- Details
- Category: กีฬา
- Published: Wednesday, 28 November 2018 18:56
- Hits: 8048
สสว.จับมือ ม.มหิดล ผนึกกำลัง สร้างโอกาสการพัฒนาขีดความสามารถ ยกระดับผู้ประกอบการกีฬา แข่งขันในอาเซียนและตลาดโลก
สสว. MOU จับมือ ม.มหิดล เรื่องความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจด้านกีฬาของประเทศไทย และส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทั่วไป นักกีฬาสมัครเล่น และนักกีฬาอาชีพ เพื่อพัฒนาบุคลากร การฝึกอบรม และกิจกรรมต่างๆ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจด้านกีฬาของประเทศไทย
ณ ห้องประชุม 408 อาคารบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยบัณฑิตวิทยาลัย ได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการร่วมมือทางวิชาการ เพื่อพัฒนาการศึกษา การวิจัย และพัฒนานวัตกรรมเพื่อผู้ประกอบการ เพื่อสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจด้านกีฬาของประเทศไทย และส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทั่วไป นักกีฬาสมัครเล่น และนักกีฬาอาชีพ อีกทั้งมีเจตจำนงอย่างแน่วแน่ที่จะร่วมมือในการศึกษา การวิจัย การพัฒนานวัตกรรมเพื่อผู้ประกอบการ การพัฒนาบุคลากร การฝึกอบรม และกิจกรรมต่าง ๆ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจด้านกีฬาของประเทศไทย
ศ.นพ. บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และพัฒนานวัตกรรมเพื่อผู้ประกอบการ ว่า วัตถุประสงค์ของการลงนามครั้งนี้ สสว. และ มหาวิทยาลัยมหิดล จะร่วมมือกันในกรอบวัตถุประสงค์ ดังนี้
1) สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัย และพัฒนานวัตกรรมเพื่อผู้ประกอบการ และการบริการสังคมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผู้ประกอบการด้านกีฬา 2) ร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร เสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติงาน การแลกเปลี่ยนบุคลากร และทรัพยากรระหว่างกัน รวมถึงการขยายเครือข่ายความร่วมมือไปหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 3) ร่วมมือในการศึกษาวิจัย พัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม และเผยแพร่องค์ความรู้ในการพัฒนาผู้ประกอบการด้านกีฬา และ 4) ร่วมมือในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการธุรกิจด้านกีฬา
ศ.นพ. บรรจง กล่าวต่อว่า ภายใต้บริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว SME หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นกลไกหนึ่งและเป็นพลังสำคัญที่สนับสนุนพัฒนาการเติบโตในภาคส่วนของเศรษฐกิจของทุกประเทศ ไม่ว่าธุรกิจเล็กหรือธุรกิจใหญ่ให้เดินไปข้างหน้า และจากกระแสคนไทยที่ตื่นตัวกับกระแสรักสุขภาพ สอดรับกับการเติบโตกีฬาประเภทต่าง ๆ หรือ การออกกำลังกายใหม่ๆ ด้วยอุปกรณ์ออกกำลังกายต่าง ๆ ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน และยกระดับธุรกิจด้านสุขภาพ เป็นผลให้มีการสร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ หรือ อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการสนับสนุนด้านการออกกำลังกายหรือกีฬา เพื่อสุขภาพพลานามัยที่ดีของคนไทย และพัฒนาศักยภาพนักกีฬาสมัครเล่น หรือนักกีฬาอาชีพ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้นำด้านการศึกษาได้ให้ความสำคัญกับการนำองค์ความรู้จากศาสตร์ต่าง ๆ มาบูรณาการ เพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์การออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการของผู้ประกอบการ สร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการ หรือสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจด้านกีฬาให้ครบวงจร เพื่อสามารถแข่งขันในตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็ง
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า ในปีที่ผ่านมา สสว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ SME ที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งการพัฒนาผู้ประกอบการโดยการสร้างให้เกิดการรวมกลุ่มหรือเครือข่าย ทำให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
ผอ.สสว. เผยอีกว่า สสว. ได้นำนโยบายการพัฒนาเครือข่ายหรือคลัสเตอร์มากำหนดแนวทางการส่งเสริม SME เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ในปี 2561 โดยเน้นการกระตุ้นความเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการ คำนึงถึงความต้องการของตลาด ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการในเครือข่ายให้มีศักยภาพในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ
นายสุวรรณชัย กล่าวอีกว่า สำหรับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลครั้งนี้ เป็นการต่อยอดการทำงานของสสว. ในการส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการในธุรกิจด้านสุขภาพ จากข้อมูล สสว. คือ มีจำนวนผู้ประกอบการ SME ที่ประกอบกิจกรรมด้านกีฬา ปี 2560 จำนวน 7,534 ราย มีอัตราการขยายตัวของผู้ประกอบการ SME ที่ประกอบกิจกรรมด้านกีฬา ปี 2559 และ ปี 2560 โดยเฉลี่ย 2.7 % เฉพาะกิจกรรมด้านการจัดการแข่งขันกีฬา มีอัตราขยายตัวมากถึง 11.2 % และการดำเนินกิจการสถานที่ออกกำลังกาย 9.2%
และจากการดำเนินงานที่ผ่านมาในปี 2561 สสว. ได้ดำเนินการส่งเสริมธุรกิจทางด้านสุขภาพ ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายมวยไทยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน กรุงเทพ และปริมณฑล ให้เกิดการยกระดับศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ มากกว่า 510 ราย เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า 20.71 ล้านบาท โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่งหากมีการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่องก็จะสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล ดังนั้น ในปี 2562 สสว.จึงได้ดำเนินการส่งเสริมผู้ประกอบการเครือข่ายธุรกิจกีฬา Sport Economy ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือและเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้รวมกันเป็นคลัสเตอร์ที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดย สสว. และ ม.มหิดล จะจัดเวทีแลกเปลี่ยน รับฟังความคิดเห็น และความต้องการเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริม และพัฒนาของผู้ประกอบการด้านกีฬาอย่างเป็นรูปธรรม
“การลงนาม MOU ครั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมองค์ความรู้ด้านกีฬา 7 หมวด เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการ ซึ่ง สสว. เชื่อว่า จะสามารถให้การสนับสนุน เพื่อพัฒนาผู้ประกอบ การทางด้านกีฬาให้มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ SME ได้อย่างดียิ่ง และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรที่ดี ในการที่จะร่วมกันสนับสนุนอุตสาหกรรมด้านกีฬาในประเทศไทย ให้พร้อมที่จะก้าวไปสู่เวทีเศรษฐกิจโลกต่อไป” นายสุวรรณชัย กล่าว
ศ.ดร.พญ. พัชรีย์ เลิศฤทธิ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยมหิดล โดยบัณฑิตวิทยาลัย มีหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา และงานวิจัยที่ครอบคลุมศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในด้านกีฬา ภายใต้ส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะกายภาพบำบัด คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา และ สถาบันโภชนาการ ซึ่งศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกีฬานี้ จะเป็นวิทยาการที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ และนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างเสริมคุณภาพ และการดูแลสุขภาพของประชาชน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพนักกีฬาสมัครเล่น และนักกีฬาอาชีพ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีความพร้อมและศักยภาพในการให้การสนับสนุนในด้านวิชาการ และองค์ความรู้ต่างๆ ในด้านกีฬาให้กับผู้ประกอบการ และสามารถสร้างโอกาสยกระดับผู้ประกอบ การ SME ได้ในหลากหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มฟิตเนต กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อนักกีฬา เป็นต้น
สำหรับ ศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ทางด้านกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดลมีครบทั้ง 7 ศาสตร์ ได้แก่ เวชศาสตร์การกีฬา โภชนาการ จิตวิทยาการกีฬา ชีวกลศาสตร์ สรีระวิทยา การฝึกสอนกีฬา การจัดการกีฬา ซึ่งองค์ความรู้ในศาสตร์ดังกล่าวจากส่วนงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยมหิดล สามารถให้การสนับสนุน เพื่อพัฒนาผู้ประกอบ การทางด้านกีฬาให้มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ SME ได้อย่างดียิ่ง เช่น
วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มีการสอนหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา การร่วมมือและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไป เช่น การร่วมมือกับผู้ประกอบการในการทำวิจัยเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ เช่น ชุดชั้นในสุภาพสตรีสำหรับการออกกำลังกาย รองเท้ากีฬาสำหรับกีฬาแต่ละประเภท คลินิกทางด้านกีฬา และการทดสอบผลิตภัณฑ์
สถาบันโภชนการ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มีการสอนหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ รวมถึงการวิจัยและบริการวิชาการ ได้แก่ การประเมินภาวะโภชนาการ เครื่องมือที่ใช้วัดองค์ประกอบของร่างกาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬาและคนไข้ โปรแกรมประเมินคุณค่าสารอาหาร การให้คำปรึกษา และองค์ความรู้ด้านโภชนาการ
คณะกายภาพบำบัด มีคลินิกกายภาพบำบัดให้กับนักกีฬา หรือการดูแลนักกีฬาในการแข่งขัน การดูแลประเมินอาหารบาดเจ็บให้กับคนทั่วไป นักกีฬา และผู้ออกกำลังกาย
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มีการสอนหลักสูตรระดับปริญญาโทการจัดการการกีฬา ซึ่งเน้นการทำธุรกิจทางด้านกีฬาให้มีความยั่งยืน การใช้ศาสตร์การจัดการจากหลายๆ คณะของมหาวิทยาลัย รวมถึงการจัดอบรมระยะสั้นให้ความรู้กับผู้ประกอบการด้านการกีฬา
และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มีการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ Cyborg Olympic เป็นการพัฒนาอุปกรณ์กระตุ้นคนพิการครึ่งซีกเพื่อใช้ในการแข่งกีฬาได้โดยการควบคุมทางสมอง ซึ่งอนาคตจะนำไปใช้ในการแข่งขันอีก 4 ปีข้างหน้า การพัฒนาเครื่องใช้วัดและทำนายความบาดเจ็บของนักกีฬากอล์ฟ เครื่องตรวจวัดอารมณ์และฝึกสมาธินักกีฬา เครื่องมือฝึกการต่อยมวย การพัฒนาเซ็นเชอร์วัดความแรง ความเร็วต่อสู้สำหรับการฝึกซ้อมเทควันโด้
“ภายใต้กรอบความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงนี้ สสว. และ มหาวิทยาลัยมหิดล หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นก้าวที่สำคัญในความร่วมมืออย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างและให้โอกาสผู้ประกอบการรายเล็ก รายใหญ่ และภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย นำความรู้จากศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปบรูณาการ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการภาคธุรกิจด้านการกีฬาสู่ ‘ไทยแลนด์ เอสเอ็มอี 4.0’ศ.ดร.พญ. พัชรีย์ เลิศฤทธิ์ กล่าวในที่สุด