- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Thursday, 13 July 2017 19:32
- Hits: 21925
PTTGC เผยผลตรวจสิ่งแวดล้อมรอบ รง.หลังสารเคมีรั่ววานนี้ ยันอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) สรุปเหตุสารไซลีนรั่วไหลของโรงอะโรเมติกส์ 2 สาขา 5 จังหวัดระยอง เมื่อเวลา 12.39 น. ของวานนี้ (12 ก.ค.) โดยบริษัทใช้เวลาประมาณ 2.30 ชั่วโมงสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งล่าสุดพบว่าสาเหตุเกิดจากการรั่วไหลบริเวณกระจกช่องมองของไหล (Flow Sight Glass) ระหว่างการระบายของเหลวจากหอกลั่นไปยังถังพักใต้ดินซึ่งเป็นระบบปิด และเป็นกระบวนการตรวจสอบการไหลของของเหลวบริเวณด้านข้างหอกลั่นภายในโรงงานอะโรเมติกส์
โดยทีมระงับเหตุได้ดำเนินการปิดวาล์ว ของท่อส่งสารไซลีนเพื่อหยุดการรั่วไหล และเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของสารออกไปภายนอกโรงงาน และใช้น้ำดับเพลิง ฉีดเป็นละอองน้ำ เพื่อไม่ให้แพร่กระจายไปในอากาศ
หลังเกิดเหตุ บริษัทได้แจ้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามแนวทางปฏิบัติกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน อาทิ ศูนย์สื่อสารนิคมอุตสาหกรรม RIL การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มาบตาพุด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง และเทศบาลเมืองมาบตาพุด
ด้านผลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมโดยทีมสิ่งแวดล้อมของบริษัท ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่ตรวจสอบรอบโรงงาน โดยผลการตรวจวัดค่า VOCs หรือ สารอินทรีย์ระเหยง่าย ทั้ง 12 จุด อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยหลังเกิดเหตุ บริษัทได้ทำความสะอาดพื้นที่กระบวนการผลิต ตรวจสอบอุปกรณ์กระจกช่องมองของไหล และนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุ รวมถึงลงพื้นที่ตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยรอบโรงงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทีมชุมชนสัมพันธ์ลงพบปะชุมชนพื้นที่โดยรอบนิคม RIL อย่างต่อเนื่อง
สารไซลีนที่รั่วไหลจากเหตุการณ์นี้ อ้างอิงจากข้อมูลขององค์กรนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมภาครัฐแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (ACGIH) องค์กรอนามัยโลก (WHO) และศูนย์รักษาพิษสารเคมีอันตราย ภาคตะวันออก โรงพยาบาลระยอง ทั้งนี้ สารไซลีนเป็นสารอินทรีย์กลุ่มอะโรเมติกส์ มีสถานะเป็นของเหลว ไม่มีสี น้ำหนักเบากว่าน้ำ ระเหยง่าย ได้จากการกลั่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หากสูดดมเข้าไปอาจก่อให้เกิดความรำคาญและระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ไม่จัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็ง
อนึ่ง สำหรับโรงงานอะโรเมติกส์ 2 สาขา 5 ดังกล่าว มีกำลังการผลิต 1.23 ล้านตัน/ปี อยู่ระหว่างการหยุดซ่อมบำรุงโรงงาน ประมาณ 45 วัน ในเดือนมิ.ย.-ก.ค. และเตรียมที่จะกลับมาเดินเครื่องผลิตอีกครั้ง
อินโฟเควสท์