- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Monday, 07 August 2017 07:01
- Hits: 29765
รวมพลังเครือข่ายคนพร้าวรักษ์ป่า ปลูกต้นไม้ถวายแม่ของแผ่นดิน
วันที่ 5 ส.ค.60 ที่บริเวณอุทยานแห่งชาติศรีล้านนา อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแหง่ชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชกล่าวในระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการคนพร้าวรักษ์ป่า ปลูกต้นไม้ถวายแม่ของแผ่นดิน เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2560 วันแม่แห่งชาติว่าเป็นกิจกรรมที่กรมอุทยานฯร่วมกับภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชนในพื้นที่ได้ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องทุกปี และรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายในการทวงคืนผืนป่าที่ถูกบุกรุกทำให้มีการร่วมมือจากทุกภาคส่วนมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
“การนำกฎหมายมาบังคับใช้อย่างเดียว เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน จะต้องมีการร่วมมือกันจากทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชนในพื้นที่ ภายใต้โครงการประชารัฐ จึงจะมีความยั่งยืนตามแนวพระราชดำริรของในหลวงรัชกาลที่9 เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา โดยเฉพาะอ.พร้าวถือเป็นต้นแบบตัวอย่างความสำเร็จในการป้องกันรักษาผืนป่าที่มีความร่วมมือกันจากทุกฝ่าย”
นายธัญญา กล่าวต่อว่า สำหรับ อุทยานแห่งชาติศรีล้านนา ครอบคลุมพื้นที่ 878,750 ไร่ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.พร้าว แม่แตงและเชียงดาว ช่วงที่ผ่านมามีการแผ้วถางทำไร่เลื่อนลอย เพื่อปลูกข้าวโพด ทำให้ป่าโดนทำลายนับหมื่นไร่ หากไม่เร่งหยุดยั่งก็จะถูกบุกรุกเกิดความเสียหายเพิ่มมากยิ่งขึ้นจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าต้นน้ำ ซึ่งแหล่งกำเนิดต้นน้ำที่สำคัญไหลลงสู่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล แม่น้ำปิงและแม่น้ำเจ้าพระยาและจะพัฒนาที่นี่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจ.เชียงใหม่ต่อไป
สำหรับ กลุ่มคนพร้าวรักษ์ป่าเป็นการรวมตัวของประชาชนใน 4 อำเภอจาก 2 จังหวัดรวมมากกว่า 3,000 คน โดยมีพระครูวรวรรณวิวัฒน์ เจ้าคณะตำบลโหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ประธานกลุ่ม ถือเป็นการรวมพลังของภาคประชาชนที่มหัวใจรักและพิทักษ์ผืนป่า ต้องการปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่คู่ประเทศชาติด้วยพลังของคนในชุมชน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงไม่ว่าธรรมชาติจะเสียหายหรือว่าอุดมสมบูรณ์
พระครูวรวรรณวิวัฒน์เจ้าคณะตำบลโหล่งขอด ในฐานะประธานกลุ่มคนพร้าวรักษ์ป่ากล่าวถึงแนวทางการป้องกันและรักษาป่าอย่างยั่งยืนว่าจะต้องปลูกจิตสำนึกให้คนในชุมชนให้รู้จักโทษของการทำลายป่า โดยทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง ขณะเดียวกันก็ต้องนำกฎหมายมาบังคับใช้อย่างจริงจังกับคนที่บุกรุกและที่สำคัญ เจ้าหน้าที่จะต้องไม่ทำการทุจริตเสียเอง
“ที่นี่สมเด็จพระนางเจ้าได้เสด็จพระราชดำเนินมาถึง 2 ครั้งในปี 2547และปี48 พระองค์ท่านทรงห่วงใยป่าที่ถูกทำลายมาก ตัวอาตมาเองก็ได้สนองพระราชเสาวนีย์ทำให้เป็นแบบอย่างแก่ชาวบ้านบวชป่าประมาณ 1 พันไร่ จนเป็นที่มาของพร้าวโมเดลในวันนี้และยังมีโครงการขายแนวคิดนี้ไปยังพื้นที่ในอำเภอใกล้เคียงด้วยได้แก่ อ.เชียงดาว อ.แม่แตงและแม่แตงต่อไป”พระนักพัฒนากล่าวยืนยัน
ด้านนายจงกล เหลืองอ่อน รองกรรมการผู้จัดการบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ้วส์จำกัด ในฐานะตัวแทนโครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์กล่าวว่าโครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้มีโอกาสเข้ามาสนับสนุนการทำงานของอุทยานศรีล้านนาและประชาคมในอ.พร้าวมาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อแก้ปัญหาการรุกพื้นที่อุทยานฯขอคืนพื้นที่ป่าต้นน้ำ โดยดำเนินกิจกรรมด้านต่าง ๆ ร่วมกับอุทยานแห่งชาติและชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง สามารถแก้ปัญหาการรุกพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“สิ่งสำคัญก็คือการตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและการมีส่วนร่วมของชุมชนจนเกิดพลังในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ อย่างจริงจังเป็นแนวทางไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จนปัจจุบันที่นี่กลายเป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาเขาหัวโล้นในภาคเหนือและกิจกรรในครั้งนี้ทางโครงการธรรมชาติปลอดภัยก็ได้เห็นถึงความตั้งใจดีของชุมชนในการก่อตั้งกลุ่มคนพร้าวรักษ์ป่า จึงได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกและพร้อมให้การสนับสนุนและร่วมกิจกรรมอย่างเต็มที่”
นายจงกล ย้ำด้วยว่า สำหรับกิจกรรมคนพร้าวรักษ์ป่า ปลูกต้นไม้ถวายแม่ของแผ่นดินในครั้งนี้นับว่าเป็นกิจกรรมสำคัญที่ต้องการปลูกจิตสำนึกรักและปกป้องวงแหนธรรมชาติให้คงอยู่ พร้อมกับการช่วยกันฟื้นฟูผืนป่าที่ถูกทำลาย โดยเริ่มจากที่ตัวเรา รอบบ้านเรา ในชุมชนเรา จึงนำไปสู่การคงอยู่ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป