- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Friday, 18 July 2014 22:03
- Hits: 4378
คสช.ประสานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเหมืองแร่ทองคำ'อัครา' มั่นใจสร้างการยอมรับให้แก่ทุกฝ่ายได้
คสช. ประสานหน่วยงานราชการ นักวิชาการ ชาวบ้าน รอบเหมืองอัครา ถกทางออกแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากการทำเหมืองทอง พร้อมเห็นชอบร่วมกันตั้งคณะทำงานลงพื้นที่เก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
นายปกรณ์ สุขุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการประชุมเพื่อหาข้อยุติจากชาวบ้านที่รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ทองคำไปร้องเรียน คสช. โดยมีนายวัชระ ทิพย์พิลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร พ.อ.สุพจน์ บูรณะจารีและพ.อ.ดุสิต ปุระเสาร์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบ จังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ ประจำพื้นที่จังหวัดพิจิตร และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำอัครา เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ ทุกฝ่ายได้เห็นชอบในการจัดตั้งคณะทำงานลงพื้นที่เก็บตัวอย่างข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อศึกษาถึงผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ โดยมีตัวแทนจากทุกฝ่ายได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานชุดนี้ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับกระทบที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หมู่ 3 หมู่ 8 และหมู่ 9 รวม 3 คน ตัวแทนจากหน่วยงานราชการจำนวน 5 คน นักวิชาการอิสระ จำนวน 5 คน ตัวแทนจากเหมืองแร่ทองคำอัคราจำนวน 5 คน และตัวแทนจาก คสช.จำนวน 3 คน
“คณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นมานี้จะทำหน้าที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างในทุกมิติ เพื่อตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ก่อนนำผลศึกษาที่ได้นำเสนอต่อกรรมการชุดใหญ่ที่มีผู้ว่าราชการเป็นประธานต่อไป”นายปกรณ์ กล่าว
ด้านพ.อ.สุพจน์ บูรณะจารี รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบ จังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำพื้นที่จังหวัดพิจิตร ตัวแทนจาก คสช. กล่าวว่า จากการติดตามปัญหาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเหมืองแร่ทองคำอัครานั้น ในฐานะคนกลาง ทหารมีเป้าหมายที่ต้องการสร้างความสุขให้แก่ทุกฝ่าย และไม่มีเจตนาที่จะปิดกิจการเหมืองแร่ทองคำ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจเหมืองแร่ทองคำอัคราก็ได้สร้างอาชีพให้แก่ชุมชนมีรายได้ที่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ แต่ก็มีชาวบ้านอีกกลุ่มที่อ้างว่าได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบธุรกิจเหมืองแร่ทองคำเช่นกัน ดังนั้น ทางออกของปัญหาคือการสร้างการยอมรับให้แก่ทุกฝ่ายให้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหา โดยมีตัวแทนกลุ่มชาวบ้านในชุมชุนที่ได้รับผลกระทบกับผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ มาอยู่ในคณะทำงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกลุ่มนักวิชาการและหน่วยงานราชการ เพื่อนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอีกครั้ง ซึ่งผลการศึกษาที่ได้จากการคณะทำงานชุดนี้ เชื่อว่าจะสามารถสร้างการยอมรับให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการประชุมทางผู้สื่อข่าวได้รับสำเนาเอกสารร้องเรียน ซึ่งมีรายชื่อชาวบ้านที่อ้างว่าได้รับผลกระทบจำนวนร้อยกว่าคน และมีข้อสังเกตว่า ลายเซ็นต์ของชาวบ้านกลุ่มนี้ มีลายมือซ้ำกันจำนวนมาก สอดคล้องกับการมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจทับคล้อว่า ไม่เคยเซ็นต์และไม่มีส่วนรู้เห็นเรื่องนี้เลย ชาวบ้านคนหนึ่งยังได้ชี้ให้ดูว่า มีลายเซ็นต์ที่ลงเป็นเด็กชายและเด็กหญิงจำนวนหนึ่ง ที่สำคัญยังมีชื่อคนที่ตายไปแล้วในบัญชีด้วย ซึ่งคงต้องติดตามต่อไปว่า ฝ่ายทหารจะดำเนินการเรื่องการปลอมแปลงเอกสารอย่างไร ใครเป็นตัวการ และใครต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย