- Details
- Category: ท่องเที่ยว
- Published: Monday, 02 May 2016 17:18
- Hits: 7480
อพท.โชว์แผนท่องเที่ยวปี 59 ชู 3 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนยั่งยืน
บ้านเมือง : องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย (อพท.5) เปิดแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวปี 2559 ชู 3 แนวทางมุ่งสู่วิสัยทัศน์ "เมืองน่าพักผ่อนและเรียนรู้ประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น การพัฒนาที่ยั่งยืนสู่คุณภาพระดับสากล" พร้อมเดิน หน้าสร้างกิจกรรมใหม่ให้เที่ยวจังหวัดเลยได้ตลอดปี เน้นตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ทั้งชาวไทย และต่างประเทศ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มเม็ดเงิน แก่ชุมชนในจังหวัดให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน
นายธรรมนูญ ภาคธูป รองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย (อพท.5) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยถึงนโยบายการดำเนินงานของพื้นที่พิเศษเลยว่า ปี 2559 อพท.5 ได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวของจังหวัดเลย โดยเป็นหนึ่งในนโยบายตามแผนยุทธศาสตร์ขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อผลักดันให้จังหวัดเลยเป็นที่รู้จักในมุมมองที่แตกต่างออกไป จากเดิมที่นักท่องเที่ยวจะนิยม มาเที่ยวในช่วงฤดูหนาวปลายปีเท่านั้น เนื่องจาก ส่วนใหญ่รู้ว่าจังหวัดเลยเป็นเมืองที่โอบล้อมด้วยภูเขา โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่รู้จักกันดี คือ ภูกระดึง และ เชียงคาน แต่ในจังหวัดเลยยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกมากมายทั้งแบบธรรมชาติที่สวยงาม แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม และวิถีชีวิต ชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนั้นในปีนี้ อพท.5 จึงเน้นการดำเนินงานเชิงรุก เพื่อดึงให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสกับความเรียบง่ายตามวิถีชาวบ้าน และวัฒนธรรมประเพณีของคนในท้องถิ่นให้นานขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวจังหวัดเลยได้ทั้งปี
โดย อพท.5 วางแนวทางเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่พิเศษเลยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ การนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ที่มีศักยภาพในจังหวัดเลย โดยเน้นให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และบริหารจัดการเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสความงามทางธรรมชาติ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นได้อย่างใกล้ชิด อันจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเลย และนำไปสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวที่มีความแตกต่างกันทาง ภูมิศาสตร์ และมีเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเองใน 9 อำเภอของพื้นที่พิเศษเลย ซึ่งประกอบด้วย อำเภอเมืองเลย อำเภอเชียงคาน อำเภอ ท่าลี่ อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย อำเภอนาแห้ว อำเภอภูกระดึง อำเภอหนองหิน อำเภอภูหลวง ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี รวมถึงวิถีชีวิตที่โดดเด่นและน่าสนใจ
"การสนับสนุนและเตรียมความพร้อมให้แก่ชุมชนในพื้นที่ รวมถึงการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้จากชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวชุมชน เป็นบทบาทสำคัญของความร่วมมือระหว่าง อพท. 5 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ พร้อมกับเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้สู่กลุ่มนักท่องเที่ยวให้เข้าถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดเลยมากขึ้น ทั้งนี้ยังช่วยกระจายรายได้และสร้างโอกาสทางอาชีพแก่ชุมชนในพื้นที่อย่างยั่งยืนด้วย" นายธรรมนูญ กล่าว
แนวทางที่สอง คือ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเลยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาได้ตลอดทั้งปี โดยการจัดแผนกิจกรรมท่องเที่ยว ตามฤดูกาล ซึ่งเน้นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติตามวิถีไทยที่ตอบสนอง ความต้องการในการเที่ยวทุกฤดู เพื่อสร้างประสบการณ์และเปิดมุมมองใหม่ๆ ของจังหวัดเลยแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ด้วยกิจกรรมการท่องเที่ยว 3 ฤดู อาทิ ท่องเที่ยวฤดูร้อนกับกิจกรรมคลายร้อนของจังหวัดเลย ที่ตำบลปลาบ่า อำเภอภูเรือ ซึ่งมีทั้งแนวผจญภัยและผ่อนคลายบนพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ ที่ชุมชนบริหารจัดการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสภาพป่า โดยพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและปลูกผักปลอดสารพิษ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านและการลงมือปลูกพืชด้วยตนเอง รวมถึงกิจกรรมร่วมงานบุญประเพณี อีสานดั้งเดิมเพื่อต้อนรับวันสงกรานต์ ที่มีความสนุกสนานพร้อมกับชื่นชมความงาม ของขบวนแห่ต้นดอกไม้ที่อำเภอนาแห้ว และอำเภอท่าลี่
สำหรับ ฤดูฝนกับแหล่งท่องเที่ยวสวยงามสดชื่น ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ภูหลวง ที่เชิญชวนให้มาสัมผัสความงามทางธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์เสมือนพรมสีเขียวที่ประดับทางเดินด้วยปรง มอส และดอกเปราะภู ซึ่งเป็นเส้นทางศึกษาที่มีพันธุ์ไม้นานาพันธุ์ และอีกหนึ่งสถานที่ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "ฟูจิเมืองเลย" ที่ภูป่าเปาะ อำเภอหนองหิน ในช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสทั้งอากาศหนาวและวิวสวยที่แฝงด้วยมนต์เสน่ห์ของทิวเขา โดยการเดินทางจะต้องนั่งรถอีแต๊ก ซึ่งแต่เดิมถูกใช้ในการทำเกษตรแล้วนำมาปรับแต่งให้สามารถบรรทุกผู้โดยสารเข้าไป โดยชาวบ้านในชุมชนเป็นผู้ให้บริการ และรายได้ที่เกิดขึ้นจะมีการจัดการในชุมชนเอง นอกจากนี้ยังมีสถานที่ให้เข้าชมวิธีการเพาะปลูก และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น การเก็บเกี่ยวพร้อมแปรรูปแมคคาเดเมีย ที่ไร่วิมุติสุข อำเภอภูเรือ
สำหรับ ฤดูหนาวกับการท่องเที่ยว ณ ภูลมโล หรือที่เรียกขานกันว่า "หุบเขานางพญาเสือโคร่ง" เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีดอกนางพญาเสือโคร่งมากที่สุดในเมืองไทย เมื่อดอกสีชมพูบานสะพรั่งไปทั่วพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ จะสร้างความ สวยงามน่าประทับใจที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมมากมาย และ ภูบ่อบิด ภูเขาสูงชัน โดดเด่น จากบนยอดภูจะสามารถมองเห็นทัศนียภาพทุกทิศทางของ จังหวัดเลย อีกทั้งยังเป็นสถานที่สำหรับชมพระอาทิตย์ขึ้น และตกดินที่สวยที่สุดอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ด้านการสร้างเครือข่ายและผนึกกำลังเชื่อมโยงเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อาทิ ลาว เวียดนาม เพื่อให้เส้นทางท่องเที่ยว มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาได้มีการประสานการทำงานร่วมกับทางจังหวัดเลย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การปฏิบัติงานร่วมกัน และปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือกับเมืองต่างๆ ที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ แขวงหลวงพระบาง เนื่องจากเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
ดังนั้น อพท.5 จึงเล็งเห็นโอกาสและศักยภาพที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวจังหวัดเลย ด้วยการตกลงพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกัน และประชุมหารือความร่วมมือการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดเลยกับแขวง หลวงพระบาง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ชายแดนให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวและการค้าภายหลังการเปิดเออีซี และสนับสนุนภาคธุรกิจของไทยให้ใช้กิจกรรมท่องเที่ยวในการเปิดตลาดการค้าชายแดน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการร่วมลงทุนระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ
สำหรับ เป้าหมายหลักของการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดเลยที่สำคัญคือ ต้องการให้เป็นจังหวัดแห่งการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เพื่อสามารถสร้างงาน สร้างรายได้และกระจายเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวไปยังชุมชน โดยพัฒนาแหล่ง ท่องเที่ยวในจังหวัดเลยให้มีเอกลักษณ์และเป็นที่จดจำอย่างแพร่หลายในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งการที่จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้นั้น ทุกหน่วยงานและคนในชุมชนจะต้องมีความร่วมมือ ร่วมใจเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวในสไตล์วิถีชาวบ้านของชุมชนร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของจังหวัดมีความเข้มแข็งและยั่งยืนในอนาคต