- Details
- Category: ข่าวสังคม
- Published: Saturday, 23 August 2014 08:46
- Hits: 2336
ทรู ร่วมกับ สวทศ. เผยโฉมผู้ชนะโครงการ 'นักวิทย์น้อยทรู' ปีที่ 19
การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับประถมศึกษา ระดับชาติ ประจำปี 2557 มีผลงาน 334 โครงงาน จาก 220 โรงเรียน 65 จังหวัดทั่วประเทศ ส่งเข้าประกวด
นายอรรถพร สุวัธนเดชา รองปลัดกรุงเทพมหานคร (ที่ 3 จากซ้าย) เป็นประธานในพิธีประกาศผลและมอบรางวัลผู้ชนะโครงการ'นักวิทย์น้อยทรู'ปีที่ 19 การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับประถมศึกษา ระดับชาติ ประจำปี 2557 ในหัวข้อ'วิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต'จัดโดย กลุ่มทรู โดย นายประพาฬพงษ์ มากนวล ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม (ที่ 3 จากขวา) และ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ รองผู้อำนวยการและหัวหน้าศูนย์นวัตกรรม (ที่ 2 จากขวา) ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย (สวทศ.) โดย รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ นายกสมาคม (ที่ 2 จากซ้าย) ซึ่งปีนี้ มีนักเรียนส่งผลงานเข้าร่วมแข่งขันถึง 334 โครงงาน จาก 220 โรงเรียนจาก 65 จังหวัดทั่วประเทศ โดยได้คัดเลือกโครงงานผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ 15 ทีม เพื่อเข้ามานำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการ เพื่อตัดสินทีมชนะเลิศ ซึ่งทีมที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง พร้อมเงินสนับสนุนทำโครงงาน และจะได้เข้าร่วมเป็นโรงเรียนในโครงการทรูปลูกปัญญา ได้แก่ โครงงานเครื่องโกยมูลวัว ประเภทสิ่งประดิษฐ์ จาก โรงเรียนวัดควนขี้แรด จังหวัดพัทลุง ซึ่งเกิดจากความคิดที่ต้องการกำจัดมูลวัว ที่ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนบริเวณหน้าโรงเรียน จึงนำความรู้เกี่ยวกับหลักของคาน ซึ่งมีจุดหมุนอยู่ระหว่างแรงต้านทานกับแรงพยายาม มาใช้ประดิษฐ์เครื่องโกยมูลวัว ที่จำลองมาจากรถตักดิน
ทั้งนี้ กลุ่มทรู ร่วมกับสวทศ. จัดโครงการประกวด “นักวิทย์น้อยทรู” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยระดับประถมศึกษา มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ และดำเนินโครงงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ พร้อมปลูกฝังจิตอาสาและทำประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยเปิดรับโครงงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 4–6 จากโรงเรียนรัฐและเอกชนทั่วประเทศ แบ่งการแข่งขันเป็น 3 ประเภท ได้แก่ โครงงานประเภทสำรวจ โครงงานประเภททดลอง และ โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ โดยนำเสนอวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาหาความรู้เพื่อให้ได้คำตอบเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ การอนุรักษ์ การประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ การนำกลับมาใช้ใหม่ การลดมลพิษของสิ่งแวดล้อม การหาหรือสร้างสิ่งทดแทนที่มีอยู่เดิม การสร้างสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ การพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่อย่างพอเพียง