- Details
- Category: ท่องเที่ยว
- Published: Friday, 09 August 2019 02:12
- Hits: 4180
ม.ขอนแก่น ปั้นชุมชนยางตลาด ต้นแบบท่องเที่ยวเชิงอาหาร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิรชญา ชัยเกษม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิก คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ศูนย์การท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิก จัดโครงการบริการวิชาการแก่ชุมชน ภายใต้ชื่อโครงการนวัตกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างสร้างสรรค์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการต้นทุนและกำหนดราคามาตรฐานสำหรับการท่องเที่ยวเชิงอาหารของคนในชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรม รวมถึงการจัดการความรู้และสื่อความหมายสร้างการเรียนรู้เชิงคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวโดยใช้อาหารพื้นถิ่น เป็นจุดขาย จัดทำมาตรฐานการบริการทางการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่สร้างสรรค์โดยใช้วัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่นเป็นฐาน ให้แก่ภาคีเครือข่ายการท่องเที่ยวในเขตตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์
ทั้งนี้ จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นอีกหนึ่งจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยโบราณกาล โดยมีความเจริญทางด้านอารยธรรมอันเก่าแก่ และยังมีการขุดค้นพบซากไดโนเสาร์ที่มีชื่อเสียง มีพิพิธภัณฑ์และศูนย์วิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์แบบและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย รวมทั้งงานหัตถกรรมพื้นบ้านต่างๆ โดยการดำเนินงานถ่ายทอดความรู้ในพื้นที่ชุมชนในครั้งนี้ ศูนย์การท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิก ได้ลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้และพัฒนาแนวทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับชุมชนยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และเล็งเห็นว่าพื้นที่นี้จะต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้สามารถเป็นชุมชนต้นแบบ ด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารพื้นถิ่น (Local Gastronomy Tourism) ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
“ในปี 2562 นี้ ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เน้นการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศและนักท่องเที่ยวชาวไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน วิถีถิ่น และสิ่งแวดล้อม โดยการใช้อาหารเป็นตัวแทนในการนำเสนอชีวิตความเป็นอยู่ สังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่างๆ เป็นการบ่งบอกว่านักท่องเที่ยวได้มาแหล่งท่องเที่ยวนั้นแล้ว โดยอาหารของแต่ละพื้นที่จะเป็นมากกว่าอาหารเพราะว่า วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ อัตลักษณ์ของพื้นที่จะถูกถ่ายทอดออกมาผ่านประเภทและชนิดของอาหารนั้นๆ ซึ่งถ้าหากนักท่องเที่ยวได้มีการลิ้มรสอาหารได้เรียนรู้วิธีทำและลงมือทำอาหารด้วยตัวเอง จะเป็นการการสร้างประสบการณ์ที่ประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว และที่สำคัญที่สุด เป็นการสร้างความมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์อัตลักษณ์ด้านอาหารพื้นถิ่น รวมทั้งเป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าอาหารของท้องถิ่น เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่ง “อาหาร” ของท้องถิ่นบ่งบอกความภาพรวมของแต่ละประเทศ แสดงให้เห็นว่าประเทศมีศักยภาพสูงที่จะทำให้เกิดกระบวนการแข่งขันทางการตลาดอย่างยั่งยืนได้” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิค กล่าว
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิค กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “สำหรับการดำเนินงานถ่ายทอดความรู้ในครั้งนี้ ศูนย์วิจัยการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิกได้ลงพื้นที่เพื่อนำข้อมูลวิเคราะห์อัตลักษณ์วัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่น และเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างการรับรู้ และกระตุ้นความสนใจด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหาร โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาจะใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน ซึ่งผู้เข้ารับอบรมกับโครงการฯ จะได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารในมิติด้านสังคม มิติด้านวัฒนธรรม และมิติด้านสิ่งแวดล้อม โดยสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชุมชนท้องถิ่น ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนมากยิ่งขึ้นและสามารถนำอาหารพื้นถิ่นที่มีอัตลักษณ์ของชุมชน นำออกเสนอขายในลักษณะวิสาหกิจชุมชน ผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้านอาหารออกสู่สังคมอื่นๆ ได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งเป็นรากฐานของประเทศ”
สำหรับโครงการนี้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมอบรมเพื่อนำความรู้และทักษะเกี่ยวกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวไปปรับใช้กับชุมชนท่องเที่ยวของตนเองอย่างคับคั่ง
AO08143
Click Donate Support Web