- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Tuesday, 05 August 2014 23:39
- Hits: 4445
เดินหน้าโครงการปลูกหญ้าทะเล คืนแหล่งที่อยู่อาศัยให้แก่สัตว์น้ำ
บ้านเมือง : 'หญ้าทะเล'จัดเป็นกลุ่มของพืชดอกเพียงกลุ่มเดียว ที่ได้มีวิวัฒนาการให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในทะเล โดยมีลักษณะโครงสร้างภายนอกคล้ายคลึงกับหญ้าที่เจริญอยู่บนบก ถือเป็นทรัพยากรที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญมาก ในปัจจุบันแหล่งหญ้าทะเล เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลและสัตว์น้ำเศรษฐกิจทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา รวมถึงสัตว์หายากอย่างพะยูนและเต่าทะเล นอกจากนั้น ยังเป็นแหล่งวางไข่ แหล่งอนุบาลตัวอ่อน และที่อยู่อาศัยของปลา กุ้ง หมึก ปูม้า หอยชนิดต่างๆ ไส้เดือนทะเล ตลอดจนสัตว์เล็กๆ นานาชนิด รวมถึงเป็นแหล่งอาหาร แหล่งทำมาหากินที่สำคัญของชุมชนชายฝั่งทะเล
แหล่งหญ้าทะเลถือเป็นระบบนิเวศแรกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ บนแผ่นดิน ทั้งที่เกิดจากมนุษย์และเกิดตามธรรมชาติ ชุมชนส่วนใหญ่จะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล การพัฒนาด้านเกษตรกรรมต่างๆ ทั้งเพาะปลูก และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น กุ้งทะเล ล้วนมีผลกระทบต่อพื้นที่หญ้าทะเลทั้งสิ้น แหล่งหญ้าทะเลและป่าชายเลน จึงเสมือนเป็นประตูกั้นระหว่างกิจกรรมต่างๆ บนฝั่งกับทะเล ซึ่งรวมถึงแนวปะการังด้วย
ระบบนิเวศหญ้าทะเลมีความสำคัญในด้านเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เลี้ยงตัวอ่อนสัตว์น้ำ และแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด โดยเฉพาะปลาทะเล กลุ่มกุ้งทะเล และปูม้า ไม่เพียงเฉพาะกลุ่มสัตว์น้ำขนาดเล็กเท่านั้น แต่ยังมีสัตว์น้ำขนาดใหญ่เช่นเต่าทะเล และพะยูน รวมถึงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ อันได้แก่ ปลา กุ้ง ปู และหอยหลายชนิด และยังมีส่วนช่วยในการกรองและปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วย เพราะหญ้าทะเลมีระบบรากที่คอยยึดจับเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดี
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แหล่งหญ้าทะเลมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง โดยมีสาเหตุมาจากการพัฒนาชายฝั่งทะเลที่มีผลก่อให้เกิดตะกอน และน้ำเสียตามชายฝั่งทะเล เช่น การทำเหมืองแร่ การตัดถนน โรงงานอุตสาหกรรม ชุมชนบ้านเรือน และการทำนากุ้ง รวมถึงการทำประมงที่ใช้เครื่องมือประมงทำลายแหล่งหญ้าทะเลและสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ เช่น เรืออวนลากขนาดเล็ก เรืออวนรุน เรืออวนทับตลิ่งขนาดใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ ภัยธรรมชาติ เช่น พายุ คลื่นลม มักเกิดขึ้นตามฤดูกาล โดยเฉพาะลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และการเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ทางชายฝั่งทะเลอันดามันเมื่อ 26 ธันวาคม 2547 ก็มีส่วนทำให้หญ้าทะเลได้รับผลกระทบร้อยละ 5 ของพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน
ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดกระบี่ จึงได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และศูนย์พัฒนาวิจัยประมงชายฝั่งของจังหวัดกระบี่ ทำการวิจัยการปลูกและการขยายพันธุ์หญ้าทะเล และหอยชักตีน เพื่อเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มจำนวนประชากรหอยชักตีน ซึ่งปัจจุบันลดจำนวนลงอย่างมาก อันเนื่องมาจากรสชาติที่อร่อย และไม่สามารถหาทานที่อื่นได้นอกจากจังหวัดกระบี่ ทำให้เกิดค่านิยมที่ว่า "มากระบี่ต้องกินหอยชักตีน"
นายปิยะวัฒน์ พรหมรักษา หัวหน้าโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ พัฒนาบ้านปลาบริเวณชายฝั่ง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดกระบี่ พื้นที่ ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ เปิดเผยว่า โครงการศึกษาวิจัยการปลูกหญ้าทะเลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จ.กระบี่ ด้วยการสนับสนุนของ กฟผ.มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงหญ้าทะเลในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศวิทยาของพื้นที่ เนื่องจากเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนหลายชนิด รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารของพันธุ์สัตว์น้ำหายาก เช่น พะยูน เต่าทะเล หอยชักตีน และปลาอีกหลายชนิด
โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 โดยใช้วิธีการฟื้นฟูหญ้าทะเล 2 แบบ คือ แบบแยกกอ และแบบเพาะเมล็ด จากหญ้าทะเลท้องถิ่น จำนวน 3 ชนิด คือ หญ้าใบมะกรูด หญ้าชะเงาเต่า และหญ้าคาทะเล ที่ผ่านมาทางโครงการฯ และชุมชนได้ร่วมกันปลูกบริเวณชายฝั่งทะเล
หญ้าทะเลที่ปลูกในช่วงที่ผ่านมาได้เจริญเติบโตจนเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของฝั่งทะเลอันดามัน โดยชุมชนในพื้นที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการดูแล เพราะสิ่งนี้คือปัจจัยพื้นฐานในความสมบูรณ์ของแหล่งทำมาหากินของประชาชนชาวประมงชายฝั่ง
ในปัจจุบันแหล่งหญ้าทะเล เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำทะเลและสัตว์เศรษฐกิจ เป็นแหล่งวางไข่ แหล่งอนุบาลตัวอ่อน และที่อยู่อาศัยของปลา กุ้ง หมึก ปูม้า หอยชนิดต่างๆ ไส้เดือนทะเล ตลอดจนสัตว์เล็กๆ นานาชนิด
"ชุมชนได้ใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งทำมาหากิน ประกอบอาชีพ ดำรงชีวิต และจากที่ศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดกระบี่ ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และศูนย์พัฒนาวิจัยประมงชายฝั่งของจังหวัดกระบี่ เข้ามาทำการวิจัยในเรื่องหญ้าทะเลและเรื่องหอยชักตีน ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะ การปลูกจิตสำนึกของชุมชนในการหวงแหนทรัพยากรชายฝั่งให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการฟื้นคืนทรัพยากรธรรมชาติบริเวณชายฝั่งให้คงอยู่กับทะเลไทย แบบสมบูรณ์อย่างยั่งยืน โดยที่ชุมชนมีส่วนร่วม" นายปิยะวัฒน์ พรหมรักษา กล่าว
หัวหน้าโครงการวิจัยเปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า ในการดำเนินโครงการซึ่งเข้าสู่ปีที่ 2 ในปี 2557 ของการดำเนินโครงการ พบว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุมคลื่นลมในทะเลค่อนข้างแรง จะสามารถพบเห็นหญ้าทะเลถูกคลื่นซัดขึ้นมาบริเวณชายหาดจำนวนมาก ซึ่งเป็นการยืนยันว่าหญ้าทะเลที่นำมาปลูกเพิ่มเติมก่อนหน้านี้ได้ขยายกอเป็นทุ่งหญ้าทะเลในวงกว้างและเจริญสมบูรณ์ดี เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น ปูทะเล ปูม้า กุ้ง และปลา ทุกชนิด โดยเฉพาะหอยชักตีน สัตว์เศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดกระบี่ในปัจจุบัน ซึ่งมี การจำกัดเขตห้ามจับหอยชักตีนในพื้นที่ปลูกหญ้าทะเลด้วย เพื่อให้หอยได้ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ สามารถจับขึ้นมาบริโภคและจำหน่ายได้อย่างยั่งยืน
"การเก็บหอยชักตีนของชาวชุมชนจะเก็บเป็นช่วงๆ คือ ช่วง 13 ค่ำ ไปจนถึง 3 ค่ำ ช่วงนี้จะเก็บได้ แต่หลังจากนั้นไม่อนุญาตเก็บเพราะเป็นช่วงหอยผสมพันธุ์ออกไข่ และในช่วงมรสุมไม่อนุญาตให้เก็บในพื้นที่ 200 คูณ 200 เมตร บริเวณที่มีการปลูกหญ้าทะเล เพื่อให้หอยชักตีนได้เจริญเติบโต และการเก็บหอยทุกตัวจะเอาแต่ตัวโตๆ เท่านั้น หากเจอตัวเล็กก็จะปล่อยคืนทะเลเพื่อให้โตเต็มที่" หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าว
ทั้งนี้ นอกจากโครงการเกี่ยวกับหญ้าทะเลและหอยชักตีนแล้ว ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กฟผ. กับสถาบันอุดมศึกษาแล้ว ยังมีโครงการต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องของการน้อมนำเอาแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้งาน อาทิ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงแพะเนื้อ ที่ กฟผ.ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการผลิตแก๊สชีวภาพใช้เองในชุมชน ซึ่ง กฟผ.ร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นต้น