- Details
- Category: ท่องเที่ยว
- Published: Wednesday, 21 February 2024 19:49
- Hits: 9432
กระทรวง อว. โดย วว. หนุน Soft Power ด้านการท่องเที่ยวไทย โชว์ผลงานรับรองแหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยวไทย ตามมาตรฐานสากลกว่า 200 แห่ง เชิญชวนผู้ประกอบการเข้ารับการตรวจประเมิน ยกระดับ – เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย สำนักรับรองระบบคุณภาพ (สรร.) ในฐานะหน่วยรับรองมาตรฐานระบบบริหารคุณภาพและหน่วยรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการ ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและนโยบาย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” โดยเฉพาะการเป็นหน่วยรับรองแห่งเดียวในประเทศไทยในขอบข่ายมาตรฐานคุณภาพแหล่องท่องเที่ยว ที่ได้รับการรับรองระบบงาน ISO/IEC 17065 และได้รับการยอมรับจาก กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อตรวจประเมินมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวและมาตรฐานกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อการรับรองตามมาตรฐานท่องเที่ยวไทยจำนวนกว่า 200 แห่ง อาทิ กิจกรรมปีนหน้าผาจำลอง ที่ไคลมบ์ เซ็นทรัล แบงค็อค กรุงเทพ กิจกรรมการพายแคนู คายัค ที่ล่องแก่งหนานมดแดง พัทลุง ลานกางเต้นท์ ที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย หาดไม้งาม อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ พังงา ทะเลในเกาะแม่เกาะ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง อุดรธานี เป็นต้น
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวหรือมาตรฐานกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว ของ กรมการท่องเที่ยว จาก สำนักรับรองระบบคุณภาพ วว. จะได้ใบรับรองมาตรฐาน รวมถึงการได้รับสิทธิ์ในการใช้เครื่องหมายช้างชูงวงเริงร่าจาก กรมการท่องเที่ยว ควบคู่กันด้วย
“...มาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวและมาตรฐานกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว เป็นมาตรฐานที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านบริการสำหรับแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน วว. ภาคภูมิใจที่ได้ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านระบบมาตรฐานคุณภาพสากล ซึ่ง วว. มีความเชี่ยวชาญให้การรับรอง ตลอดจนมีการถ่ายทอดความรู้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งยังเป็นการสนองนโยบาย Soft power ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย ...” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
สำหรับประโยชน์ที่ผู้ประกอบการได้รับจากการนำมาตรฐานไปประยุกต์ใช้นั้น จะมีนัยสำคัญที่เพียงพอต่อการพัฒนาศักยภาพ ซึ่งครอบคลุมในการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องโดยทั่วไปทั้งสิ้น 4 ด้าน ได้แก่
1) ด้านการบริหารจัดการ เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวหรือกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยวได้ถูกจัดทำหรือดำเนินงานอย่างเหมาะสม เช่น การจัดการโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค การจัดการด้านอัตรากำลังและพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น
2) ด้านความปลอดภัย โดยมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวและมาตรฐานกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว จะเน้นด้านการจัดการในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวและการจัดกิจกรรม เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัยหรือเพื่อการตัดสินใจในการร่วมกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว เช่น การเตรียมแผนและฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ การจัดเตรียมหรือประเมินความเสี่ยงในพื้นที่เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ หรือการจัดเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือด้านการปฐมพยาบาล การกู้ชีพ กู้ภัยที่เหมาะสมกับพื้นที่หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
3) การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการบริหารจัดการการท่องเที่ยวตามมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวและมาตรฐานกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการท่องเที่ยว เช่น การจัดการขยะมูลฝอยจากการท่องเที่ยว การจัดการน้ำเสียที่เกิดจากการท่องเที่ยว เป็นต้น
4) การมีส่วนร่วมของชุมชน มาตรฐานได้เล็งเห็นความสำคัญในแหล่งท่องเที่ยวหรือกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยวที่มีผลประโยชน์สู่ชุมชนที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การมีรายได้ของชุมชนจากการท่องเที่ยวและการสร้างองค์ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติให้ชุมชน เป็นต้น
ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวสนใจใช้บริการจาก วว. ติดต่อขอรับบริการผ่านแพลตฟอร์มระบบบริการลูกค้าออนไลน์ “วว. JUMP” www.tistr.or.th (https://tistrservices.tistr.or.th/) หรือติดต่อได้ที่ Call center โทร. 0 2577 9000 กด 1
2747