- Details
- Category: ท่องเที่ยว
- Published: Sunday, 21 June 2015 12:02
- Hits: 2217
สภาหอการค้าไทย ชู 5 ยุทธศาสตร์กระตุ้นท่องเที่ยว เน้นพัฒนาสินค้า บริการ และการเชื่อมโยงการเดินทางทางอากาศ
สภาหอการค้าไทย ชู 5 ยุทธศาสตร์กระตุ้นท่องเที่ยว เน้นจัดทำแผนพัฒนาด้านการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ สร้างความยั่งยืน พร้อมพัฒนาสินค้า - บริการ และบุคลากรด้านการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการเชื่อมโยงการเดินทางทางอากาศ และปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนา พร้อมส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ให้บริการในภาคธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
นายชนินทธ์ โทณวณิก ประธานคณะกรรมการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ถือเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังปี 2553 เป็นต้นมา รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ในปี 2557 ที่ผ่านมา รายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็น 11% ของ GDP หรือมีมูลค่าประมาณ 1.44 ล้านล้านบาท แม้ว่าประเทศไทยจะประสบกับปัญหาทางการเมืองก็ตาม ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงเป็นอับดับ 9 ของโลก
แม้ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2544 และเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ตลอดระยะเวลา 13 ปี ที่ผ่านมารายได้ต่อวันกลับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 1.35% รวมทั้งแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยวกลับมีแนวโน้มลดต่ำลง
“ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวอย่างมาก แต่กำลังประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านวิชาชีพการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัญหาที่ควรรีบแก้ไข รวมทั้งจะต้องเร่งพัฒนาทักษะด้านภาษา และเพิ่มองค์ความรู้เฉพาะด้านให้กับ 32 ตำแหน่งงานในอาชีพการท่องเที่ยวและบริการ ตามข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรวิชาชีพด้านการท่องเที่ยวอาเซียน”นายชนินทธ์ กล่าว
ดังนั้น คณะกรรมการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ จึงได้กำหนดแผนงาน 5 ด้าน ในการขับเคลื่อน
และสนับสนุนให้ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทยเป็น “แหล่งท่องเที่ยวที่มีความคุ้มค่าที่สุดในเอเชีย” ดังนี้
1. จัดทำแผนพัฒนาด้านการท่องเที่ยวแห่งชาติ (Thailand Master Plan of Tourism) ควรมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมจัดทำแผนพัฒนาด้านการท่องเที่ยวแห่งชาติ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยสร้างภูมิคุ้มกันอย่างรอบด้านในทุกมิติ พร้อมมุ่งสร้างรายได้เพิ่มควบคู่ไปกับการกระจายรายได้สู่สังคมและท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม
2. การส่งเสริมและพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน ปัจจุบันการเติบโตของการท่องเที่ยวค่อนข้างกระจุกตัวในแหล่งท่องเที่ยวหลักเท่านั้น ซึ่งก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องรองรับนักท่องเที่ยวเกินกว่าที่ควร นอกจากนี้การที่รายได้ต่อวันของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเพียง 19.5% ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา (เฉลี่ยปีละ 1.35%) ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนที่สำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าท่องเที่ยวของไทย
3. การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันขาดแคลนทั้งในด้านจำนวนและคุณภาพ
ซึ่งภาคท่องเที่ยวเป็นภาคบริการที่ต้องใช้แรงงานมีฝีมือ (Skilled Labor) จำนวนมาก ดังนั้น หากขาดการพัฒนาบุคลากรที่เหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวที่กลับมาเที่ยวซ้ำสูงกว่า 60%
4. การส่งเสริมการเชื่อมโยงการเดินทางทางอากาศเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 80% เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านทางสนามบิน และ 95% ของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ ใช้เพียงสนามบินหลัก 3 แห่ง คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ตเท่านั้น ก่อให้เกิดปัญหาในการขยายขีดความสามารถในการรองรับ จึงควรเพิ่มศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว โดยกระจายให้มี Hub ทางการบินในระดับนานาชาติในภูมิภาคอื่น ๆ มากขึ้น
5. การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ประเทศไทยยังมีกฎหมายและกฎระเบียบ
หลายประการที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจ และโครงสร้างในการจัดการด้านการท่องเที่ยว รวมถึงปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งควรมีการศีกษาและนำเสนอแนวทางเพื่อปรับปรุงแก้ไข นอกจากนี้ ยังควรเพิ่มแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีอยู่มากกว่า 90% ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อสร้างรากฐานให้อุตสาหกรรมสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
นายศรัณยู ชเนศร์ ประธานคณะกรรมการธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพ หอการค้าไทยและสภาหอการค้า-แห่งประเทศไทย กล่าวว่าอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 มีมูลค่าประมาณ 1.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับปี 2556แบ่งเป็น ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน 7 หมื่นล้านบาท การส่งเสริมสุขภาพ 2 หมื่นล้านบาท และการท่องเที่ยว5 หมื่นล้านบาท คาดว่าในปี 2558 อุตสาหกรรม Health Care จะเติบโต 15-20% และมีชาวต่างชาติเข้ามารับการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านคน/ปี
สำหรับแผนการดำเนินงาน คณะกรรมการธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพ ได้วางแผนการดำเนินงานที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมทั้งพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจดังกล่าวให้สามารถสร้างรายได้ได้อย่างยั่งยืน ตลอดจน ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ให้บริการในภาคธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพ และสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจนายศรัณยู กล่าวว่า คณะกรรมการฯ มีแผนการดำเนินงานที่จะขับเคลื่อน 7 ธุรกิจ ประกอบด้วย
1. ส่งเสริมโรงพยาบาลระดับ SME (SME Hospital) ประเทศไทยมีการรับรองกระบวนการกระบวนการคุณภาพตามมาตรฐานโรงพยาบาล HA หรือ Hospital Accreditation เป็นมาตรฐานที่พัฒนาโรงพยาบาลระดับ SME ให้ได้คุณภาพ โดยจะทำการส่งเสริมและยกระดับมาตรฐาน HA ให้เป็นมาตรฐานที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
2. การดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว (Long term care) ผู้สูงอายุในประเทศไทยปี 2557 ที่ผ่านมามีจำนวน 10 ล้านกว่าคนของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีชาวต่างชาติที่เข้ามาพักในเมืองไทย โดยอยู่ระยะยาวเป็นจำนวนมาก ทำให้จำนวนที่พักอาศัยไม่เพียงพอ นำไปสู่การวางแผนพัฒนามาตรฐานที่พักอาศัยสำหรับ Long Stay พร้อมพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพและส่งเสริมการบริการสุขภาพผู้สูงอายุ โดยขอความร่วมมือจากทางภาครัฐและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง และอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวต่างชาติที่เข้ามาพักในประเทศไทย
3. ธุรกิจความงาม (Beauty Clinic) ปัจจุบัน คนไทยหันมาสนใจเรื่องความงามมากขึ้น ประกอบกับการพัฒนาด้านการให้บริการ เทคโนโลยีต่างๆ และชื่อเสียงของแพทย์ด้านความงามของไทยเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องส่งเสริมสถานประกอบการธุรกิจความงามให้ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ด้านการมีชื่อเสียงของแพทย์ไทยด้านความงาม ให้ทั้งคนไทยและต่างประเทศเชื่อมั่นในธุรกิจความงามของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
4. เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ (Medical Devices) จากการสำรวจ มีการใช้อุปกรณ์การแพทย์ที่ผลิตในประเทศไทยประมาณ 5% ของเครื่องมื่อแพทย์ที่ใช้ในโรงพยาบาล ดังนั้น จะผลักดันเรื่องผลงานวิจัยทางการแพทย์เพื่อรองรับความต้องการการตลาดภายในประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมคุณภาพเครื่องมือแพทย์ให้ได้มาตรฐาน และให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการผลิตเครื่องมือแพทย์
5. สปาไทย (Thai Spa) สปาเป็นธุรกิจที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาใช้บริการ ส่งผลให้มีการขยายตัวทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งยกระดับสปาไทยสู่มาตรฐานระดับสากลทั้งในด้านการให้บริการ บุคลากร สถานที่ และพัฒนาผลิตภัณฑ์สปาให้เป็นที่ยอมรับ
6. การนวดไทย (Thai Massage) เป็นศาสตร์และศิลป์ด้านการแพทย์แผนไทย ที่รู้จักกันดีและกำลังได้รับความนิยม ทำให้สถานประกอบการบางแห่งไม่ได้มาตรฐานและผู้บริโภคไม่ได้รับความคุ้มครอง ดังนั้น ควรผลักดันกฎหมายเพื่อรองรับการเปิดสถานประกอบการ รวมทั้งกฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคให้มีความชัดเจน และส่งเสริมด้านการฝึกอบรมบุคลากรให้เกิดความเข้าในการให้บริการอย่างมีคุณภาพ
7. สมุนไพรไทย การผลิตสมุนไพรไทยภายในประเทศปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศ ทำให้เล็งเห็นว่าต้องส่งเสริมความรู้ความเข้าใจการผลิตแก่เกษตรกร เพื่อผลักดันการผลิตสมุนไพรของไทย ส่งเสริมการจัดการการตลาดวัตถุดิบและด้านงานด้านวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับ สร้างการยอมรับให้มีความเชื่อมั่นในการรักษาของสมุนไพรไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะร่วมพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานบริการสุขภาพในประเทศไทยให้เป็นคลัสเตอร์ทางด้าน Wellness ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งจะร่วมมือกับภาครัฐและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันคลัสเตอร์ด้าน Wellness ให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย