- Details
- Category: ท่องเที่ยว
- Published: Thursday, 29 August 2019 18:03
- Hits: 2511
กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาจัดงานเปิดตัว 'โครงการพัฒนาเครือข่ายท่องเที่ยวเชิงอาหาร '
ปัจจุบันพัฒนาการของอุตสาหกรรมและบริการด้านการท่องเที่ยว มีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยมีความหลากหลายและมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมและบริการด้านการท่องเที่ยวต้องมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่อยู่ตลอดเวลา โดยนักท่องเที่ยวในปัจจุบันมีความต้องการที่จะได้เรียนรู้ และสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ของเอกลักษณ์วัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นที่ไปเยือน รวมไปถึง ‘อาหาร’ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม และทิศทางการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ไว้ด้วยกัน นับว่าเป็นอีกทางเลือกของการท่องเที่ยว ทั้งนี้แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ล้วนนำอาหารท้องถิ่นมาเป็นเครื่องดึงดูดนักท่องเที่ยว เนื่องจากอาหารท้องถิ่นนั้นมีรสชาติอร่อย เป็นเอกลักษณ์ สามารถบอกเล่าเรื่องราวการดำเนินชีวิตที่สืบทอดกันมาได้
ดร.ปัญญา หาญลำยวง รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ( Gastronomy Tourism ) และการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้จัดโครงการพัฒนาเครือข่ายท่องเที่ยวเชิงอาหารขึ้นมา เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานอาหารไทยจากระดับชุมชน และสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยคัดเลือกตัวแทนจาก 30 ชุมชน ใน 5 ภูมิภาคของประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีแผนพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีจุดมุ่งหมายในการวางรากฐานและแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอย่างครอบคลุมทุกรูปแบบ เพื่อเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน การท่องเที่ยวทางอาหาร นับเป็นสิ่งใหม่ ที่กระทรวงฯ ให้ความสำคัญ และเตรียมการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นในประเทศไทย”ดร.ปัญญา กล่าว
ทั้งนี้ ชุมชนท้องถิ่นที่รับการคัดเลือกจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. ต้องเป็นร้านอาหาร ที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนนั้นๆ โดยไม่ได้มีการสร้างใหม่ อีกทั้งมีการบริหารจัดการโดยชุมชนอย่างแท้จริง และไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเพียงวิสาหกิจชุมชนเพียงเท่านั้น
2. เป็นชุมชนที่มีวัตถุดิบท้องถิ่น อันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ตามวิถี วัฒนธรรมของชุมชน และวัตถุดิบที่สามารถเพาะปลูก หรือจัดหาได้จากในท้องถิ่นนั้นๆ และต้องไม่เป็นวัตถุดิบที่นำเข้าจากพื้นที่อื่น หรือต่างประเทศ
3. มีความพร้อมในเรื่องสาธารณูปโภค อาทิ น้ำ ไฟ สถานประกอบการ เป็นต้น
4. มีทัศนคติพร้อมที่จะเรียนรู้สร้างสรรค์ และต้อนรับนักท่องเที่ยว รวมถึงกำลังคนในการให้บริการ บริหารจัดการ ดำเนินงานได้อย่างถาวร และยั่งยืน
5. ชุมชนที่เลือกจะต้องมีที่ตั้ง หรือมีการเชื่อมโยง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหารในท้องถิ่นนั้นๆ
Click Donate Support Web