- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Tuesday, 07 June 2016 22:16
- Hits: 8277
แกนนำ รสทป. ทั่วประเทศสร้างประวัติศาสตร์ รวมตัวถวายสัตย์ฯเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ 'สมเด็จพระบรมราชินีนาถ”
ต่อยอดสร้างเครือข่ายสมาชิกกระจายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์การดูแลรักษาป่า ผ่านกระบวนการอบรมและสัมมนาใน 'โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป)'โดยมีแกนนำชุมชนทั่วประเทศ 250 คน
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เพื่อให้การดูแลรักษาป่าในพื้นที่รอบแปลงปลูกป่า ปตท. ในแต่ละภาค ปตท. โดยความร่วมมือและความอนุเคราะห์จากพี่น้องประชาชนรอบผืนป่า พร้อมหน่วยงานและวิทยากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กองทัพภาค กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจัด “โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.)” ในปีนี้เป็นปีที่ 7 รวม 19 รุ่น โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เครือข่ายมีความเข้มแข็ง สามารถดูแลผืนป่า มีปราชญ์ที่มีความรู้เรื่องสมุนไพร มีคลังอาหาร สร้างรายได้ให้กับชุมชน
นายเทวินทร์ กล่าวว่า นับเป็น ครั้งแรกที่สามารถรวมแกนนำ รสทป. จำนวนมากถึง 250 ชีวิตจาก 5 ภาคทั่วประเทศ ได้แก่ 1. ภาคเหนือตอนบน (25 ตำบล) 2. ภาคเหนือตอนกลาง-ล่าง (24 ตำบล) 3. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (23ตำบล) 4.ภาคกลาง (24 ตำบล) และ 5. ภาคใต้ (26 ตำบล) ทั้งนี้ เนื่องจากทุกคนมีความมุ่งหมายเดียวกัน คือ ร่วมถวายสัตย์ฯเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ‘สมเด็จพระบรมราชินีนาถ’ นอกจากนี้ แกนนำ รสทป.ทั้งหมดยังจะได้ร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการฟื้นฟูดูแลผืนป่า ระหว่างวันที่ 7 – 8 มิถุนายน 2559 อีกด้วย
รสทป. เป็นเครือข่ายราษฎรรักษาป่าที่ร่วมดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนร่วมกับ กองทัพภาค กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อสนองพระราโชบายของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่มีพระราชประสงค์เปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมของราษฎรจากผู้บุกรุกทำลายป่ามาเป็นผู้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืนได้พิทักษ์ป่า ทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าให้เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เพื่อให้มีการขยายผลที่เข้มแข็ง จึงได้มีการจัด “โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กร รสทป.” ต่อยอดจากการฝึกอบรม รสทป. ซึ่งที่ผ่านมาในแต่ละปี ปตท.สนับสนุนกองทุน รสทป. ตำบลละ 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) พร้อมอุปกรณ์ดับไฟป่า ในปัจจุบัน ชุมชนและเยาวชนที่ผ่านการอบรมตั้งแต่ปี 2537 – 2558 มีจำนวนประมาณ 50,000 คน กระจายในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
จากความร่วมมือร่วมแรงในการฟื้นฟูดูแลแปลงปลูกป่า ของพี่น้อง รสทป. ทั่วประเทศ เกิดเป็นผลเชิงประจักษ์ที่ช่วยให้ป่าที่ ปตท. ร่วมปลูกกว่า 1 ล้านไร่ ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 30.3 ล้านตัน หรือเทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของรถยนต์กว่า 1 ล้านคัน ปลดปล่อยออกซิเจนอีก 24.2 ล้านตัน ชุมชนรอบแปลงปลูกได้ใช้ประโยชน์จากป่าสะสมกว่า 7,800 ล้านบาท ทั้งยังเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ รักษาระบบนิเวศ ดิน และน้ำให้สมดุลอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความเข้มแข็งและการทำงานอย่างต่อเนื่อง สมาชิก รสทป. ยังสามารถฟื้นฟูและรักษาพื้นที่ป่า ทั้งจากการปลูกป่าเพิ่ม ป้องกันการบุกรุก รวมถึงป้องกันไฟป่าได้ กว่า 26,600 ไร่ ใน 19 จังหวัด ทั่วประเทศ
พลตรีกฤษณ์ดนัย อิทธิมณฑล เสนาธิการ ผู้แทนกองทัพภาคที่ 1 ในฐานะประธานกล่าวเปิดงาน กล่าวว่า “โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กร รสทป.” เป็นโครงการที่ต่อยอดจาก'โครงการฝึกอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.)'ได้เริ่มดำเนินการฝึกอบรมและขยายผลตามแนวทางพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยพระองค์ได้ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่ง เพื่อดำเนินการให้ฝึกอบรมเพิ่มเติมเป็นการขยายผล และได้มีพระมหากรุณาธิคุณทรงพระราชทานธง ‘พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต’ ด้วยความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในท้องถิ่น และเมื่อฝึกอบรมแล้วหมู่บ้าน/ชุมชน ต้องรวมตัวกันจัดตั้งเป็นองค์กรร่วมดูแลรักษาป่า พร้อมทั้งขยายผลต่อไปอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรนั้นๆ และหากชุมชนใดสามารถดูแลรักษาป่าให้เป็นที่ประจักษ์แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้รับการคัดเลือกเสนอชื่อขอพระราชทานธง ‘พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต’ โดยผ่าน คณะกรรมการธง ‘พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต’ และหลักเกณฑ์ที่ทางสำนักพระราชวังกำหนด
องค์กรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า รอบแปลงปลูกป่า ปตท. เป็นคณะกรรมการที่ขับเคลื่อนชุมชนในพื้นที่ ให้ความสำคัญเรื่องทรัพยากรในท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นกำลังสำคัญในการ ทำหน้าที่ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ด้วยการเข้าไปสร้าง ‘ความเข้าใจ ความตระหนักคิด และร่วมกันพัฒนา’ ชุมชนและเยาวชน ให้เห็นถึงประโยชน์ของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีแนวทางในการปกป้องผืนป่าเป็นรูปธรรม และมีส่วนช่วยผลักดันให้พื้นที่ได้รับรางวัลพระราชทานธง’พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต’ เพื่อเป็นเกียรติประวัติและสร้างขวัญกำลังใจของชุมชนในตำบลอีกด้วย
สำหรับ ธง'พิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต'เป็นธงพระราชทานในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมอบให้กับหมู่บ้าน/ชุมชนที่ให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในชุมชนของตนเอง ให้มีสภาพอุดมสมบูรณ์ ไม่มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า หรือบุกรุกพื้นที่ป่า