- Details
- Category: ท่องเที่ยว
- Published: Tuesday, 05 December 2017 09:51
- Hits: 6548
ไทยเที่ยวไทย ฝรั่งเที่ยวไทย ใครได้ประโยชน์?
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เผยการขยายตัวของรายได้ท่องเที่ยวกระจายไม่ทั่วภูธร เหตุจากรายได้ก้อนใหญ่คือฝรั่งเที่ยวไทยกระจุกใน 4 เมืองซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเดิมที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ยึดหัวหาดธุรกิจเกี่ยวเนื่องไปแล้วเกือบทั้งหมด
ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นสาขาเศรษฐกิจสำคัญของเอกชนที่ยังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถือเป็นหัวใจหลัก พยุงให้เศรษฐกิจไทยเติบโต ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยวสร้างรายได้สู่เศรษฐกิจผ่านห่วงโซ่อุปทานหลายธุรกิจ อาทิ ภาคโรงแรมร้านอาหาร ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้าส่ง/ค้าปลีก และภาคขนส่ง ซึ่งนับเป็นประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบธุรกิจขนาดย่อมในภูธร มองว่าแรงส่งภาคการท่องเที่ยวกลับอ่อนแรงและไปไม่ถึง SME สะท้อนจากยอดขายที่เติบโตน้อยและเร่งไม่ขึ้น แม้ตัวเลขภาคการท่องเที่ยวจะขยายตัวดีก็ตาม
เมื่อนำโครงสร้างรายได้ปี 2559 มาศึกษาศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่ากว่าร้อยละ 80 ของเม็ดเงินจากภาคท่องเที่ยวจำนวน 2.52 ล้านล้านบาท กระจุกอยู่ใน 17 จังหวัด โดยแหล่งรายได้ 2 ใน 3 เกิดจากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นตลาดจีนกว่าร้อยละ 30 ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวิเคราะห์ด้านการกระจายตัวของรายได้ กลับกระจุกในพื้นที่เพียง 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี และสุราษฏร์ธานีเท่านั้น ขณะที่รายได้จากคนไทยเที่ยวไทยกลับกระจายตัวมากกว่า โดยครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯและหัวเมืองหลักของแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ (เชียงใหม่ เชียงราย) ภาคตะวันออก (ชลบุรี ตราด) ภาคใต้ (ภูเก็ต กระบี่ สงขลา ระนอง สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช) ภาคกลาง (ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี เพชรบุรี อยุธยา) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา ขอนแก่น) ตามลำดับ จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวภูธรยังรู้สึกว่าการขยายตัวของภาคท่องเที่ยวมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้เพราะเม็ดเงินสะพัดกระจุกอยู่เฉพาะเมืองเศรษฐกิจไม่กี่เมืองและธุรกิจในหัวเมืองที่สามารถดึงดูดค่าใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวได้นั้น มักเป็นกิจการของกลุ่มทุนขนาดใหญ่เป็นหลัก ขณะที่ภาคบริการของ SME ไทย เช่น โรงแรมขนาดเล็ก เกสเฮ้าส์ ร้านอาหารพื้นบ้าน ร้านนวดสปาประจำถิ่น จะมีกลุ่มลูกค้าหลักคือคนไทยเที่ยวไทยซึ่งแม้จะเที่ยวกระจายพื้นที่มากกว่าแต่ส่วนใหญ่ก็มิได้เตรียมงบประมาณเพื่อจับจ่ายในกิจกรรมสันทนาการนักเพราะเหตุผลหลักในการเดินทาง คือ กลับบ้านไปเยี่ยมครอบครัว ญาติ หรือเพื่อน
มาตรการ “ลดหย่อนภาษีเที่ยว 3 โซน” ที่คาดว่าจะออกในปีหน้า อาจช่วยกระตุ้นให้คนไทยท่องเที่ยวหลากหลายพื้นที่มากขึ้น แต่เราต้องไม่ลืมว่ารายได้หลักยังคงมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กระจุกตัวในจังหวัดท่องเที่ยวหลักเท่านั้น จึงทำให้เศรษฐกิจภูมิภาคและ SME ยังไม่ได้ประโยชน์อย่างทั่วถึง ทั้งที่ความจริงแล้วในจังหวัดอื่นๆยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมาก หากนำมาพัฒนาและประชาสัมพันธ์ให้มีจุดขายและมีเรื่องราวน่าสนใจเป็นจุดที่ต้องแวะชม จะช่วยสร้างเม็ดเงินก้อนใหม่ซึ่งเป็นก้อนใหญ่ให้กับเศรษฐกิจภูมิภาคโดยใช้เวลาไม่นาน
ดังนั้น รัฐต้องเร่งพัฒนาและประชาสัมพันธ์เมืองท่องเที่ยวใหม่ให้ต่างชาติได้รับรู้ โดยอาจเริ่มจากการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวเดิมที่ต่างชาตินิยม พร้อมกับเป็นผู้นำเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการให้เป็นระบบ มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีสาธารณูปโภคครบครัน และเข้าถึงได้ง่าย ผู้ประกอบการ SME เองต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ Life Style นักท่องเที่ยวพร้อมโปรโมทธุรกิจผ่าน Social network มากขึ้น น่าจะลดการเที่ยวกระจุกของต่างชาติและหนุนรายได้ให้กระจายสู่ภูมิภาค เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป<