- Details
- Category: ท่องเที่ยว
- Published: Tuesday, 17 May 2022 22:48
- Hits: 3967
อพท. เปิดเวทีขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสู่โลกเสมือนจริง
‘กูรู’ แนะใช้พื้นที่พิเศษทำโมเดล หนุนชุมชน-เอกชน นำเทคโนโลยีเชื่อมโยงท่องเที่ยว
“อพท.”พลิกโฉมสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่หลังโควิด-19 เปิดเวทีเสวนาขับเคลื่อนเทคโนโลยีสู่โลกเสมือนจริง ท่องเที่ยวในโลกอนาคตและจักรวาลนฤมิตร “Metaverse” หวังสร้างองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการเชื่อมโยงการทำงานของภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ ดึงผู้ทรงคุณวุฒิแชร์แนวคิด ประสบการณ์การท่องเที่ยวเชื่อมโยงโลกอนาคต ดึงรายได้สู่ชุมชน เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจในประเทศ
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดงานเสวนาหัวข้อ “Is the metaverse the answer of tourism? จักรวาลนฤมิตร มิตรแท้หรือแค่ลวง” ว่า เป็นกิจกรรมที่ อพท.จัดขึ้น ภายใต้กิจกรรมเวทีเครือข่ายองค์ความรู้เพื่อระดมข้อเสนอด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน และเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ และผู้เข้าร่วมกิจกรรม ในการนำ Metaverse ที่เป็นเทคโนโลยีสร้างโลกเสมือนมาทำให้ผู้คนสามารถพูดคุย มีปฏิสัมพันธ์ สัมผัสรูปภาพและเสียง ใน “ชุมชนโลกเสมือนจริง”เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับชุมชนท่องเที่ยว เศรษฐกิจชุมชน และใช้ประโยชน์ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป
“อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เห็นได้จากก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2562 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยว 39.9 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 2 ล้านล้านบาท ติด 1 ใน 10 กลุ่มประเทศที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก นอกจากนั้นรายได้จากการท่องเที่ยวยังทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 4 ล้านตำแหน่ง โดยเฉพาะแรงงานฐานราก ส่งผลต่อกำลังซื้อในชุมชนท้องถิ่น นับเป็นการสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยในทุกระดับ” นาวาอากาศเอก อธิคุณ กล่าว
ในช่วง 2 ปี ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พฤติกรรมนักท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นประเด็นสำคัญ ที่รัฐบาลจะสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้อย่างแท้จริง ซึ่งพบว่าการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการรักษาระยะห่าง (Social Distancing) กลายเป็น “Digital Disruption” หรือเกิดการปฏิวัติดิจิทัลในชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างรวดเร็ว เช่น การประชุมออนไลน์ การเรียนออนไลน์ Food Delivery Platform, Online Shopping Platform, รวมไปถึงการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี Block Chain ทำให้เกิดกระแสคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) รวมถึง เมตาเวิร์ส (Metaverse) ในปัจจุบัน ดังนั้นธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ของประเทศควรปรับตัว ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาให้สามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตามแนวความคิดและข้อเสนอจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ อพท.จะรวบรวมข้อเสนอแนะที่ได้รับมาจัดทำเป็นองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายการต่อยอดพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษ เพื่อยกระดับขีดความสามารถให้ชุมชนและผู้ประกอบการท้องถิ่น และยกระดับให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ให้สร้างโอกาสและประโยชน์จาก “Digital Disruption” นำมาซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างสูงสุด และมีผลกระทบต่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ของ อพท.
กูรูแนะรัฐปฏิวัติท่องเที่ยวไทยสู่โลกเสมือนจริง
ในเวทีเสวนา ศาสตราจารย์ ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ และ นายกิตติ พรศิวะกิจ ประธานอนุกรรมการ Smart Tourism สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ CEO Tripwarp กล่าวไปในทิศทางเดียวกันถึงผลดีผลเสียของการใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง หรือ Metaverse และการปรับตัวของผู้อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อรับมือกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
โดยเสนอให้ อพท. เป็นหน่วยงานจุดประกายในการยกระดับพัฒนาขีดความสามารถให้กับผู้อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สู่การนำเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง มาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยใช้จุดแข็งด้านข้อมูลในเชิงลึก หรือ Content ที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ มาพัฒนารูปแบบการนำเสนอให้น่าสนใจผ่านเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง และใช้หลักการตลาด 3P คือ Product Place และPromotion นำเสนอต่อนักท่องเที่ยว โดย นำร่องในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อเป็นต้นแบบให้แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ มาศึกษาดูงาน
“ปัจจุบันมีหลายธุรกิจหลายอุตสาหกรรม นำเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงไปใช้ เพื่อประโยชน์ทางการตลาด แต่ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ยังไม่พบว่าประเทศใด หรือผู้ประกอบการใดนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม จึงต้องการให้ไทยได้เริ่มเป็นประเทศแรก เพราะหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การทำตลาดขายทัวร์แบบเดิมอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป”
ข้อดีของการนำเสนอการท่องเที่ยวในรูปแบบโลกเสมือนจริง คือพลังในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่คนรู้จักแล้ว และสถานที่ที่ผู้คนยังไม่รู้จัก อีกทั้งยังช่วยเปิดตลาดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ เกิดการพัฒนาสินค้าที่ตอบความต้องการของนักท่องเที่ยวออกมาจำหน่าย ช่วยลดความเหลื่อมล้ำเพราะท่องเที่ยวเสมือนจริงรูปแบบนี้ทุกเพศวัยสามารถเข้าถึงได้ ทั้งผู้ด้อยโอกาส ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ครอบคลุมนักท่องเที่ยวได้หลากหลายกลุ่มตั้งแต่เบบี้บูมเมอร์ และกลุ่ม Gen-X Gen-Y และ Gen-Z เมื่อนักท่องเที่ยวได้สัมผัสและชื่นชอบจะนำไปสู่การวางแผนเดินทาง หรือ Pre Booking เพื่อไปสัมผัสของจริง การเก็บข้อมูลเป็นไปได้สะดวกขึ้นจากคีย์เวิร์ดเพียง 3 คำ คือ ชาติอะไร วัยอะไรและสนใจอะไร ส่วนข้อเสียในช่วงแรก อาจมีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางน้อยลงบ้าง แต่สุดท้ายก็จะกลับมาวางแผนเดินทางภายหลังได้สัมผัสในโลกเสมือนจริงแล้ว เพราะอย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ที่ได้รับจากสถานที่จริงจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมีการให้ความรู้แก่ผู้เข้าใช้บริการควบคู่กันไปเพื่อความเข้าใจและความคาดหวังที่ตรงกัน
ด้านการพัฒนาคนเพื่อเตรียมพร้อมรองรับเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง ต้องพัฒนา 4 ทักษะ ABCD ให้กับบุคลากร เพราะเป็นหัวใจหลักของการทำดิจิทัลบิสเนสโมเดล ได้แก่ Art = เพื่อสร้างโลกเสมือนจริง Business = เพื่อการทำธุรกิจและการตลาด C = เพื่อพัฒนาเนื้อหาหรือ Content ได้อย่างน่าสนใจ และ D = ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล โดย อพท. จะต้องไปคัดสรรคน หรือไปพัฒนาชุมชนให้ได้เรียนรู้มีความชำนาญ และเชี่ยวชาญ และมีความพร้อมที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงทางการตลาดที่ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างยั่งยืนต่อไป
A5541