- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Wednesday, 13 April 2016 23:29
- Hits: 27146
โคคา-โคลาฯ ชูการจัดการน้ำภายในองค์กรและชุมชน·ชูกรอบ 3R: Reduce Recycle และ Replenish จัดการน้ำทั้งภายในและภายนอก
·ภายในองค์กร กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลาฯ มุ่ง ลด (Reduce) การใช้น้ำ และนำน้ำที่บำบัดสะอาดแล้วกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เพื่อลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำภายนอกของชุมชน
ภายนอกองค์กร มุ่งคืนน้ำกลับสู่ชุมชน (Replenish) โดยร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ องค์กรไม่แสวงผลกำไรอื่นๆ และชุมชน สร้างการจัดการน้ำชุมชนของแต่ละพื้นที่อย่างยั่งยืน
·โครงการ “รักน้ำ” ในพื้นที่รังสิต ประสบความสำเร็จในการส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่ร่องสวน 22,632 ไร่ ผู้ได้รับประโยชน์ 6,473 ครัวเรือน 21,734 คน พื้นที่การเกษตร 52,000 ไร่
· ชุมชนบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ตัวอย่างการจัดการน้ำชุมชนที่มีประสิทธิภาพแม้ยามภัยแล้ง
รังสิต ปทุมธานี 7 เมษายน 2559 – กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัทโคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด และบริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินโครงการ “รักน้ำ”ผ่านมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย โดยร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดกิจกรรมพาสื่อมวลชนเยี่ยมชมพื้นที่รังสิต ตัวอย่างการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างรับผิดชอบและมีประสิทธิภาพ ในระดับองค์กร คือโรงงานไทยน้ำทิพย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่รังสิตคลอง 13 และในระดับชุมชน คือ ชุมชนบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ในขณะที่ปัญหาภัยแล้ง ในปี 2559 ส่งผลกระทบต่อการเกษตร และความเป็นอยู่ของชุมชนในวงกว้าง แต่พื้นที่รังสิตคลอง 7 - 14 ในตำบลบึงชำอ้อ ตำบลบึงบอน ตำบลบึงกาสาม ตำบลนพรัตน์ ตำบลบึงบา และตำบลหนองสามวัง กลับสามารถปรับตัวเพื่อรอดพ้นจากผลกระทบ ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลส่วนท้องถิ่น องค์กรไม่แสวงผลกำไร เอกชน และชุมชน เพื่อเป็นตัวอย่างให้ชุมชน และภาคส่วนต่างๆ ผสานความร่วมมือในรูปแบบดังกล่าว ซึ่งเป็นโมเดลที่ไม่ซับซ้อนแต่มีประสิทธิผลที่ยั่งยืน
นายธงชัย ศิริธร ผู้อำนวยการกิจกรรมสังคมและสื่อสารองค์กร บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด และ กรรมการ มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการ “รักน้ำ” ดำเนินการภายใต้กรอบการทำงาน 3 R’s คือ Reduce ลดปริมาณการใช้น้ำในโรงงานและการผลิตให้ได้ร้อยละ 25 ภายในปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2553 Recycle บำบัดน้ำจากกระบวนการผลิตจนได้น้ำสะอาดในระดับที่สัตว์น้ำสามารถอาศัยอยู่ได้ และนำน้ำส่วนหนึ่งกลับมาใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ในโรงงานนอกเหนือจากการผลิตเครื่องดื่ม และ Replenish คืนน้ำสู่ชุมชนและธรรมชาติในปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณที่ใช้ในการผลิตเครื่องดื่ม ภายในปี 2563 ซึ่งภายในองค์กรนั้น โรงงานไทยน้ำทิพย์และหาดทิพย์ทั้ง 7 แห่งทั่วประเทศได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้”
แหล่งน้ำที่กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลาฯ ใช้ในการผลิตเครื่องดื่ม มาจาก 3 ส่วนคือ น้ำใต้ดินซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดโดยเป็นน้ำระดับลึก 100 - 200 เมตรที่ลึกกว่าแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค รองลงมาคือน้ำประปาและน้ำผิวดิน นอกจากนี้ น้ำที่บำบัดแล้วจะถูกคืนกลับสู่แหล่งน้ำผิวดิน ลดผลกระทบกับเกษตรกรและชุมชน
“ในปีนี้ โรงงานรังสิตของไทยน้ำทิพย์ ยังได้ริเริ่มโครงการปันน้ำให้กับชุมชนใกล้เคียง เพื่อช่วยบรรเทาความลำบากในช่วงภัยแล้ง โดยนำน้ำประปาที่โรงงานผลิตเองจากแหล่งน้ำผิวดินมาสำรองไว้ในถังน้ำประปาหน้าโรงงาน เปิดให้ประชาชนในพื้นที่นำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค 6,000 ลิตรต่อวัน อีกด้วย” นายธงชัย ศิริธรกล่าว
“สำหรับ การคืนน้ำกลับสู่ชุมชนและธรรมชาติอย่างปลอดภัย หรือ Replenish นั้น เราได้ร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และองค์กรไม่แสวงผลกำไรอื่นๆ เข้าไปสนับสนุนชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ใช้น้ำในการผลิตเครื่องดื่ม รวม 9 แห่ง ใน 8 จังหวัดแก้ปัญหาน้ำที่แตกต่างออกไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งตั้งแต่ริเริ่มโครงการ “รักน้ำ” มาตั้งแต่ปี 2550 สามารถคืนน้ำสู่ชุมชนและธรรมชาติเกินกว่าปริมาณที่ใช้ในการผลิตเครื่องดื่มได้แล้ว และเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2563 ”
ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “รังสิตถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านชลประทานของประเทศ แม้ในปี 2559 สถานการณ์ภัยแล้งยังคงสร้างผลกระทบให้กับภาคการเกษตรและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้างอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แต่ชุมชนในพื้นที่รังสิตก็สามารถเดินหน้าอาชีพเกษตรกรรม และมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค จากความร่วมมือของเกษตรกรที่ปรับการทำนามาเป็นเกษตรแบบผสมผสานปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ เห็นได้ชัดว่าการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เป็นแนวคิดที่ทำได้ง่าย และชุมชนสามารถเริ่มต้นได้ทันที แต่ให้ผลลัพธ์ที่แก้ปัญหาในพื้นที่โดยตรงในระยะยาว จึงอยากให้ภาครัฐ เอกชน และชุมชนอื่นๆ มองตัวอย่างการทำงานในรูปแบบนี้ ซึ่งหากชุมชนทั่วประเทศมีการแก้ปัญหาในพื้นที่ของตน ก็จะสามารถบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งในระดับประเทศได้"
โครงการ “รักน้ำ” ในพื้นที่รังสิตได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย จำนวน 7.7 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2556 โดยชุมชนบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เป็นหนึ่งในชุมชนตัวอย่างในพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ “รักน้ำ” และด้วยองค์ความรู้บริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ การทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นและชาวบ้าน เมื่อเกิดภัยแล้ง ชาวบ้านซึ่งมีอาชีพหลักคือ ทำนา ก็หยุดทำนาชั่วคราวและปรับมาปลูกพืชอื่นๆ ที่ใช้น้ำน้อยแต่ยังสามารถสร้างรายได้ อาทิ ข้าวโพด ปาล์ม กล้วย พริก มะนาว ตะไคร้ ร่วมกับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ อาทิ การทำสระแก้มลิงและบ่อดินเพื่อเก็บกักน้ำ ซ่อมแซมบ่อและบานประตูพักน้ำ ซื้อเรือดูดเลนป้องกันคลองและแหล่งน้ำที่ตื้นเขิน ทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างคลองหลัก คลองซอย และร่องสวน เกิดการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ปัจจุบันสามารถเก็บกักน้ำในระบบได้ทั้งหมด 29,000 ล้านลิตร สามารถกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่ร่องสวน 22,632 ไร่ ผู้ได้รับประโยชน์ 6,473 ครัวเรือน 21,734 คน พื้นที่การเกษตร 52,000 ไร่
“มูลนิธิโคคา-โคลาฯ จะเดินหน้าให้การสนับสนุนพื้นที่รังสิตและพื้นที่อื่นๆ ภายใต้โครงการ “รักน้ำ” อย่างต่อเนื่อง แม้เราจะสามารถคืนน้ำสู่ชุมชนและธรรมชาติได้เกินกว่าปริมาณที่ใช้ในการผลิตเครื่องดื่มได้แล้ว และประชาชนทั่วประเทศกว่า 1 ล้านคนได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้ เพื่อสร้างต้นแบบและองค์ความรู้การจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนที่ชาวบ้านสามารถดำเนินการต่อได้เอง และเป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่นๆ เริ่มดำเนินรอยตาม” นายธงชัย ศิริธร ผู้อำนวยการกิจกรรมสังคมและสื่อสารองค์กร บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด และ กรรมการ มูลนิธิ โคคา-โคลา ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย