- Details
- Category: ข่าวสังคม
- Published: Sunday, 03 January 2016 20:03
- Hits: 8206
กินอะไรดี? …. น้ำมันหมู VS น้ำมันพืช
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุไว้ว่า เราควรบริโภคน้ำมันอย่างหลากหลายในปริมาณเพียงเล็กน้อย เพี่อหลีกเลี่ยงภาวะไขมันเกินอันอาจจะนำไปสู่ภาวะโรคไขมันอุดตันในเส้น เลือด โดยประมาณว่า ในจำนวนพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี่ ที่ร่างกายมนุษย์ต้องการต่อวันนั้น ควรจะเป็นไขมันได้ไม่เกิน 25-30%
เมื่อ ‘ไขมัน’ คือ 1 ใน 5 ของหมู่อาหารที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับ (นอกเหนือคาร์โบไฮเดรต โปรตีน เกลือแร่ วิตามิน) จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องให้ความสำคัญต่อการเลือกไขมันหรือน้ำมันเพื่อ บริโภคในแต่ละวัน ซึ่งจะปะปนมากับอาหารแต่ละมื้อที่รับประทานเข้าไป ข้อถกเถียงเกี่ยวกับคุณสมบัติของน้ำมันพืชและน้ำมันหมู จึงเป็นอีกหัวข้อหนึ่งในการสนทนาของกลุ่มผู้รักสุขภาพมาโดยตลอด
กลุ่มที่เชื่อว่าน้ำมันหมูดีต่อสุขภาพมากกว่าน้ำมันพืช มีเหตุผลสำคัญยืนยันความเชื่อของตนว่า น้ำมันหมูมีกรรมวิธีการผลิตที่ปลอดภัยปราศจากการใช้สารเคมี เพราะได้มาจากไขมันสัตว์โดยตรง ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด ให้ความหอมในการปรุงอาหารได้ดีกว่า แตกต่างจากน้ำมันพืชผ่านกรรมวิธี ที่ต้องทั้งกลั่น (refined) ฟอกสี (bleached) และแต่งกลิ่น (deodozied) และเมื่อนำมาปรุงอาหารจะเกิดการแตกตัวเป็นสารอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายและนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งได้
ที่สำคัญ… ปู่ย่าตายายที่รับประทานน้ำมันหมูมาตลอดทั้งชีวิต ต่างก็มีอายุยืนยาว 80-90 ปีแทบทั้งสิ้น เพราะน้ำมันพืชเพิ่งได้รับกระแสนิยมในการบริโภค หลังจากต่างประเทศสนับสนุนให้บริโภคน้ำมันถั่วเหลืองซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของ เขาเมื่อราว 20 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น…
ส่วนกลุ่มที่เชื่อว่าน้ำมันพืชดีต่อสุขภาพมากกว่าก็ยืนยันว่าไขมันพืช เป็นไขมันไม่อิ่มตัว มีโคเลสเตอรอลน้อยกว่าไขมันสัตว์ และข้อกล่าวหาที่ว่าแม้น้ำมันพืชจะไม่เป็นไขที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในร่างกายที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส จะกลายเป็นกาวเหนียว เกาะติดลำไส้ ไม่สามารถล้างออกได้ และเป็นสาเหตุของโรคไขมันอุดตันนั้น ก็เป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน
สำหรับประเด็นนี้ ดร.เนตรนภิส วัฒนสุชาติ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโภชนาการ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อธิบายว่า ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันพืชหรือน้ำมันหมู ต่างก็เป็นไขมันที่ไม่ควรบริโภคจำนวนมาก แต่ก็คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ทางที่ดีไม่ควรเลือกบริโภคน้ำมันชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงชนิดเดียว เพราะน้ำมันพืชมีหลายประเภท อาทิ น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม เป็นต้น แต่ละประเภทก็มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการปรุงอาหารที่แตกต่างกัน ขณะที่น้ำมันจากสัตว์ อาทิ น้ำมันหมู ก็ไม่ได้เลวร้าย สามารถรับประทานได้เป็นครั้งคราว ขอเพียงพิจารณาการรับประทานไขมันให้เหมาะสมกับพลังงานที่ร่างกายต้องการใน แต่ละวัน ก็จะไม่เป็นการสะสมไขมันอันจะนำไปสู่โรคภัยต่างๆได้แล้ว
ทั้งนี้ สถาบันอาหาร ได้แนะนำการเลือกใช้น้ำมันให้เหมาะสมกับชนิดและประเภทของการปรุงอาหาร เช่น การผัด ซึ่งจะใช้น้ำมันเพียงเล็กน้อย สามารถจะใช้น้ำมันชนิดใดก็ได้ เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดฝ้าย
ส่วนการทอดอาหารที่ใช้น้ำมันปริมาณมาก และใช้ความร้อนสูงในการประกอบอาหาร เพื่อให้ได้อาหารรสชาติดี กรอบ อร่อย เช่น ทอดไก่ ทอดปลา ทอดกล้วยแขก ทอดปาท่องโก๋ หรือ ทอดโดนัท ควรใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันปาล์มหรือน้ำมันหมู เพราะหากไปใช้น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งเป็นน้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง จะก่อให้เกิดควันได้ง่าย เหม็นหืน และเกิดความหนืด จากสารพิษ ‘โพลีเมอร์’ ที่จะเกิดขึ้นตามมา
ส่วนการทำน้ำสลัดประเภทต่างๆ ต้องใช้น้ำมันพืชที่ไม่แข็งตัวในอุณหภูมิต่ำ เป็นน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันมะกอก
ขณะที่การบริโภคอาหารยังคงต้องดำเนินไปทุกวัน และทุกมื้อย่อมต้องมีไขมันปะปนอยู่ การรับฟังคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักโภชนาการ หรือ สถาบันอาหาร ที่ว่าเราควรรับประทานน้ำมันหลากหลายชนิดในปริมาณน้อย ควบคู่ไปกับการบริโภคโดยคำนึงถึงข้อมูลโภชนาการและความต้องการพลังงานในแต่ ละวัน จึงดูน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม
Bobby 275