เยาวชนที่ผ่านการอบรมปฐมพยาบาลและการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ใน'โครงการ 100 โรงเรียน 10,000 คน เยาวชนจิตอาสา CPR กู้ชีพ'ต่างเห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ดี ที่ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต หากพบเห็นผู้ที่หัวใจหยุดเต้นกระทันหัน
ในช่วงสัปดาห์แรก ของเดือนสิงหาคมนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยวิทยากรอาสาสมัครการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานเครือเจริญโภคภัณฑ์ 'CP CPR VOLUNTEER' นำทีมโดย คุณปุณฑริกา ลินฮาท ผู้บริหารโครงการพิเศษ สำนักบริหารโครงการพิเศษ คุณขนิษฐา ประยูรวงษ์ ผู้บริหารฝ่ายพยาบาลอาวุโส ซีพีเอฟ คุณเชษฐา เบ้าหล่อเพชร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักความปลอดภัยอาชีวอนามัย สายธุรกิจครบวงจรภูมิภาค บริษัท ซีพีเอฟ(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) คุณสัญชัย บุษบงทอง ผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยสิ่งแวดล้อม บริษัท ซีพีเอฟ ประเทศไทย (จำกัด)มหาชน และคุณอนิวัฒน์ จันทร์ศิริ วิทยากรจากสำนักบริหารโครงการพิเศษ และเจ้าหน้าที่ ซีพีเอฟ ในจังหวัดต่าง ๆ ร่วมกันฝึกปฐมพยาบาลและการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ในโครงการ 100 โรงเรียน 10,000 คน เยาวชนจิตอาสา CPR กู้ชีพ
โดยวันที่ 4 สิงหาคม ฝึกอบรมที่โรงเรียนนาสวรรค์พิทยาคม อ.เมือง จ.บึงกาฬ วันที่ 6 สิงหาคม ฝึกอบรมที่โรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูล อ.เรณูนคร จ.นครพนม และวันที่ 8 สิงหาคม ฝึกอบรมที่โรงเรียนสว่างแดนดิน อ.สว่างแดนดิน จ.นครพนม ซึ่งมีเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าร่วมฝึกอบรมรวมกว่า 600 คน
เยาวชนทุกคนที่ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับใบประกาศจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ในการฝึกอบรมเยาวชนที่เข้ารับการอบรมจะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติ เกี่ยวกับหลักการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) ซึ่งหมายถึง การปฏิบัติการ ช่วยฟื้นระบบหายใจ ระบบหัวใจและการไหลเวียนโลหิต เมื่อเกิดภาวะการหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นกระทันหัน ใช้เพียงแรงมือกดที่หน้าอกและเป่าลมเข้าปาก เพื่อให้ทั้ง 2 ระบบ กลับมาทำงานได้ตามปกติ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือแพทย์ เพราะหากปล่อยไว้เกิน 4-6 นาที โดยมิได้รับการช่วยเหลือด้วยวิธีการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน แม้จะฟื้นคืนชีพขึ้นมาก็จะมีปัญหาสภาวะทางสมอง
นอกจากนี้ เยาวชนยังได้เรียนรู้เรื่องการช่วยเหลือผู้ที่มีอาการสำลัก (CHOKING) ซึ่งหมายถึงการมีสิ่งแปลกปลอมตกเข้าไปอุดกั้นทางเดินหายใจทำให้หายใจไม่ได้ และถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันเวลาจะส่งผลให้สมองขาดออกซิเจน และเสียชีวิตได้ วิธีการช่วยใช้กำปั้นรัดกระตุกกึ่งกลางระหว่างสะดือกับลิ้นปี่ ยกละ 5 ครั้ง
น้องเปา – นายณรงกต แก้วโสภา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนนาสวรรค์ พิทยาคม อ.เมือง จ.บึงกาฬ ยอมรับว่าก่อนที่จะเข้ามาฝึกอบรมไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นมาก่อนเลย แต่เมื่อได้รับการอบรมซึ่งได้เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและลงมือฝึกปฏิบัติจริง โดยเฉพาะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) ซึ่งต้องฝึกปฏิบัติกับหุ่นสมชาย ทำให้รู้สึกมั่นใจขึ้นเพราะได้เรียนรู้ขั้นตอนที่ถูกต้อง และคาดว่าหากพบกับสถานการณ์จริง จะสามารถให้ความช่วยเหลือได้
ขณะที่น้องบุ๊ค – นายธราวัฒน์ แก้วมณีชัยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูล อ.เรณูนคร จ.นครพนม เล่าว่าก่อนที่จะมาอบรมตนเองมีความรู้บ้างเล็กน้อยเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล แต่ก็ไม่ค่อยมั่นใจว่าจะสามารถนำไปใช้ได้จริง เพราะเป็นเพียงความรู้แบบผ่าน ๆ ไม่ได้มีการอบรมที่จริงจัง แต่เมื่อได้เข้าร่วมฝึกอบรมครั้งนี้ ส่วนตัวแล้วได้รับความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง และมั่นใจว่าสามารถช่วยผู้ที่ประสบอุบัติเหตุได้ เพราะโครงการดังกล่าวได้สอนให้รู้ถึงการช่วยชีวิตที่ถูกต้องและถูกวิธี โดยเห็นว่าควรที่จะจัดกิจกรรมดังกล่าวให้ครบทุกโรงเรียนในประเทศไทย เนื่องจากอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่
ด้านน้องตะนอย – นางสาวนิรินธน์ อินทร์ใจเอื้อ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร กล่าวว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาทำให้สามารถนำความรู้ต่าง ๆ ที่พี่ ๆ อบรมให้ความรู้ทั้งในเรื่องการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน และการสำลัก ไปใช้ประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่นได้ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก ๆ และไม่รู้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิด เพื่อน หรือคนในครอบครัวเราเมื่อไหร่ ดังนั้นการที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการช่วยเหลือที่ถูกวิธี ก็จะสามารถช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง ถ้าไม่มีการอบรมครั้งนี้ และหากเกิดเหตุการณ์จริง คงไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรดี ขอบคุณซี.พี.มากๆ ค่ะที่มาให้ความรู้ดี ๆ ครั้งนี้ และอยากให้มาที่โรงเรียนสว่างแดนดินอีก
ปี 2557 เครือเจริญโภคภัณฑ์ เดินหน้า โครงการ 100 โรงเรียน 10,000 คน เยาวชนจิตอาสา CPR กู้ชีพ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หลังจากปี 2556 ดำเนินกิจกรรมดังกล่าวแล้ว 14 มีเยาวชนได้รับการฝึกอบรม 2,626 คน และในปีนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ตั้งเป้าหมายฝึกอบรมให้กับเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ และ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวนไม่น้อยกว่า 2,500 คน มุ่งส่งเสริมให้เยาวชนมีความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) เพื่อสามารถช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานแก่ผู้ที่หัวใจหยุดเต้นกะทันหันได้ทันท่วงที
ข่าว-ภาพ ; ภรธน จันทร์สว่าง สำนักบริหารโครงการพิเศษ เครือเจริญโภคภัณฑ์
|