- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Sunday, 05 March 2017 20:01
- Hits: 69375
ปตท. สืบสานโครงการฝนหลวงในพระราชดำริ สนับสนุนน้ำแข็งแห้ง 800 ตัน สู้ภัยแล้ง
นายยุทธนา วิญญูพงศ์พันธ์ รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แยกก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (3 มีนาคม 2560) ปตท. ได้มอบน้ำแข็งแห้งจำนวน 800 ตัน มูลค่ารวม 6,400,000 บาท (หกล้านสี่แสนบาท) ให้แก่ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องใน ‘พิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2560’ ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อสืบสานโครงการฝนหลวงในพระราชดำริ โดย ปตท. ได้ร่วมสนับสนุนปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 รวมเป็นปริมาณน้ำแข็งแห้งกว่า 9,700 ตัน พร้อมด้วยถังบรรจุน้ำแข็งแห้ง 38 ถัง คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 78.4 ล้านบาท (รวมยอดการสนับสนุนปีนี้)
โครงการฝนหลวง เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดารในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปี พ.ศ. 2498 โดยทรงศึกษาข้อมูลต่างๆ ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ เป็นเวลาถึง 14 ปี เพื่อหาวิธีที่จะทำฝนเทียมเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยเมื่อปี 2541 เกิดไฟป่าพรุโต๊ะแดง ที่ จังหวัดนราธิวาส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ให้คำแนะนำในการใช้น้ำแข็งแห้งทำฝนเทียมเพื่อดับไฟป่า คณะทำงานฝนหลวงจึงได้ประสานงานกับ ปตท. เพื่อขอรับการสนับสนุนน้ำแข็งแห้ง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสนับสนุนน้ำแข็งแห้งในการทำฝนหลวงจาก ปตท.
นายยุทธนา กล่าวเสริมว่า “น้ำแข็งแห้ง เป็นส่วนประกอบในการสร้างฝนเทียมโดยเป็นตัวเพิ่มฝนและเร่งอัตราการตกของฝน ผลิตมาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. โดยเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีสถานะเป็นของแข็งที่อุณหภูมิประมาณ –79 องศาเซลเซียส ถูกนำมาผ่านกระบวนการอัดและทำให้เย็นลงภายใต้ความดันสูงกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์เหลว แล้วลดความดันลงอย่างรวดเร็วโดยการพ่นคาร์บอนไดออกไซด์เหลวสู่ความดันบรรยากาศ จะได้เป็นเกล็ดน้ำแข็งคล้ายเกล็ดหิมะ แล้วจึงนำมาอัดเป็นรูปแบบและขนาดต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้
สำหรับ ปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน และก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนในหลายพื้นที่ การก่อกำเนิดของโครงการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความทุกข์ยากของพสกนิกรด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ ปตท. ขอน้อมรำลึกและพร้อมที่จะเดินตามรอยพระบาท ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือสังคมประเทศ สนองแนวพระราชดำริในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง รวมถึงภัยพิบัติอื่นๆ อย่างเต็มที่ตลอดไป”