- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Friday, 06 November 2015 19:20
- Hits: 15087
4 เขื่อนวิกฤต-กรมชลฯยํ้าหยุดนาปรัง ชี้เหลือน้ำอยู่ไม่ถึงครึ่ง ลำตะคองปิดจ่าย 7 เดือน
4 เขื่อนใหญ่วิกฤตภัยแล้ง ระดับน้ำลดฮวบ สระแก้วอ่างเก็บทั้ง 16 แห่งมีน้ำกักเก็บเฉลี่ย เพียง 40%ของความจุทั้งหมด กลุ่มหาปลาเลี้ยงชีพต้องอพยพไปหากินถิ่นอื่น ขณะที่เขื่อนลำตะคองประกาศงดการจ่ายน้ำทำนาปรัง-ปลูกพืช ฤดูแล้ง จนถึงหน้าฝนปีหน้า นาน 7 เดือน เหตุต้องกักเก็บน้ำไว้สำหรับอุปโภค-บริโภคของประชาชนท้ายเขื่อนใน 5 อำเภอ ด้านกรมชลประทานเชื่อหากทำตามแผนบริหารจัดการน้ำจะไม่กระทบเรื่องน้ำกินน้ำใช้ อีกทั้งมีน้ำลอยกระทงแน่นอน
วันที่ 06 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9109 ข่าวสดรายวัน
น้ำแห้ง- สภาพน้ำในเขื่อนพระปรง จ.สระแก้ว ที่แห้งขอดทำให้ปลาในเขื่อนลดน้อย ไปด้วย จนชาวบ้านที่ทำอาชีพประมงในเขื่อนมานาน 20 ปี เริ่มอพยพออกไปยังถิ่นอื่น เมื่อวันที่ 5 พ.ย.
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาภัยแล้งว่า เรื่องน้ำแต่ละเขื่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานตัวเลขกับตนตลอด ส่วนบางพื้นที่ชาวนายังปลูกข้าวนาปรังทั้งๆ ที่ภาครัฐขอความร่วมมือไม่ให้ปลูกนั้นจะให้ไปจับชาวนาติดคุกเอาไหม ตรงนี้จะให้ทำอย่างไรตนบอกไปแล้วว่าพยายามอย่าทำนาปรัง ใช้น้ำให้ประหยัด หันไปปลูกพืชชนิดอื่นก็แนะนำตลอด สื่อเองก็ต้องบอกชาวนาแบบนี้ ไม่ใช่มาบอกว่าน้ำไม่มีแล้วรัฐบาลต้องรับผิดชอบต้องหาวิธีหาเงินชดเชย
"เรื่องทำข้าวนาปรัง ผมห้ามก็ไม่เชื่อ ผมบอกว่าถ้าทำแล้วเสียหายไม่มีน้ำ ผมก็ไม่ดูแล ดูแลไม่ได้ เพราะเตือนแล้ว ก็เห็นอยู่แล้วว่าน้ำไม่มี 4 เขื่อนมีน้ำ 4 พันกว่าลูกบาศก์เมตร หน่วยงานที่รับผิดชอบรายงานตัวเลขผมอยู่ทุกวัน ทั้งน้ำในเขื่อน นอกเขื่อน ปีที่แล้วคาดการณ์ก่อนฝนเข้ามีปริมาณน้ำ 3,600 แต่หลังจากพายุเข้าปริมาณน้ำ 41,000 แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำนาปรังได้ น้ำที่มีถ้าหารแล้วจะอยู่ได้ไม่กี่เดือนก็จะหมดจากเขื่อน ก็จะไม่มีน้ำประปากิน ดังนั้น อยากให้ชาวนาเชื่อภาครัฐที่แนะนำให้ปลูกพืชอย่างอื่นทดแทน อยากให้สื่อช่วยตรงนี้ด้วยทั้งชาวนาและชาวสวนยาง" นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เมื่อสื่อลงไปทำข่าวก็ควรจะไปแนะนำชาวนาให้ไปหาผู้ว่าฯ แต่ไปถามข้อมูลจากชาวนาเขาก็ไม่รู้เรื่อง เสร็จแล้วก็เป็นเหยื่อเขาที่เรียกร้องเรื่องการเลือกตั้ง ถ้าเลือกตั้งมาแล้วจะดีกว่านี้ จะขายข้าวได้ราคามากกว่านี้ น้ำวันนี้มันพร่องเพราะอะไร น้ำในเขื่อนน้อยเพราะอะไร ต้องไปดูว่าน้ำรองเขื่อนมีเท่าไหร่ น้ำรองเขื่อนต่ำมาตั้งแต่ปี 2555 เพราะปล่อยน้ำมาทำนาจนเหลือเฟือ เพราะจำนำข้าว ก็ปลูกให้มากเข้าไปสิ เอาน้ำไปใช้ให้หมด น้ำที่ควรจะอยู่รองก้นเขื่อนพอฝนตกมาก็จะเติมน้ำในเขื่อน แต่วันนี้น้ำในเขื่อนต่ำลงกว่าเกณฑ์ตั้งแต่ปี 2555 ทั้งกลัวเรื่องน้ำท่วมและปล่อยน้ำมาปลูกข้าว เมื่อฝนตกมาน้อยน้ำรองเขื่อนก็เตี้ยอยู่อย่างนี้ แล้วน้ำรองเขื่อนมันจะไปไหนได้ คิดให้เป็นบ้าง วันนี้มีบางกลุ่มไปบอกชาวนาให้ใจเย็นๆ เดี๋ยวเขาก็ไปแล้ว ปลูกข้าวไปก่อนเดี๋ยวกลับมาจะทำแบบเดิมให้
ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า วันที่ 6 พ.ย.กรมชล ประทานได้เพิ่มการระบายน้ำใน 4 เขื่อนหลักเป็น 15.1 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ต่อวัน จากวันก่อนระบายรวม 13.88 ล้านลบ.ม./วัน เพื่อเพิ่มน้ำเข้าไปในแม่น้ำลำคลองที่ประชาชนต้องใช้ หลังปริมาณน้ำลดต่ำลง และจากนี้ต่อไปกรมชลประทานจะบริหารน้ำตามแผนในระยะเวลา 8 เดือนนับจากนี้ถึงพ.ค.2559 อย่างเคร่งครัด ซึ่งน้ำต้นทุนที่มีในปีนี้ประมาณ 4,247 ล้านลบ.ม.ถือว่าค่อนข้างน้อย แต่หากดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำได้ ปริมาณน้ำที่ลดต่ำลงจะไม่กระทบต่อน้ำกินน้ำใช้ ช่วงวันลอยกระทงที่จะถึงเชื่อว่าคนไทยยังสามารถมีน้ำลอยกระทงแน่นอน
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า สำหรับปริมาณ น้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ มีปริมาตรน้ำใช้การได้รวม 4,247 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 23% ของปริมาณน้ำไหลลงอ่างรวม 15.54 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายรวม 13.88 ล้านลบ.ม. จากปริมาณน้ำทั้งหมด 10,949 ล้านลบ.ม. หรือ 44% ของความจุอ่าง ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 15.5 ล้านลบ.ม. โดยปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำในอ่าง 4,991 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 37% มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 1,191 ล้านลบ.ม.หรือ 12%
ส่วนเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำในอ่าง 4,908 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 52% ของความจุ มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 2,058 ล้านลบ.ม. หรือ 31% เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีปริมาณน้ำในอ่าง 414 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 44% มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 371 ล้านลบ.ม.หรือ 41% และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำในอ่าง 636 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 66% มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 633 ล้านลบ.ม.หรือ 66%
ขณะที่แผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 58/59 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ 1 พ.ย. 2558 ใน 4 เขื่อนใหญ่มีน้ำใช้การได้รวม 4,247 ล้านลบ.ม. จัดสรรเพื่ออุปโภคบริโภค 1,100 ล้านลบ.ม. รักษาระบบนิเวศ 1,400 ล้านลบ.ม. สำหรับไม้ผลและอ้อยที่ปลูกไว้เดิม 400 ล้านลบ.ม. สำรองไว้ใช้ต้นฤดูฝนปีหน้าอีก 1,347 ล้านลบ.ม. หากดำเนินการตามแผนไม่มีการลักลอบสูบน้ำไปใช้ส่วนตัวนอกเหนือจากแผนบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน เชื่อว่าจากนี้ถึงพ.ค.2559 คนไทยจะไม่มีปัญหาเรื่องของน้ำกินน้ำใช้แน่นอน
นายสุเทพ ยังกล่าวอีกว่า นอกจากน้ำต้นทุนที่มีเก็บไว้ใช้ในเขื่อนแล้ว ยังมีน้ำจากแหล่งน้ำอื่นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดังนี้ แหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ทั้งประเทศจำนวน 352,528 บ่อ ความจุรวม 352 ล้านลบ.ม. มีปริมาตรน้ำรวม 208 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 59% ของความจุทั้งหมด และน้ำตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากร ได้แก่ แหล่งน้ำในและนอกเขตชลประทาน สระน้ำในไร่นา น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร มีความจุรวม 1,375.96 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำรวม 926.49 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 67% ของความจุทั้งหมด
ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งที่จ.สระแก้ว เข้าขั้นวิกฤต น้ำในอ่างเก็บมีเพียง 40% ของความจุ นายทินกร สุทิน ผอ.โครงการชล ประทานสระแก้วกล่าวว่า ปีนี้ประสบปัญหาฝนตกปริมาณน้อย แม้มีการทำฝนหลวงแต่ยังประสบปัญหาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยทำให้ฝนตกน้อยไม่ครอบคลุมพื้นที่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บทั้ง 16 อ่าง มีน้ำกักเก็บเฉลี่ยเพียง 40% ของความจุอ่างทั้งหมด หากเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาพบน้อยกว่าเกือบครึ่ง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยยาง ห้วยตะเคียน คลองตาด้วง และคลองส้มป่อย แหล่งน้ำดิบที่ใช้ทำนาปีอยู่ในขั้นใกล้วิกฤต กระทบต่อฤดูกาลทำนาของหลายอำเภออย่างแน่นอน
ขณะที่อาชีพชาวประมงที่นำเรือออกหาปลาในเขื่อนพระปรงก็ได้รับความเดือดร้อนจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีน้อยลง ชาวประมงที่หาปลาอยู่ในเขื่อนนับร้อยลำเริ่มอพยพออกไปหากินยังถิ่นอื่น เนื่องจากในแต่ละวันออกหาปลาไม่ได้อีกแล้ว นายพิศาล ทองสุข อายุ 31 ปี กล่าวว่า เมื่อก่อนมีเรือไม่ต่ำกว่า 100 ลำ ปัจจุบันเหลือประมาณ 20 ลำ นอกนั้นอพยพย้ายถิ่นฐานไปหากินที่อื่นกันหมดแล้ว ที่เหลืออยู่ก็จำเป็นต้องออกหาจับปลาในเขื่อนพระปรงหาเลี้ยงครอบครัว ได้บ้างไม่ได้บ้าง บางวันพอได้แค่ค่ากับข้าว
ที่จ.ลพบุรี นายภานุ แย้มศรี ผวจ.ลพบุรี กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า นำหน่วยงานด้านบริหารจัดการน้ำติดตามสถานการณ์น้ำที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พบว่ามีปริมาณน้ำสะสมอยู่ที่ 634.58 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 66.10% ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมาช่วงเดือนเดียวกันถึงกว่า 300 ล้านลบ.ม. คาดว่าจะเป็นปริมาณที่สูงสุดในรอบปี 2558 เนื่องจากขณะนี้ผ่านพ้นฤดูฝนไปหมดแล้ว และเขื่อนยังจำเป็นต้องระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อน เพื่อการอุปโภคและบริโภค รักษาระบบนิเวศบริเวณท้ายน้ำของแม่น้ำป่าสัก ถือว่ายังไม่เพียงพอกับการทำเกษตรที่ต้องอาศัยน้ำในปริมาณมาก
สำหรับ จ.นครสวรรค์ ประชาชน ทหาร นักศึกษาวิชาทหาร อาสาสมัคร อปพร. กว่า 100 คน ร่วมกันก่อสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อ กักเก็บน้ำไว้แก้ไขปัญหาภัยแล้ง บริเวณคลองท่าขนมจีน หมู่ 12 ต.บ้านแก่ง อ.เมือง จ.นครสวรรค์ คาดว่าจะเก็บน้ำได้นาน 2 เดือน และใช้ในพื้นที่การเกษตรได้ 5,000 ไร่ ส่วนพิษณุโลกเตรียมการรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง อบต.หลายแห่งเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์เอาไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะ อบต.ชุมแสงสงคราม อบต.ท่านางงาม เร่งสร้างเขื่อนดินขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำยมใน เขต ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จำนวน 2 จุด เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งนับจากนี้ไปจนถึงเดือนพ.ค.2559
ขณะที่ภัยแล้งจ.กำแพงเพชร นายชำนาญ จารุเสนีย์ รองนายกเทศบาลตำบลนครชุม กล่าวว่า ปีนี้รุนแรงมาก น้ำจากต้นทางไหลมาจาก อ.คลองลาน ผ่านคลองสวนหมาก ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำปิงได้แห้งขอดลงจนมีปริมาณน้ำน้อย มองเห็นหาดทรายกลางคลองอย่างเห็นได้ชัด ปกติที่ผ่านมาน้ำในคลองสวนหมากไม่เคยแห้งขนาดนี้ แหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น คลองสวนหมาก ซึ่งเป็นคลองขนาดใหญ่รับน้ำจากเทือกเขาคลองลานและคลองน้ำไหล โดยปกติน้ำในคลองสวนหมากมีน้ำตลอด ทั้งปี เพียงพอให้เกษตรกรใช้ในการอุปโภคบริโภคและเพาะปลูกได้ทุกฤดูกาล
ส่วนสถานการณ์จ.อุตรดิตถ์ โดยเฉพาะพื้น ต.น้ำพี้ อ.ทองแสนขัน ชาวบ้านกว่า 3,000 ครัวเรือนเริ่มขาดแคลนน้ำประปาเพื่ออุปโภคบริโภค จึงรวมตัวกันนำท่อน้ำและเครื่องสูบน้ำจำนวนมากสูบน้ำจากลำน้ำห้วยพี้ลงฝายน้ำล้นกั้นเป็นช่วงเพื่อกักเก็บน้ำในแต่ละจุด 4 แห่ง แล้วสูบข้ามฝายแต่ละแห่งเข้ายัง พื้นที่หมู่บ้านในลักษณะกาลักน้ำ ยาวกว่า 8 ก.ม.เพื่อส่งน้ำไปกักเก็บยังสระน้ำสาธารณะ 8 หมู่บ้าน สำรองทำเป็นน้ำดิบผลิตเป็นน้ำประปาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ในช่วงนี้
นายภิศิษฐ์ วงศ์ทอง รองนายก อบต.น้ำพี้ กล่าวว่า ภัยแล้งครั้งนี้ข้าวปลูกได้ผลผลิตไม่ถึง 10% ข้าวโพดได้รับความเสียหายกว่า 80% ทำให้ชาวบ้านไม่มีรายได้และเงินไปชำระหนี้สินธ.ก.ส.และนอกระบบ คาดช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 จะเกิดกลียุคเพราะไม่มีน้ำกินน้ำใช้ เมื่อทำการเกษตรไม่ได้คนจะเริ่มอพยพทิ้งถิ่นฐานบ้านช่องตัวเองไปแออัดทำงานในกรุงเทพฯ หรือแหล่งใหญ่ที่มีงานทำ เพื่อดิ้นรนต่อสู้แล้วหาเงินส่งกลับบ้านเลี้ยงดูครอบครัว นับเป็นเรื่องโหดร้ายที่ชาวบ้านทั้งตำบลไม่เคยเจอกับภัยธรรมชาติครั้งนี้มาก่อน
วันเดียวกัน ที่จ.นครราชสีมา นายสุทธิโรจน์ กองแก้ว ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคองเปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำกักเก็บน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ต้องแจ้งประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคองว่าขณะนี้ปริมาณน้ำเขื่อนลำตะคองเหลืออยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าปกติ ไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือในการทำนาปรังและการปลูกพืชฤดูแล้งประจำปี 2558/2559 นี้ได้ จำเป็นต้องงดการจ่ายน้ำเพื่อทำนาปรังและการปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทานทั้งหมดเพื่อกักเก็บรักษาน้ำที่เหลือไว้อุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อน 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.สีคิ้ว, อ.สูงเนิน, อ.ขามทะเลสอ, อ.เมืองนครราชสีมา และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ตลอดฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2558 ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2559 รวมระยะเวลา 7 เดือน จนกว่าจะถึงฤดูฝนใหม่ในปี 2559 สำหรับเกษตรกรที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการให้ติดต่อไปยังนายอำเภอ หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเจ้าของพื้นที่
ขณะที่สถานการณ์ปริมาณน้ำภายในอ่างเก็บขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่จ.นครราชสีมา ณ วันที่ 4 พ.ย.58 มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 553.20 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 47% จากความจุกักเก็บทั้งสิ้น 1,175 ล้านลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้ได้ 493.50 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 42% หากเทียบปริมาณน้ำในวันที่ 4 พ.ย.2557 มีปริมาณน้ำกักเก็บน้อยกว่าปริมาณน้ำกักเก็บทั้งหมด
ด้านนายอำเภอด่านขุนทด พร้อมด้วยส.อบจ.นครราชสีมา และนายก อบต.หนองไทร ร่วมกับชาวบ้านติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกลพร้อมต่อท่อลำเลียงเพื่อสูบน้ำจากฝายกักเก็บน้ำบ้านหนองไทร หมู่ 4 มาเก็บกักที่อ่างเก็บน้ำบ้านหนองสะแก หมู่ 5 ซึ่งมีระยะทาง 3.5 ก.ม. เนื่องจากแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ ผลิตน้ำประปาหมู่บ้านมีระดับน้ำเหลือเพียง 1 เมตรซึ่งใกล้แห้งขอด เพื่อช่วยบรรเทา ปัญหาให้ประชาชนได้มีน้ำอุปโภคบริโภคถึง ต้นปี"59 และขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เกิดประโยชน์สูงสุด มิเช่นนั้นแล้ง ปีหน้าจะเกิดวิกฤตอย่างแน่นอน