- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Thursday, 29 December 2016 18:11
- Hits: 3925
เยาวชนนักคิดจิตอาสา แก้ไขปัญหาผู้ป่วยติดเตียงด้วย'หลอดพลาสติก'
ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2547 และจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุยิ่งยวดในอีก 15 ปีข้างหน้า นั่นคือจะมีประชากรที่เป็นผู้สูงอายุในสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด แน่นอนว่าต้องมีปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นเรื่องของปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งมีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหา ด้วยป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น ในส่วนของผู้ป่วยอัมพาต จะมีการนอนติดเตียงเป็นเวลานาน ทำให้เกิดปัญหาแผลกดทับ เนื่องจากอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสกับเตียงเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวกและเกิดการอับชื้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาอีกมากมาย อาทิ ภาวะขาดอาหารรุนแรง การติดเชื้อรุนแรงในระบบทางเดินหายใจ และในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ เยาวชน 'นักคิดจิตอาสา'ในโครงการที่นอนหลอด SUPPORT โรงเรียนบ้านนา'นายกพิทยากร'จังหวัดนครนายก ที่ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 28 โครงการจิตอาสาระดับประเทศ Gen A (Empower Active Citizen) 2016'พลังพลเมืองจิตอาสาเปลี่ยนประเทศ'ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิธรรมดี และองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมต่างๆ อาทิ บริษัท โสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008) จำกัด และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเวทีให้เยาวชนได้แสดงพลังสร้างสรรค์โครงการจิตอาสาช่วยเหลือสังคมตามศักยภาพที่มีอยู่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมให้ดียิ่งขึ้น
จากปัญหาสู่การคิดค้นผลงานที่สร้างสรรค์ น้องๆ คณะยุวอาสาในโครงการที่นอนหลอด SUPPORT โรงเรียนบ้านนา ‘นายกพิทยากร’ จังหวัดนครนายก ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของแนวทางการรักษาผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยนอนติดเตียงเป็นเวลานาน ทำให้เกิดแผลกดทับตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ด้วยการใช้ที่นอนที่มีวัสดุทำจากหลอดเป็นส่วนประกอบสำคัญ หรือเรียกว่า ที่นอนหลอด ให้แก่ผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก โดยสอนวิธีประดิษฐ์ที่นอนหลอดแก่กลุ่มโรงเรียนผู้สูงอายุในชุมชน รวมถึง อสม.ในชุมชน ซึ่งเป็นการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างเป็นผลงานที่มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น และช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังเป็นการลดขยะมูลฝอยในชุมชนและโรงเรียน เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้แก่กลุ่มยุวอาสาในการช่วยเหลือผู้สูงอายุรวมถึงผู้ป่วยในชุมชนอีกด้วย
น้องบิว หรือ นางสาวพลอยไพลิน วรวงษ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านนา 'นายกพิทยากร' หัวหน้าโครงการที่นอนหลอด SUPPORT เล่าว่า “จุดเริ่มต้นของการทำโครงการจิตอาสาในครั้งนี้ เป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของโรงพยาบาลบ้านนาในการทำที่นอนหลอด โดยปกติแล้วทางโรงพยาบาลจะติดต่อกับธนาคารขยะของโรงเรียน เพื่อไปทำที่นอนหลอดให้แก่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยนอนติดเตียงในโรงพยาบาล โดยจะทำเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ทว่า ไม่มีบุคลากรเพียงพอในการผลิต จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยที่อยู่นอกโรงพยาบาลหรือในชุมชน กลุ่มน้องบิว จึงได้นำความรู้เรื่องการทำที่นอนหลอดนี้ ไปต่อยอด และสอนเพื่อนๆ น้องๆ ในโรงเรียนจนประสบความสำเร็จ และปัจจุบันได้นำองค์ความรู้นี้ไปถ่ายทอดต่อให้แก่กลุ่มเครือข่ายจิตอาสาในพื้นที่ อาทิ โรงเรียนผู้สูงอายุบ้านนา องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านนา และประสานงานกับโรงพยาบาลบ้านนา อนามัยชุมชน และ อสม. แล้วถึงมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในการเป็นอีกหนึ่งกำลังสนับสนุนที่จะคอยช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้ป่วยคนอื่นๆ ในชุมชน”
น้องบิว เล่าต่ออีกว่า “ตอนนี้มีสมาชิกในชมรมที่ทำที่นอนหลอดในโรงเรียนจำนวน 90 คน ที่คอยช่วยเหลือกัน และในส่วนของขั้นตอนการทำที่นอนหลอดนั้น เริ่มจากการรับบริจาคหลอดจากโรงเรียน ร้านค้า ร้านอาหารในชุมชนที่ใช้แล้วมาล้างทำความสะอาด แล้วนำมาตากให้แห้ง หลังจากนั้นนำหลอดมาตัดให้ได้ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร เสร็จแล้วนำมายัดใส่ผ้าที่ตัดเย็บเป็นรูปทรงหมอนให้เรียบร้อย แล้วส่งมอบให้กับผู้สูงอายุในชุมชนและศูนย์ผู้พิการในอำเภอ ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีจากผู้สูงอายุและผู้พิการที่มีปัญหาเรื่องแผลกดทับจากการนั่งและนอนเป็นเวลานาน หลังจากที่ได้ใช้ที่นอนหลอดนี้ ปัญหาเรื่องแผลกดทับก็ทุเลาลงและหายเป็นปกติภายในหนึ่งเดือน และตนก็รู้สึกดีใจที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการนอนติดเตียง ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นอีกกำลังใจหนึ่งที่ทำให้กลุ่มยุวจิตอาสาโรงเรียนบ้านนา มีแรงผลักดันในการทำกิจกรรมเพื่อผู้อื่น”
นายบุญยัง รอดประเสริฐ อายุ 82 ปี รองผู้อำนวยการโรงเรียนผู้สูงอายุ ตำบลบ้านนา จังหวัดนครนายก ได้เล่าถึงความรู้สึกจากที่ได้เข้าร่วมอบรมการทำที่นอนหลอด จากน้องๆ ยุวอาสา โรงเรียนบ้านนา ว่า “ตนรู้สึกดีใจที่ได้เห็นเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ ออกมาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ตนจะนำความรู้ที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้ ไปต่อยอดในการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นที่เหมาะสมกับกลุ่มวัย แจกจ่ายให้กับผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ที่ต้องการใช้ที่นอนหลอดแต่มีฐานะยากจนในชุมชน และถ้าเหลือจากการแจกจ่ายก็จะนำไปขายเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มโรงเรียนผู้สูงอายุต่อไป”
อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ หากทุกคนในสังคมร่วมด้วยช่วยกัน ในแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เข้มแข็ง โครงการ Gen A ขอเป็นอีกหนึ่งพลังในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เข้มแข็งและน่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป