- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Tuesday, 15 August 2017 23:50
- Hits: 24555
สื่อ-รัฐ-ราษฎร์-ทหาร-ตร.-พระ-เณร ร่วมปลูกป่าฟื้นฟูน้ำยมปี 2
กรมอุทยานแห่งชาติฯ ผนึกกำลังชมรมคอลัมนิสต์ฯ ประสานหน่วยงานภาครัฐและเอกชน พร้อมแกนนำชุมชน ผู้นำศาสนา และชาวบ้าน อ.ปง จ.พะเยา ร่วมโครงการฟื้นฟูแม่น้ำยม ‘ปล่อยปลา-สร้างฝาย-ปลูกป่า’ ปีที่ 2 ตะลึง! คนนับพัน ทั้งสงฆ์ เณรและฆราวาส สร้างประวัติศาสตร์ ‘ปลูกป่าในใจคน’ช่วงวันหยุดที่ผ่านมา
โครงการรณรงค์ปลูกป่าประชารัฐฟื้นฟูต้นน้ำยม จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ในพื้นที่ อ. ปง จ.พะเยา ระหว่างวันที่ 13-14 ส.ค.ที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, ชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดราย การวิทยุและโทรทัศน์ไทย, กองทัพภาคที่ 3, ตำรวจภูธรภาคที่ 5, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ฯลฯ ร่วมกับจังหวัดพะเยา, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชาวบ้าน อ.ปงและพื้นที่ใกล้เคียง เริ่มด้วยการปล่อยปลาตะเพียนและยี่สกนับหมื่นตัวในลำน้ำควร บริเวณคุ้งจันทร์ ต.ขุนควร และบริเวณจุดเชื่อมของลำน้ำควร และลำน้ำงิม ต.นาปัง ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำยม รวมถึงการสร้างฝายน้ำล้นในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านค่าไพบูลย์ ก่อนจะร่วมกันปลูกป่าในพื้นที่ราว 20 ไร่ บริเวณบ้านใหม่ต้นฝาง ต.ออย อ.ปง ในวันรุ่งขึ้น (14)
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวในฐานะผู้แทนอธิบดีฯและประธานโครงการฯ ว่า รู้สึกดีใจที่ได้เห็นภาพความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการฟื้นฟูต้นน้ำยม ซึ่งถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญของประเทศ ทั้งนี้ การปลูกป่าถือเป็นอีกภารกิจสำคัญของกรมอุทยานแห่งชาติฯ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะส่วนราชการต่างๆ ทั้ง ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงสื่อมวลชน
ขณะที่นายณรงค์ ปานนอก ประธานชมรมคอลัมนิสต์ฯ กล่าวว่า นับเป็นสำเร็จในเบื้องต้นที่สามารถประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการฟื้นฟูต้นน้ำยม ทั้งนี้ ชมรมคอลัมนิสต์ฯ พร้อมจะประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการเพิ่มพื้นที่ป่าและเพิ่มจำนวนฝายน้ำล้นให้ได้มากยิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไป
ด้านนายจรัญ กาญจนปัญญานนท์ นายอำเภอปง กล่าวว่า รู้สึกยินดีและดีใจที่ได้เห็นความร่วมมือจากองค์กรและกลุ่มบุคคลนอกพื้นที่ที่มุ่งหวังจะฟื้นฟูต้นน้ำยม ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของประเทศเพียงสายเดียวที่ขาดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ไม่มีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่สามารถจะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามจำเป็นของเกษตรกรและชาวชุมชนใน 7 หมู่บ้าน 88 ตำบล หรือราว 52,000 คนอย่างเพียงพอ และความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะนำไปสู่การรักษาน้ำต้นทุน รวมถึงเป็นการสร้าง กระตุ้น และปลุกจิตสำนึกของทุกฝ่าย ได้หันมาให้ความสนใจและความสำคัญกับการปลูกป่าและฟื้นฟูแหล่งน้ำ โดยเฉพาะโครงการนี้ถือเป็นการจุดประกาย "การปลูกป่าในใจคน" ของชาว อ.ปง และพี่น้องชาว จ.พะเยา
ขณะที่ นายวรสิทธิ์ บูรณศิริ นายก อบจ. พะเยา กล่าวว่า ทุกวันนี้ จ.พะเยา มีน้ำต้นทุนที่ไหลมาจากภูเขาย่อยของเทือกเขาผีปันน้ำแต่ละปีมากกว่า 1,000 ล้าน ลบ.ม. แต่เนื่องจากบริเวณต้นน้ำนมแห่งนี้ไม่มีเขื่อนและฝายสำหรับกักเก็บน้ำ ทำให้มวลน้ำส่วนใหญ่ไหลลงแม่น้ำสายสำคัญและออกสู่ทะเลโดยเปล่าประโยชน์ และบางครั้งมวลน้ำที่ว่านี้ อาจไหลไปร่วมกับมวลน้ำก้อนอื่นๆ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมบ้านเรือน เรือกสวนไร่น่าในพื้นที่ตอนล่าง อันเป็นปลายทางของน้ำที่ไหล ไม่ว่าจะในพื้นที่ภาคกลางหรือแม้แต่กรุงเทพฯและปริมณฑลตามมา
"ทุกวันนี้ เกษตรกรและพี่น้องชาว อ.ปง ได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำต้นทุนเพียง 19 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น ดังนั้น ทาง จ.พะเยา จึงมีแนวคิดที่จะจัดสร้างอ่างเก็บน้ำ 2-3 แห่ง ซึ่งไม่เพียงจะเป็นการกักเก็บน้ำไว้ในยามจำเป็น ทั้งเพื่อการเกษตร อุปโภคและบริโภค หากยังเป็นการวางแผนรับมือในยามที่มีมวลน้ำมากเกินปกติ อันเป็นการสร้างความมเชื่อมั่นด้านการวางแผนและบริหารจัดกานน้ำแก่พี่น้องชาวบ้านใน อ.ปง และชาว จ.พะเยา อีกทั้งยังเป็นสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยแก่พี่น้องในพื้นที่ตอนล่างของจังหวัดต่างๆ ตามเส้นทางน้ำไหลผ่านอีกด้วย" นายก อบจ.พะเยา ระบุ
นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ประธานสภา อบจ.จ.พะเยา กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ ทาง อ.ปง จ.พะเยา วางแผนจัดสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 จุด ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำปี้ ที่สามารถกักเก็บไว้ได้มากถึง 96 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำลู เก็น้ำได้อีก 11.5 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำเมาะอีก 4.5 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงจัดทำพื้นที่กักเก็บน้ำย่อยบริเวณชุมชนต่างๆ อีกราว 2 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นปริมาณน้ำรวมเพื่อการกักเก็บราว 300 ล้าน ลบ.ม.ทั้งนี้ หากสามารถสร้างฝายเพื่อการกักเก็บน้ำจำนวนนี้ได้ เชื่อมั่นว่า จ.พะเยาก็สามารถจะบริหารจัดการน้ำจากแหล่งต้นน้ำจำนวนกว่า 1,000 ล้าน ลบ.ม. ได้อย่างแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้าจะถึงพิธีปลูกป่าอย่างเป็นทางการ ได้มีการพิธีสัมโมทนียกถา จากพระสงฆ์ผู้แทนเจ้าคณะจังหวัด พร้อมประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับฆราวาสในการปลูกป่าเพื่อคืนความชุ่มชื้นในกับธรรมชาติ จากนั้น มีพิธีมอบเกียรติบัตรให้กับผู้สนับสนุนกิจกรรมปลูกป่า และมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนในพื้นที่ อ.ปง จำนวนกว่า 30 ทุน รวมถึงกิจกรรม ‘ยิงหนังสติ๊ก’ เมล็ดมะค่าโมงจำนวนหลายพันเมล็ด พิธีส่งมอบและปลูกไม้กฤษณากว่า 2,000 ต้น และการแสดงดนตรีท่ามกลางคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลาง ข้าราชการ ทหารและตำรวจ ฝ่ายปกครอง องค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น และชาวบ้านในพื้นที่ รวมกันกว่า 1,500 คน.