- Details
- Category: ท่องเที่ยว
- Published: Wednesday, 03 October 2018 19:11
- Hits: 6445
คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย มูลนิธิคีตรัตน์และหน่วยงานเอกชน ร่วมจัดงานแสดงดนตรีถวายความรำลึก
'49 in Memory-ในความทรงจำนิรันดร์'
เป็นวันครบรอบ 2 ปี วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นวันที่ชาวไทยทุกคนมิอาจลืมเลือน เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและสืบสานเรื่องราวพระเกียรติคุณ โดยเฉพาะทางด้านดนตรีให้เป็นที่ประจักษ์และจดจำต่อชนรุ่นหลังสืบไป ตลอดจนนำปณิธานการพัฒนาวิทยาการด้านดนตรีเพื่อสานต่อที่พระองค์ทรงริเริ่มไว้ คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย มูลนิธิคีตรัตน์ ร่วมกับศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรี่ยม และดิ เอ็มควอเทียร์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด พร้อมด้วยหน่วยงานเอกชน จึงได้ร่วมกันจัดงานแสดงดนตรีถวายความรำลึก '49 in Memory-ในความทรงจำนิรันดร์'
นางสุธาวดี ศิริธนชัย รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรี่ยม และ ดิ เอ็มควอเทียร์ กล่าวว่า “ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรี่ยม และ ดิ เอ็มควอเทียร์ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมจัดงานแสดงดนตรีถวายความรำลึก “49 In Memory ในความทรงจำนิรันดร์” เพื่อน้อมรำลึกครบรอบ 2 ปี วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิคีตรัตน์ และหน่วยงานเอกชนที่สนับสนุนอื่นๆ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2559 ทางศูนย์การค้าฯ ร่วมกับมูลนิธิคีตรัตน์ จัดโครงการ’คีตรัตนบรมราชานุสรณ์ ธ สถิตกลางใจราษฎร์นิรันดร์’ และในปี 2560 การจัดนิทรรศการที่ผสมผสานระหว่างดนตรีและศิลปะที่ได้รับแรงบันดาลใจจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ ภายใต้ชื่องาน’เสียง ศิลป์ แผ่นดินทอง’เพื่อเป็นการน้อมถวายความรำลึก และน้อมส่งเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และในปีนี้ ก็ได้จัดงานแสดงดนตรีถวายความรำลึก 49 In Memory ในความทรงจำนิรันดร์ เพื่อร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพทางการดนตรี ในโอกาสครบรอบ 2 ปี วันคล้ายวันสวรรคต 13 ตุลาคม พ.ศ. 2561 โดยในช่วงเวลาเดียวกันก็จะมีงาน คีตราชา โปรมิวสิก้าจูเนียร์ 2018 ในวันที่ 13-15 ตุลาคมนี้ด้วยเช่นกัน”
รองศาสตราจารย์ ดร.กิติมา อินทรัมพรรย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) มีพระเกียรติคุณทางดนตรีและพระมหากรุณาธิคุณต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นับเป็นความทรงจำที่ตราตรึงอยู่ในหัวใจของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่ลืมเลือน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรได้พระราชทานเพลงประจำมหาวิทยาลัย “เกษตรศาสตร์” โดยทรงพระราชนิพนธ์เพลงเกษตรศาสตร์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2509 และทรงดนตรีร่วมเพื่อทรงดนตรีร่วมกับวง อ.ส.วันศุกร์ อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปีพ.ศ. 2515 รวมจำนวน 9 ครั้ง โดยในงานแสดงดนตรีถวายความรำลึก 49 in Memory-ในความทรงจำนิรันดร์ วง Kasetsart University Wind Symphony หรือ KU Wind ของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับเกียรติในการร่วมแสดงดนตรีบทเพลงพระราชนิพนธ์ ร่วมกับวง Dutch Swing College Band จากประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยวง KU Wind เปรียบเสมือนสื่อทางวัฒนธรรมที่จะแสดงออกถึงเกียรติภูมิและศักยภาพของมหาวิทยาลัย และของประเทศไทย โดยมีผลงานสำคัญอันเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อสังคมก็คือการได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรตินิยมจากการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ การประกวดดนตรีโลก World Music Contest 2017 ครั้งที่ 18 ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งทุกท่านก็จะได้รับชมรับฟังการบรรเลงเพลงของวง KU Wind ในงานครั้งนี้ ตลอดเวลาระยะเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-15 ตุลาคม 2561”
นอกจากนี้ คณะมนุษยศาสตร์ได้จัดตั้ง'ศูนย์การเรียนรู้ทางดนตรีแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์'โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเผยแพร่พระปรีชาสามารถทางดนตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งคาดว่าจะได้รับอนุมัติจัดตั้งอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 นอกเหนือจากวัตถุประสงค์หลักแล้ว ศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ด้านดนตรีและการทดสอบมาตรฐานทางดนตรีฯ ให้แก่เยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป และเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของกรุงเทพมหานครตอนเหนือ โดยมีที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับ “พิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร” สถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ในอนาคต พร้อมการจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาดนตรี” เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนและบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ทางดนตรีแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลอดจนเสริมศักยภาพทางดนตรีของภาควิชาดนตรีให้มีความก้าวหน้าและได้มาตรฐานสากล”
นายเกส ปีเตอร์ ราเดอ เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘พระมหากษัตริย์นักดนตรีแจ๊ส’ โดยนอกจากจะทรงอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรแล้ว ยังทรงสนพระราชหฤทัยและมีพระปรีชาสามารถอย่างยิ่งในด้านดนตรีแจ๊ส ดังปรากฏในบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้ง 49 เพลง ที่มีทั้งบทเพลงที่ให้ความสนุกสนานครึกครื้น มีความแปลกใหม่และให้ความรู้สึกซาบซึ้ง เช่น เพลงพรปีใหม่ เพลงยิ้มสู้ และเพลงมาร์ชราชวัลลภ พระองค์ท่านทำให้คนไทยได้รู้จักดนตรีของโลกตะวันตก และทรงใช้เพลงแจ๊สเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ในโลก ดังนั้น เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช วงดนตรี ‘ดัตช์ สวิง คอลเลจ แบนด์’ (Dutch Swing College Band) จะอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์หลากหลายบทเพลงมาบรรเลง เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและสืบสานบทเพลงอันแสดงถึงพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระองค์ท่านให้อยู่คู่คนไทยและของโลก
วงดัตช์ สวิง คอลเลจ แบนด์ เริ่มต้นจากการเป็นวงดนตรีสมัครเล่นขนาดเล็กที่เปิด การแสดงครั้งแรกในวันประกาศอิสรภาพของเนเธอร์แลนด์จากกลุ่มนาซีเมื่อเกือบ 75 ปีก่อน และได้เติบโตจนกลายเป็นวงดนตรีแจ๊สที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งนี้ สมาชิกรุ่นแรกของวงมีความหลงใหลในดนตรีแจ๊สเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แม้จะได้แรงบันดาลใจจากดนตรีแจ๊สของอเมริกา แต่ก็ได้พัฒนาจนกลายเป็นวงดนตรีแจ๊สแบบชาวดัตช์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า ดัตช์ สวิง คอลเลจ แบนด์ จะสามารถถ่ายทอดความรักและพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ออกมาในบทเพลงที่อัญเชิญมาบรรเลง และหวังว่าบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านจะยังคงทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมวัฒนธรรมระหว่างชาติของเราต่อไปในอนาคต”
รองศาสตราจารย์ ดร. ภาธร ศรีกรานนท์ รักษาการประธานกรรมการมูลนิธิคีตรัตน์ และเป็นผู้ถวายงานด้านดนตรี แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มากว่า 30 ปี ในฐานะนักดนตรีวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ กล่าวว่า “ตามที่ได้เคยเล่าไปแล้วหลายครั้งในหลายโอกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดดนตรีแจ๊ส โดยเฉพาะดนตรีนิวออลีนส์แจ๊ส ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศสหรัฐฯ แต่ทั้งนี้ในสมัยที่ยังทรงประทับอยู่ในทวีปยุโรป ดนตรีนิวส์ออลีนส์ที่ทรงได้ฟังและต่อมาได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับพระองค์ด้วยเช่นกันนั้นเป็นดนตรีนิวออลีนส์ที่บรรเลงในยุโรป เพราะนักดนตรีที่เป็นคนแอฟริกันอเมริกันในขณะนั้นออกจากสหรัฐอเมริกามาแสดงในยุโรปและได้ทำให้ดนตรีนิวออลีนส์แพร่หลายในยุโรปอย่างมาก Dutch Swing College Band ก็เป็นวงดนตรีแจ๊สระดับโลกอีกวงหนึ่งที่มีชื่อเสียงมาก มีอายุยาวนานกว่า 70 ปี เป็นอีกวงที่พระองค์ท่านรู้จักและเคยได้ฟังสมัยที่ยังทรงประทับอยู่ในต่างประเทศ เมื่อครั้งที่มีแนวคิดว่าจะนำนิวออลีนส์มาถวายท่านถึงเมืองไทย นอกจากวงแจ๊สจากเมืองนิวออลีนส์แล้ว ก็ยังมีวง Dutch Swing College Band ที่ตั้งใจจะนำมาเล่นถวายเฉพาะพระพักตร์ แต่ก็ทรงสวรรคตเสียก่อน”
“ในโอกาสที่ครบ 2 ปีของการสวรรคตนี้ จึงตั้งใจอยากนำวงนี้มาเล่นถวายความรำลึกแด่พระองค์ท่านก็ครบสมดังที่ตั้งใจแล้ว ทั้งนี้ให้คนไทยได้มาร่วมกันถวายความรำลึกผ่านดนตรีที่ท่านโปรดพร้อมๆ กันให้ดังไปถึงข้างบน ให้ท่านอยู่ในใจในความทรงจำที่ดีที่สุดของพวกเราตลอดไป และจะนำปณิธานดีๆ สิ่งดีๆ ที่ทรงสอนพวกเราไว้นำมาปฏิบัติ และสืบสานให้ดียิ่งๆขึ้นไป และเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทางดนตรีต่อไปให้เยาวชนรุ่นหลังและประชาชนด้วย ผมได้เห็นและทราบวัตถุประสงค์ของจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ทางดนตรีแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” เห็นว่าเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ทางคีตรัตน์ จึงได้สนับสนุนโครงการดังกล่าวโดยมอบทุนสนับสนุนเป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท
ร่วมทั้งความร่วมมือในการทำงานร่วมกันในอนาคต โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีส่วนช่วยกระดับความสามรถในการเรียนรู้ และพัฒนาการเรียนรู้วิชาการทางดนตรีของคนไทย ทั้งนี้ขอขอบคุณทางคณะมนุษยศาสตร์ วง KU Wind ท่านเอกอัครราชทูต เนเธอแลนด์ประจำประเทศไทย วง Dutch Swing College Band สื่อมวลชน ท่านผู้มีเกียรติ ท่านผู้ใหญ่ที่ให้เกียรติมาร่วมงาน ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บริษัทบุญรอดบริวเวอรรี่ จำกัดและผู้สนับสนุนทุกท่านที่ช่วยกัน ร่วมมือกันในการจัดงานคอนเสิร์ตในการถวายความรำลึกในครั้งนี้ครับ”
งานแสดงดนตรีถวายความรำลึก'49 in Memory-ในความทรงจำนิรันดร์'จัดขึ้นในระหว่าง วันที่ 13-15 ตุลาคม 2561 เวลา 17.00–21.00 น. ณ บริเวณ ควอเทียร์ พาร์ค ชั้น M ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ ภายในงานจะได้รับชมการแสดงดนตรี จากวงดนตรีไทยและต่างประเทศ นำโดยวง KU WIND และ Dutch Swing College Band วง The Jazzminions ซึ่งเป็นการแสดงทั้งแบบวงคลาสสิคและแบบแจ๊ส ติดตามข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมของมูลนิธิคีตรัตน์ ได้ที่ www.facebook.com/KitaratFoundation