WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaa7aทเสบ

ทีเส็บ มอบสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ 114 แห่ง เปิดมาตรฐานใหม่ประเมินสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ (Special Event Venue) รับธุรกิจขยายตัว

    สถานที่จัดงานไมซ์ 114 แห่งในกรุงเทพฯ ไมซ์ซิตี้ และเมืองรอง รวม 349 ห้องทั่วประเทศ รับมอบสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย หรือ Thailand MICE Venue Standard (TMVS) ประจำปี 2561 ผู้ประกอบการชี้สร้างความเชื่อมั่นและดึงผู้จัดงานจากต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ทีเส็บรุกต่อขยายการประเมินมาตรฐานสู่ประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ (Special Event Venue) รองรับการขยายตัวของธุรกิจ และความต้องการจัดงานในสถานที่แปลกใหม่ เพื่อยกระดับสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษให้ได้มาตรฐานทัดเทียมนานาชาติ และตอกย้ำการเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดงานที่หลากหลายแห่งภูมิภาค

    นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บมีนโยบายหลักที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทยให้เติบโตทัดเทียมกับการแข่งขันของนานาประเทศ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้หลักของประเทศ โครงการมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย หรือ Thailand MICE Venue Standard (TMVS) เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อที่ที่ พัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการด้านสถานที่จัดงานไมซ์ให้ได้มาตรฐานสากล เนื่องจากการมีมาตรฐานจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือ และยืนยันความเป็นมืออาชีพของสถานที่จัดงานในประเทศไทย เพื่อให้สามารถดึงงานและผู้จัดงานทั้งในและต่างประเทศเข้ามาจัดงานได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งในการประเมินมาตรฐาน TMVS นั้น ทีเส็บ ให้ความสำคัญทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของสถานที่และบริการ รวมถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ประกอบการสถานที่จัดงานไมซ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน TMVS ที่ผ่านมาพบว่า การได้รับตราสัญลักษณ์ทำให้ลูกค้ากลุ่มเดิมมั่นใจในการบริการมากขึ้น เพิ่มลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าจากต่างประเทศ โดยตัวชี้วัดของมาตรฐาน TMVS สามารถนำมาเป็นตัวกำหนดการตรวจสอบเพื่อรักษามาตรฐานให้คงที่และมีคุณภาพได้อย่างสม่ำเสมอ

    ในปี พ.ศ. 2561 มีผู้ประกอบการสถานที่จัดงานไมซ์ที่ผ่านการประเมินมาตรฐานสถานที่จัดงาน ประเภทห้องประชุม เพิ่มขึ้นจำนวนทั้งสิ้น 107 แห่ง 332 ห้อง แบ่งเป็น กลุ่มศูนย์ประชุม (Convention Center) จำนวน 46 ห้อง กลุ่มโรงแรมและ   รีสอร์ท (Hotels/Resorts) จำนวน 265 ห้อง กลุ่มสถานที่ราชการและเอกชน (Public and Private Venue) จำนวน 21 ห้อง ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพมหานคร เมืองไมซ์ซิตี้ และเมืองรอง เพื่อรักษาคุณภาพและการให้บริการ อาทิ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ / บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด / ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค / โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอนด์ บางกอก คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ / โรงแรมจอมเทียน ปาล์มบีช โฮเต็ลแอนด์รีสอร์ท (ชลบุรี) / โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ (ขอนแก่น) และโรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา (ภูเก็ต) เป็นต้น ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานจำนวน 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 - 2563 หลังจากนั้นผู้ผ่านการรับรองจะต้องมาขอรับการประเมินใหม่อีกครั้ง

    ส่วน ประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้า ที่ผ่านการประเมินประจำปี พ.ศ. 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 7 แห่ง 17 ห้อง แบ่งเป็น ประเภทที่ 1 พื้นที่ขั้นต่ำขนาด 5,000 ตร.ม. จำนวน 6 แห่ง และประเภทที่ 2 พื้นที่ขั้นต่ำขนาด 1,000 ตร.ม. จำนวน 1 แห่ง ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพมหานคร เมืองไมซ์ซิตี้ ได้แก่ 1.ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 2.พัทยา เอ็กซิบิชั่น 3.รอยัล พารากอน ฮอลล์ 4.โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ 5.ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค 6.ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี และ 7. ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต

    สำหรับ แผนดำเนินงานในปีนี้ จะแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนแรก การขยายความเป็นมาตรฐานสากลของสถานที่จัดงานไมซ์ไทย ด้วยการสานต่อ โครงการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย ประเภทห้องประชุม (Meeting room) และประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้า (Exhibition Venue) ในเมืองไมซ์ซิตี้ทั้ง 5 แห่ง เริ่มจาก กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต และขอนแก่น และเมืองรอง โดยร่วมมือกับ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (ISO) เพื่อยกระดับมาตรฐานสถานที่จัดงานในประเทศไทยให้ได้รับมาตรฐานตามเกณฑ์มาตรฐานรองรับการจัดงานในระดับสากล และสามารถผ่านการประเมินให้ได้รับตราสัญลักษณ์รับรอง ส่วนที่สอง การเพิ่มประเภทการตรวจประเมินมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย ประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ หรือ Special Event Venue)

    “สถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ คือ สถานที่จัดงานที่เกิดจากวาระโอกาสพิเศษ ไม่ว่าจะเพื่อความบันเทิง ความเกี่ยวข้องด้านวัฒนธรรมหรือความเชื่อ เหตุผลเฉพาะบุคคลหรือองค์กร ซึ่งจัดขึ้นนอกเหนือจากกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวัน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ เฉลิมฉลอง สร้างความบันเทิงหรือสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับกลุ่มคนต่างๆ ซึ่งการจัดกิจกรรมพิเศษเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้สู่หลายภาคส่วนในพื้นที่ทั่วประเทศ อาทิ ผู้จัดงาน (Organizer) ธุรกิจที่มาร่วมงาน เจ้าของสถานที่จัดงาน บริการขนส่งสาธารณะ บริการสาธารณูปโภค และอีกมากมายที่ได้รับประโยชน์ โดยการประเมินมาตรฐานสถานที่จัดงาน ประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความสำคัญกับสถานที่ที่สามารถรองรับการจัดกิจกรรมที่มีความหลากหลายของกลุ่มองค์กรทั้งในและต่างประเทศได้ เช่น สวนสาธารณะ สวนรุกชาติ ชายหาด อุทยานแห่งชาติ สนามกีฬา โบราณสถาน ศูนย์วัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีศักยภาพเกิดการลงทุนก่อสร้าง หรือปรับปรุงสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษเพิ่มขึ้น และยังเป็นการขับเคลื่อนยกระดับให้อุตสาหกรรมไมซ์ไทยเติบโตอย่างรวดเร็วและมั่นคงต่อไป

     สถานที่จัดกิจกรรมพิเศษที่จะขอรับการตรวจประเมินนั้น จะต้องมีเจ้าของ หรือผู้รับผิดชอบบริหารจัดการโดยถูกต้องตามกฎหมาย มีจุดรวมผู้ร่วมงาน (Holding Area) ที่ใช้ในกิจกรรมหลัก การแสดง จัดเลี้ยง หรือประกอบพิธีการที่สำคัญของงาน ที่มีขนาดที่ดินผืนเดียวกันต้องไม่น้อยกว่า 300 ตารางเมตร มีพื้นที่สนับสนุน (Supporting Area) ที่เจ้าของสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ   จัดไว้เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมพิเศษ กำหนดเป็นสัดส่วน 3:1 ไม่รวมพื้นที่จอดยานพาหนะ ไม่เป็นสถานที่ในเขตที่ถูกทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่หรือบริเวณอันตราย ส่วนเกณฑ์การตรวจประเมินจะพิจารณาจากตัวชี้วัด 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านกายภาพ (Physical Component – P) ทั้งในส่วนของพื้นที่จุดรวมผู้ร่วมงาน พื้นที่สนับสนุน และสิ่งสนับสนุนต่างๆ 2) ด้านความปลอดภัย (Safety and Security Component - SF) มีการเฝ้าระวัง การป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้น ทั้งภัยจากการปฏิบัติงาน ภัยจากบุคคล ภัยก่อการร้าย และภัยธรรมชาติ 3) ด้านการสนับสนุน (Supporting Component – SP) มีการสนับสนุนและการให้บริการ ทั้งในด้านสถานที่ อุปกรณ์ ข้อมูล และบุคลากร และ 4) ด้านการจัดการอย่างยั่งยืน (Sustainability Component – ST) มีความรับผิดชอบต่อสังคมการกระจายรายได้ และการรักษาสิ่งแวดล้อม

   สำหรับ ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการสถานที่จัดงานไมซ์ที่เข้าร่วมโครงการ TMVS จะได้รับ นอกเหนือจากการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานคุณภาพการให้บริการและสถานที่จัดงานที่ได้มาตรฐานแล้ว ยังจะมีการดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์และมาตรฐาน TMVS ให้เป็นที่รู้จักในประเทศไทย พร้อมประชาสัมพันธ์รายชื่อสถานประกอบการโดยผลิตเอกสารส่งเสริมมาตรฐาน TMVS Directory ซึ่งจะได้รับการสื่อสารไปทั่วโลกในฐานะสถานที่จัดงานไมซ์ที่ได้รับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ทีเส็บยังได้นำมาตรฐาน TMVS ไปพัฒนาต่อยอดเป็นมาตรฐาน ASEAN MICE Venue Standard (AMVS) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไมซ์ในตลาดโลก ส่งผลให้รองรับกลุ่มเป้าหมายที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในระดับภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย ด้านผู้ใช้บริการที่เลือกใช้สถานที่จัดงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน TMVS และ AMVS นั้น จะเป็นการสร้างความมั่นใจด้านการบริการและคุณลักษณะทางกายภาพของสถานที่จัดงานที่มีมาตรฐาน สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับงานไมซ์ที่มาจัดในสถานที่นั้นๆ ได้ต่อไป

    ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองสถานที่การจัดงานโครงการ TMVS รวมทั้งสิ้น 315 แห่ง 791 ห้องทั่วประเทศ ส่วนมาตรฐาน AMVS นั้นมีผู้ประกอบการไทย 13 รายที่ได้รับมาตรฐานดังกล่าว ได้แก่ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค / โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพ / โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพ / โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ / โรงแรมเดอะ สุโกศล / โรงแรมรามาการ์เด้นส์ / โรงแรมอโนมาแกรนด์ กรุงเทพ / โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพ /   โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ กรุงเทพฯ สีลม / โรงแรมพูลแมน พัทยา จี / โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเตล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ / โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ภูเก็ต และ โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา

    “สิ้นปีนี้ ทีเส็บตั้งเป้าหมายการดำเนินโครงการ TMVS ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ ประเภทห้องประชุม จำนวน 150 แห่ง (ต่ออายุ 100 แห่ง / รายใหม่ 50 แห่ง) ประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้า จำนวน 5 แห่ง และประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ จำนวน 20 แห่ง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ แหล่งท่องเที่ยว สวนสาธารณะ สนามกีฬา และห้างสรรพสินค้า โดยมีอายุการรับรอง 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2562-2564” นายจิรุตถ์ กล่าวทิ้งท้าย

เกี่ยวกับโครงการ Thailand MICE Venue Standard (TMVS)

     ทีเส็บได้ริเริ่มพัฒนาการดำเนินงานมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ไทย หรือ Thailand MICE Venue Standard (TMVS) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมไมซ์ โดยมี 3 กลุ่มเป้าหมายหลักที่ได้รับการส่งเสริมมาตรฐาน ได้แก่ กลุ่มศูนย์ประชุม กลุ่มโรงแรมหรือรีสอร์ท และและกลุ่มหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ต่อมาจึงได้เพิ่มประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้าเข้าไปในหลักเกณฑ์การรับรองมาตรฐานด้วย โดยประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เริ่มกำหนดมาตรฐานเพื่อทำการตรวจประเมินสถานประกอบการไมซ์ และในเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2559 ได้มีมติจากคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวของอาเซียนให้ใช้เป็นมาตรฐานสถานที่จัดงานในระดับอาเซียน (ASEAN MICE Venue Standard) นับเป็นความสำเร็จที่ทำให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมไมซ์ระดับภูมิภาค

 

Click Donate Support Web

 BIT FUN728x90

yobit 560 60

8

f1 728x90 ru

468x60 bit

468x60 DOG

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!