- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Sunday, 06 December 2015 11:54
- Hits: 6244
ซีพีเอฟ ร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ปลูกป่าบก-ป่าชายเลน ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พ่อหลวงของแผ่นดิน
จากความมุ่งมั่นในการสนับสนุนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)หรือ ซีพีเอฟ ได้วางกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านยุทธศาสตร์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน “ดินน้ำป่าคงอยู่” นับเป็น 1 ใน 3 ยุทธศาสตร์ ที่มุ่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยซีพีเอฟจัดกิจกรรมปลูกป่าบก-ป่าชายเลนขึ้นในวันเดียวกัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558
ซีพีเอฟ เดินตามแผนยุทธศาสตร์ป่าชายเลน 5 ปี (2557-2561) จับมือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ร่วมโครงการ “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” โดยครั้งนี้มีชีพีเอฟจิตอาสา และชุมชนกว่า 500 คน ลงพื้นที่พื้นที่ หมู่ 2 ตำบลชุมโค อำเภอ ปะทิว จังหวัด ชุมพร ร่วมกันปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 1,000,000 ตัว และปลูกป่าชายเลนใหม่ 40 ไร่ ซึ่งต่อยอดจากการลงพื้นที่ปลูกที่ผ่านมาแล้วจำนวน 60 ไร่ มีอัตราการรอดตายของป่าชายเลนสูงถึง 85% และมีการปลูกซ่อมเสริมอยู่ตลอดเวลา การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้ซีพีเอฟสามารถปลูกป่าชายเลนครบ 100 ไร่ ร่วมด้วยพื้นที่อนุรักษ์อีก 850 ไร่ ตามยุทธศาสตร์ป่าชายเลนที่ได้วางไว้ในพื้นที่จังหวัดชุมพร
จากการลงพื้นที่ปลูกป่าชายเลนในครั้งนี้ทำให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเริ่มกลับคืนมา มีนก แมลง ปลา และสัตว์น้ำต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันยังได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร เพื่อทำการสำรวจ และวิจัยถึงความหลากหลายทางชีวภาพ จากการปลูกป่าชายเลน ซึ่งโครงการนี้นอกจากชุมชนจะได้ผืนป่าคืนแล้ว จำนวนสัตว์น้ำยังเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ปลูกพืชเพิ่มขึ้น ช่วยต่อยอดเศรษฐกิจให้คนในชุมชนได้อีกด้วย ทั้งยังร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ Food and Agriculture Organization (FAO), International Union for Conservation of Nature (IUCN), World Wide Fund for Nature (WWF), Mangroves for the Future (MFF) ฯลฯ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และต่อยอดการดำเนินงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน
ซีพีเอฟ วางแผนสร้างศูนย์เรียนรู้ด้านป่าชายเลนในพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กนักเรียน คนในชุมชน และผู้สนใจทั่วไปได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องป่าชายเลนอย่างถูกต้อง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้เข้าชมได้ในปี 2559 ในขณะเดียวกันจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
นายอภิชัย เอกวนากุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินโครงการ มี 3 ประการ คือ “ภาครัฐ” หน่วยงานราชการในพื้นที่ ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด “ภาคประชาสังคม” มีความเข้มแข็ง มีกฎกติกาชุมชน ห้ามตัดไม้ทำลายป่าชายเลน มีจิตอาสาชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) เดินสำรวจ เพื่อไม่ให้มีการบุกรุกทำลาย และ “ภาคเอกชน” โดยซีพีเอฟได้สนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2554 จนปัจจุบันได้พัฒนาเป็นยุทธศาสตร์ป่าชายเลนของ ซีพีเอฟ ความร่วมมือนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาป่าชายเลนในปัจจุบัน โดยแทนที่ด้วยป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน
ด้าน 4 สาวจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร นำทีมโดยน้องณัฐวดี นุชน้อย นักศึกษาชั้นปี1 กล่าวว่า “เป็นครั้งแรกที่มีโอกาสได้ปลูกป่า ส่วนตัวคิดว่าเราทุกคนมีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน พอวันนี้ได้มาปลูกป่าชายเลนร่วมกับซีพีเอฟ จึงรู้สึกว่าอย่างน้อยเราก็ได้มีโอกาสปลูกต้นไม้ คืนผืนป่าให้กับธรรมชาติ อยากให้พื้นที่นี้เต็มไปด้วยต้นไม้ และเป็นที่อนุบาลของพันธุ์สัตว์น้ำ อยากให้องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันทำกิจกรรมอย่างนี้เรื่อยๆ และก็จะมาร่วมทุกปี”
ภายในวันเดียวกันโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ ซีพีเอฟ จังหวัดนครราชสีมา ยังได้จัด “โครงการรักษ์ลำน้ำมูล” ต่อเนื่องปีที่ 7 โดยร่วมกับประมงจังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนตำบลท่าอ่าง ชาวชุมชนบ้านกุดโบสถ์ และหน่วยงานราชการกว่า 600 คน ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลา 199,999 ตัว ปลูกต้นไม้ 1,999 ต้น ณ บ้านกุดโบสถ์ ตำบลท่าอ่าง อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อร่วมกันฟื้นฟูและพัฒนาสภาพแวดล้อมของแม่น้ำมูล รวมถึงรักษาระบบนิเวศให้คงความสมบูรณ์ มีการปล่อยพันธุ์ปลาท้องถิ่นหายาก อาทิ ปลาตะเพียน ปลาบ้า เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลาให้คงอยู่คู่ชุมชน รวมถึงมีกิจกรรมปลูกต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะ และแจกต้นไม้ให้ชาวบ้านในชุมชนไปปลูกที่บ้านหรือที่ทุ่งนาของตน อาทิ ต้นพะยุง แคนา ยางนา ขี้เหล็ก สะเดา ฯลฯ เพื่อช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน
นอกจากภายในงานยังได้รับเกียรติจากนายสุวิทย์ คำดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มอบประกาศนียบัตรให้กับเยาวชน 58 คน จากโรงเรียนบ้านหนองเสาเดียว โรงเรียนบ้านกุดโบสถ์ และโรงเรียนบ้านดอนพราหมณ์ จังหวัด นครราชสีมาที่เข้าร่วม “โครงการนักสืบสายน้ำ” กับซีพีเอฟ เพื่อเรียนรู้การวัดคุณภาพน้ำทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ นับเป็นการสร้างเครือข่ายเยาวชนที่เปี่ยมไปด้วยจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมอาสามาช่วยกันเฝ้าระวังลำน้ำมูลให้คงความสะอาดอยู่คู่กับชุมชน
นับเป็นการเดินหน้างานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของซีพีเอฟอย่างจริงจัง ผ่านความร่วมมือกับเครือข่าย ก่อเกิดการทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อช่วยกันนำเสนอแนวความคิด ส่งผ่านองค์ความรู้ อันนำไปสู่การร่วมกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน