WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

5aสญญาณสขภาพด

5 สัญญาณสุขภาพดี

     ปัจจุบันคนยุคใหม่ตื่นตัวเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทั้งหันมาออกกำลังกาย เริ่มทานอาหารคลีน ส่วนจะดูแลสุขภาพกันมากน้อยขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ชีวิตและการจัดสรรเวลาของแต่ละคน บางคนคิดว่าตราบใดที่ไม่อ้วน ไม่เป็นโรค ก็พอใจแล้ว ขณะที่อีกคนวางเป้าหมายการมีซิกซ์แพ็ค แล้วก็มีคนที่ทั้งออกกำลังและดูแลอาหารการกินไปพร้อมๆ กัน โดยมีปลายทางเดียวกัน คือ การมีสุขภาพดี

   แล้วการมีสุขภาพดี หมายถึงอะไร?

    เพราะบางครั้งเราก็ได้ยินข่าวคนใกล้ตัวที่ดูแข็งแรงสุขภาพดี แต่กลับเข้าโรงพยาบาลล้มหมอนนอนเสื่ออยู่เรื่อยๆ หรือผู้ชายบางคนดูภายนอกมีกล้ามโต แต่พอใช้แรงยกของหนักๆ กลับหมดแรงเร็วกว่าผู้ชายหุ่นผอมๆ บางคนซะอีก จึงทำให้หลายคนมีคำถามว่า แล้วเราจะใช้เกณฑ์อะไรวัดว่า การจะเป็นคนสุขภาพดีมันต้องมีอะไรบ้าง

    วันนี้ จึงขอชวน คุณทนงศักดิ์ วงษาโสม Fitness Training and Development Manager จากฟิตเนส เฟิรส์ท กูรูตัวจริงเรื่องสุขภาพมาไขข้อสงสัยกันเลย

    “การที่จะดูว่าใครสุขภาพดี ไม่ได้ดูจากน้ำหนักตัวว่าอ้วนหรือผอม และก็ไม่ได้ดูมวลกล้ามเนื้อ แต่จะต้องพิจารณาองค์รวมทั้งหมด โดยเกณฑ์หนึ่งที่สามารถบอกได้ว่าสุขภาพร่างกายดีหรือไม่ คือ สมรรถภาพทางกายกับสุขภาพ เนื่องจากร่างกายที่สามารถใช้งานกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมสะท้อนถึงลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันที่สัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึกด้วย ดังนั้นการมีสมรรถภาพทางกายที่ดีจึงส่งผลให้มีสุขภาพดี”

     สมรรถภาพทางกายกับสุขภาพ (Health-Related Physical Fitness) มีองค์ประกอบ 5 อย่าง

    1)ความทนทานของระบบไหลเวียนโลหิต (Cardiovascular endurance) คือ สมรรถภาพของระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจ การทำงานของหัวใจและปอดที่สอดประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลำเลียงออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ขณะที่ร่างกายใช้งานอย่างต่อเนื่องได้อย่างเพียงพอ

    สังเกตจากการใช้ชีวิตประจำวันง่ายๆ เช่น เดินขึ้นบันไดรถไฟฟ้าแล้วหอบหรือเปล่า ตอนปั่นจักรยานที่สนามเขียว (ซึ่งมีระยะทาง 23.5 กิโลเมตร) ต้องแวะจุดพักเพื่อหายใจกี่ครั้ง หัวใจจะระเบิดออกมานอกซี่โครงหรือยัง เป็นต้น

     ถ้าความทนทานของระบบไหลเวียนโลหิตดี ร่างกายลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปสู่ส่วนต่างๆ ได้ดีระบบเผาผลาญมีประสิทธิภาพ ช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย และความเครียดจะลดลง

   2)ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Muscular strength) คือ กำลังสูงสุดหรือแรงต้านของกล้ามเนื้อขณะใช้งานรูปแบบต่างๆ ในความพยายามครั้งหนึ่ง เช่น การยกน้ำหนัก การผลักประตูบานใหญ่ การยกเก้าอี้ เป็นต้น

      นอกจากจะใช้แรงในการผลัก ยก หรือดึง สิ่งของต่างๆ แล้ว เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงจะช่วยพยุงข้อต่อและเส้นเอ็นต่างๆ ขณะเคลื่อนไหวจึงไม่บาดเจ็บง่าย ถือเป็นการป้องกันความปวดเมื่อยและการเจ็บปวดเรื้อรังสุดฮิตอย่างออฟฟิศซินโดรมเป็นอย่างดี

   ถ้ากล้ามเนื้อแข็งแรง จะช่วยทำให้ความสามารถและประสิทธิภาพในการทำทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตัวเองดีขึ้น การบาดเจ็บหรือปวดเรื้อรังบริเวณกล้ามเนื้อจะลดลง บุคคลิกภาพและการจัดวางท่าทางและตำแหน่งของร่างกายจะดีขึ้น

     3)ความทนทานของกล้ามเนื้อ (Muscular endurance) คือ ขีดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเป็นระยะเวลาหนึ่งโดยไม่รู้สึกเหนื่อยล้า ทั้งการใช้อยู่กับที่และการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ลองนึกถึงเวลายกของหนักค้างไว้ การขึ้นบันไดหลายชั้น การปั่นจักรยานระยะไกล เป็นต้น

       ถ้ากล้ามเนื้อทนทาน เราจะมีความสามารถในการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายต่อเนื่องโดยไม่บาดเจ็บ และยังช่วยเสริมความทนทานของระบบไหลเวียนโลหิตอีกด้วย

      4)ความยืดหยุ่น (Flexibility) คือ ขีดความสามารถของการขยับข้อต่อหรือกลุ่มข้อต่อขณะเคลื่อนไหว ร่างกายที่มีความยืดหยุ่นสูงจะสามารถเคลื่อนไหวผ่านข้อต่อในมุมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คงเคยเห็นนักยิมนาสติกหรือนักบัลเล่ต์ที่มีความยืดหยุ่นตัวมากๆ กันมาแล้ว สำหรับคนทั่วไปที่ไม่คิดว่าจะเตะขาสูงหรือฉีกขาอะไรขนาดนั้น แต่การยืดหยุ่นก็ช่วยให้เราเส้นไม่ยึดตอนก้าวขาข้ามน้ำขังหรือเอี้ยวตัวหลบมอเตอร์ไซค์บนฟุตบาท แถมไม่เป็นตะคริวเวลาวิ่งออกกำลังอีกต่างหาก

    บางคนอาจจะตัวอ่อนตามธรรมชาติ บางคนต้องหมั่นพัฒนาตัวเองจนตัวอ่อนในที่สุด ดังนั้นความยืดหยุ่นจึงไม่เกี่ยวกับรูปร่างและอายุ บ่อยครั้งเราถึงเห็นว่า สาวๆ พลัสไซส์ตัวอ่อนและยืดหยุ่นได้ดีกว่าพ่อรูปหล่อกล้ามใหญ่บางคนก็ได้

    ถ้าร่างกายยืดหยุ่น จะเพิ่มขีดความสามารถในการเคลื่อนไหว ลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหว ร่างกายมีความสมดุล รักษาสภาพการทำงานของข้อต่อ และลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย

              5)องค์ประกอบร่างกาย (Body Composition) คือ อัตราส่วนของ น้ำ มวลกระดูก กล้ามเนื้อ และไขมัน ในร่างกายเมื่อเทียบกับส่วนสูงและน้ำหนักตัว คำนวณเบื้องต้นจากดัชนีมวลกาย(BMI: Body Mass Index)

              องค์ประกอบร่างกายไม่ได้วัดกันแค่น้ำหนักเท่านั้น เพราะบางคนมีรูปร่างและส่วนสูงใกล้เคียงกัน อีกคนน้ำหนักน้อยกว่าเพราะไม่ค่อยมีมวลกล้ามเนื้อ ขณะที่อีกคนมีน้ำหนักมากกว่าเพราะมีมวลกล้ามเนื้อมากกว่า น้ำหนักจึงไม่ได้บอกว่าใครมีสุขภาพดีกว่ากัน เพราะมวลกล้ามเนื้อมีน้ำหนักมากกว่ามวลไขมันอยู่แล้ว

              ถ้าองค์ประกอบร่างกายดี จะมีสัดส่วนรูปร่างเหมาะสม กระบวนการทำงานของอวัยวะมีประสิทธิภาพ สุขภาพโดยรวมดี ลดความเสี่ยงของโรค เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

              รู้อย่างนี้แล้ว จะได้สำรวจตัวเองและค่อยๆ ปรับไลฟสไตล์และการออกกำลังกายเพื่อได้เป็นคนสุขภาพดีอย่างแท้จริง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!