- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Sunday, 02 July 2017 14:52
- Hits: 85929
ซีพีเอฟ ร่วมเป็นสมาชิก SeaBOS มุ่งพิทักษ์ท้องทะเลและใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมลงนามเป็นสมาชิกในโครงการ Seafood Business for Ocean Stewardship (SeaBOS) เพื่อความร่วมมือระดับสากลในการพิทักษ์มหาสมุทร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล สู่เป้าหมายการอนุรักษ์ระบบนิเวศและการผลิตอาหารทะเลคุณภาพสำหรับมนุษย์ด้วยความรับผิดชอบอย่างยั่งยืน
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมของ SeaBos โดยนายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร เข้าเป็นสมาชิกในโครงการนี้ ตอกย้ำเจตนารมย์อันแน่วแน่ของบริษัทในการร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจอาหารทะเลชั้นนำระดับโลกเพื่อเป็นผู้พิทักษ์มหาสมุทรและระบบนิเวศทางทะเล สร้างความมั่นใจว่าโลกจะมีทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลคุณภาพดีและอุดมสมบูรณ์ ที่จะนำไปผลิตเป็นอาหารของมนุษย์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
ทั้งนี้ SeaBOS เป็นความริเริ่มของมหาวิทยาลัยสต๊อคโฮม ประเทศสวีเดน ร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารทะเลรายใหญ่ของโลกหลายราย ที่เล็งเห็นความสำคัญของความมั่นคงและอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลทั่วโลก และความอยู่ดีกินดีของผู้บริโภคอย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมกันกำหนดพันธกิจในการป้องกันและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางทะเลด้วยการจัดการวัตถุดิบตลอดห่วงโซ่การผลิตและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ตั้งแต่ภาคการประมงจนถึงธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals : SDGs)
“นับเป็นครั้งแรกที่มีการเชื่อมต่อความเป็นผู้นำทางวิทยาศาสตร์และผู้นำทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทะเลของสมาชิกจากทวีปเอเซีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ เพื่อร่วมสร้างความตระหนักรู้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงการหาแนวทางแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ” นายวุฒิชัย กล่าว
สำหรับ พันธกิจสำคัญของโครงการนี้ ประกอบด้วย เพิ่มความโปร่งใสและตรวจสอบย้อนกลับในการดำเนินงานของบริษัท, ลดการทำประมงผิดกฎหมาย, ร่วมมือกันทางวิทยาศาสตร์เพื่อปรับปรุงและบริหารจัดการการทำประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ, ร่วมมือกันกำจัดการใช้แรงงานผิดกฎหมายในทุกรูปแบบ, ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ, ลดการใช้พลาสติกในกระบวนการผลิต เพื่อลดปัญหามลพิษ, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, จัดทำแนวทางปฏิบัติรวมทั้งปรับปรุงกฎหมายในการป้องกันทรัพยากรทางทะเลที่เกิดใหม่ รวมถึงการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในการสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
นายวุฒิชัย กล่าวต่อไปว่า การร่วมเป็นสมาชิกในโครงการนี้ จะเป็นการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทะเลชั้นนำของโลก และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค คู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ และส่งเสริมให้บริษัทสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
นายวุฒิชัย กล่าวย้ำว่า ซีพีเอฟ มีนโยบายคุณภาพอาหารชัดเจนและเคร่งครัด รวมถึงนโยบายมาตรฐานอาหาร ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตเดียวทั่วโลกสอดคล้องกับมาตรฐานอาหารสากล สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต และยังมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ความยั่งยืน ภายใต้ 3 เสาหลัก อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และ ดินน้ำป่าคงอยู่ ซึ่งสอดคล้องและร่วมสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
นอกจากนี้ บริษัทฯยังได้ดำเนินการร่วมกับคู่ค้าธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรอิสระ ภาคประชาสังคม ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ ในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นในอุตสาหกรรมประมง โดยการผลักดันการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับและการใช้แรงงานอย่างถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องตามมาตรฐานสากลตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลของบริษัท รวมถึงกระบวนการตรวจสอบประเมินที่โปร่งใส โดยผู้ตรวจสอบอิสระจากภายนอก และยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการประมงอย่างยั่งยืน (Fishery Improvement Plan) ในสองฝั่งทะเลของประเทศไทยด้วย.