกัดสินค้าที่ต้องมีใบอนุญาต/ใบรับรองให้สามารถตรวจสอบทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อีกด้วย

    2) การดำเนินการโครงการนำร่อง เพื่อนำไปสู่การจัดระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกภายในปี 2015 ซึ่งขณะนี้มีโครงการนำร่อง 2 โครงการ คือ โครงการนำร่องที่ 1 ให้รับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ด้วยตนเองของผู้ผลิตและผู้ส่งออก มีประเทศเข้าร่วมแล้ว ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย มีจำนวนผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาตรวม 300 บริษัท โดยกัมพูชาและเมียนมาร์อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการ สำหรับโครงการที่ 2 ซึ่งให้รับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองเฉพาะผู้ผลิตมีประเทศที่เข้าร่วม ได้แก่ อินโดนีเซีย ลาว และฟิลิปปินส์ ในส่วนของไทยอยู่ระหว่างการเตรียมขั้นตอนสุดท้ายที่จะเข้าร่วมโครงการ ในขณะที่เวียดนามสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการนำร่องที่ 2 และขอเวลาเพิ่มเติมเพื่อเตรียมการ  ทั้งนี้ อาเซียนจะเริ่มเจรจาการปรับประสานระเบียบปฏิบัติของโครงการนำร่องทั้งสองโครงการเพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้

     3) การปรับปรุงแก้ไขบัญชีกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้าของอาเซียน จากระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2007 เป็นฉบับปี 2012 ซึ่งเป็นไปตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในการพัฒนาเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน เพื่อให้ สอดคล้องกับการปรับโอนรายการพิกัดศุลกากรขององค์การศุลกากรโลก ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนอาเซียนและไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในกรอบอาเซียนได้ง่ายขึ้น โดยมี 16 รายการที่มีเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าใหม่ ได้แก่ ปลาและสัตว์น้ำ (HS 03) เมล็ดถั่วลิสง (HS 12) สารประกอบ อนินทรีย์และผ้าอนามัยสำหรับเด็กอ่อน (HS 96)

     4) การปรับปรุงแก้ไขการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน (ฟอร์ม ดี) ให้ภาคเอกชนสามารถออกเอกสารฟอร์มดี ได้ก่อนล่วงหน้าวันส่งออกสินค้า เพิ่มขึ้นอีกกรณีหนึ่ง จากเดิมที่ออกได้เฉพาะ ณ วันที่ส่งออก หรือภายหลังการส่งออกสินค้า (ภายใน 3 วัน) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ส่งออกในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าส่งออกไปยังอาเซียน และจะช่วยกระตุ้นการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในกรอบอาเซียนได้มากยิ่งขึ้น

     5) การจัดทำคลังข้อมูลทางการค้าในระดับประเทศสมาชิก (NTR) ภายในปี 2558 ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปได้ด้วยดี และเห็นพ้องกันในหลักการของการจัดทำโครงสร้างของคลังข้อมูลทางการค้าอาเซียน ซึ่งจะเป็นแนวทางการดำเนินงานต่อไปในการจัดทำคลังข้อมูลของอาเซียน เพื่อสะท้อนความโปร่งใสและการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการทางการค้าของประเทศสมาชิก รวมถึงส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งในส่วนของไทยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2557 นี้

    6) การลดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี โดยการจัดทำฐานข้อมูลมาตรการที่มิใช่ภาษี การจัดตั้งหน่วยประสานงานมาตรการที่มิใช่ภาษีในแต่ละประเทศ และการนำร่องยกเลิกมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้าตามที่ได้รับการร้องเรียน

    สำหรับ ผู้ประกอบการที่สนใจที่จะใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าไปในประเทศสมาชิกอาเซียน สามารถติดต่อได้ที่สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ สายด่วน 1385 หรือ www.dft.go.th หรือสนใจข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการค้า/การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สามารถติดต่อศูนย์ AEC Information Center ณ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.thailandaec.com และ www.dtn.go.tn โทรศัพท์ 0 2507 7555

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!