- Details
- Category: ท่องเที่ยว
- Published: Monday, 04 April 2022 17:24
- Hits: 5708
อพท. ร่วมกับ ยูเนสโก หนุนเส้นทางมรดกโลกทางพระพุทธศาสนา
อพท. หนุนการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและพระพุทธศาสนา จับมือ ยูเนสโก จัดอบรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเล่าเรื่องผ่านสื่อดิจิทัลสำหรับแหล่งมรดกโลก” หวังยกระดับนักสื่อความหมายท้องถิ่นสู่โลกดิจิทัล
กว่า 700 ปี ของเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นรุ่งอรุณแห่งความสุข “สุโขทัย” ราชธานีแห่งแรกของประเทศไทย และอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชรยังได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก เมื่อปี พ.ศ. 2538 ด้วยความหยั่งลึกทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ในปี 2562 ยูเนสโก ยังรับรองสุโขทัย เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลกทางด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) และวันนี้ สุโขทัย กำลังจะก้าวสู่การเป็นดินแดนแห่งเส้นทางมรดกโลกทางพระพุทธศาสนา
ดร. ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ผู้แทน น.อ. อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. ได้กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเล่าเรื่องผ่านสื่อดิจิทัลสำหรับแหล่งมรดกโลก” (Workshop on Digital Storytelling For World Heritage Sites) ว่า เป็นกิจกรรมที่ อพท. ได้ร่วมกับองค์การยูเนสโก จัดขึ้นเพื่อต้องการให้มัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลก และชุมชนท่องเที่ยวที่เข้าร่วมอบรม ได้รับประโยชน์จากข้อมูลและประสบการณ์จากสื่อสมัยใหม่ และสามารถนำกลับไปพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเส้นทางมรดกโลกทางพระพุทธศาสนาของชุมชนตนเองได้ในระดับสากล
โดยทั้ง อพท. และ ยูเนสโก เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เพื่อให้มรดกโลกทางพระพุทธศาสนาได้รับการอนุรักษ์ พัฒนาต่อยอดต่อไปในอนาคต โดยการประสานความร่วมมือกับหลายภาคส่วน เพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน สร้างสรรค์กิจกรรมที่ประทับใจในรูปแบบที่สืบสาน ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิตท้องถิ่น และมุ่งมั่นทำนุบำรุงรักษาไว้ซึ่งสิ่งอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา และร่วมสร้างสรรค์การผลิตสื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นการต่อยอดองค์ความรู้สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
โอกาสนี้ รองผู้อำนวยการ อพท. ยังได้บรรยายหัวข้อ “การท่องเที่ยวเชิงศาสนาภายใต้แผนงานการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของ อพท.” โดยระบุว่าการท่องเที่ยวเชิงศาสนามีความแตกต่างจากการท่องเที่ยวเชิงนันทนาการโดยทั่วไป ตรงที่เน้นการต่อยอดคุณธรรมและยกระดับจิตใจ โดยยกตัวอย่าง แหล่งท่องเที่ยวถ้ำนาคา ที่กำลังอยู่ในกระแสนิยมของนักท่องเที่ยวในขณะนี้ นักท่องเที่ยวต้องการที่จะเดินทางไปยังสถานที่ดังกล่าว ทำให้แต่ละวันถ้ำนาคา ต้องรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เกิดปัญหาเรื่อง Overtourism คือ มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินกว่าศักยภาพของพื้นที่ จึงจำเป็นต้องมีการจัดการอย่างเหมาะสม นอกจากนั้นยังควรสร้างคุณค่าให้นักท่องเที่ยวได้ประโยชน์จากการเดินทางไปถึง โดยควรส่งเสริมให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงศาสนา เชื่อมโยงเนื้อหาและเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนากับสถานที่ให้มีมากขึ้น
ทางด้าน ดร. เซือง บิ๊ก ฮั่นท์ หัวหน้าแผนกวัฒนธรรม ยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพ กล่าวว่า กิจกรรมนี้อยู่ภายใต้ โครงการเส้นทางมรดกโลก (World Heritage Journey) ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2561 โดยศูนย์มรดกโลกของยูเนสโก และ แนชันนัล จีโอกราฟิค ร่วมกันดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในแหล่งมรดกโลก และต่อมา ได้ขยายขอบเขตจากยุโรป มาสู่ภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียอาคเนย์ โดยเป็นการสื่อความผ่านเส้นทางที่พาดผ่านแหล่งมรดกทางพระพุทธศาสนา สำหรับการดำเนินการในประเทศไทย จะครอบคลุมแหล่งมรดกโลก 2 แหล่ง คือ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร และนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
นอกจากนั้น อพท. และยูเนสโก ยังได้รับเกียรติจากท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน กรมศิลปากร บรรยายในหัวข้อ “หามุมมองใหม่ๆ ในการเล่าทุกเรื่องประวัติศาสตร์” โดยชี้แนะว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ และเอกสารประวัติศาสตร์ จะทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่างจากการบอกเล่าเรื่องราวทั่วไป เพราะมีมุมมองเกร็ดความรู้มุขปาถะ (Oral Storytelling) ที่น่าจดจำ และแสดงความเป็นเอกลักษณ์ตัวตนของบุคคลได้ดีกว่า ตัวอย่างโครงการที่เคยมีประสบการณ์ ได้แก่ โครงการวังหน้านิรมิต ที่บอกเล่าเรื่องราวของโขน กับศิลปินแขนงต่างๆ
ขณะที่นายไมเคิล เทอเทิล (Michael Turtle) นักเขียนแนวท่องเที่ยวของยูเนสโก ซึ่งร่วมบรรยายในหัวข้อ “การท่องเที่ยวและการเขียนเพื่อสื่อโซเซียล” ได้กล่าวว่า เทคนิคการเล่าเรื่องนั้น ต้องชวนให้คิด และน่าติดตาม โดยมีเป้าหมายผู้รับสารที่เจาะจงเฉพาะกลุ่ม มีเนื้อหา และน้ำเสียงที่ตรงตามวัตถุประสงค์ ซึ่งนอกจากจะบรรยายสิ่งที่เห็น บุคลิกของสถานที่ (Personality of sites) และเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว เราต้องสื่อสารด้วยว่ารู้สึกอย่างไร มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของท้องถิ่นอย่างไร และสิ่งที่เห็นนั้นสร้างแรงบันดาลใจอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้นักท่องเที่ยวสนใจ คือ การแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวของท้องถิ่น (Local Attractions) และประสบการณ์หรือกิจกรรมที่คนท้องถิ่นควรนำเสนอให้นักท่องเที่ยวได้ทำได้สัมผัส (Local Experience) ทั้งสองสิ่งที่กล่าวมาจะช่วยสร้างคุณค่า (Value) ให้กับนักท่องเที่ยวได้มากกว่าค่าโดยสารเครื่องบินที่จ่ายไป
สำหรับนายไมเคิล เดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกมาแล้วกว่า 80 ประเทศ และมีผลงานเล่าเรื่องการเดินทางมากกว่า 1,000 ชิ้น และการมาประเทศไทยครั้งนี้ ได้ร่วมเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกในจังหวัดสุโขทัย และจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมมัคคุเทศก์เชี่ยวชาญมรดกโลก เพื่อรวบรวมจัดเก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของเมืองมรดกโลก รวมถึงมีกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้มีส่วนร่วมในการระดมความคิดเกี่ยวกับการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกทั้ง 3 แหล่ง (สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร) เพื่อจะเชื่อมโยงเป็นเส้นทางมรดกโลกทางพระพุทธศาสนานำเสนอกับนักท่องเที่ยวที่สนใจเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกทางด้านพระพุทธศาสนาให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ต่อไป
A4156