- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Thursday, 08 May 2014 12:48
- Hits: 5150
วันที่ 08 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8562 ข่าวสดรายวัน
สั่งผวจ.เร่งช่วย เหยื่อดินไหว ปภ.สรุปเสียหาย บ้าน 3.5 พันหลัง
พิษดินไหว- พระบรมธาตุนครชุม โบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองกำแพงเพชร ได้รับความ เสียหายจากแผ่นดินไหว จนแตกร้าวบริเวณฐานชั้นที่ 2 ขององค์พระบรมธาตุ และยอดฉัตรยังเอียง อีกด้วย เมื่อวันที่ 7 พ.ค. |
พิษเหนือดินไหว สรุปบ้านพัง 3.5 พันหลัง แถมยังสั่นไม่หยุด เกิดอาฟเตอร์ช็อกทั้งคืนกว่า 270 ครั้ง มท.1 ประชุม 14 ผู้ว่าฯเหนือเร่งช่วยเหลือ สั่ง 22 จว.ตั้งบน 14 รอยเลื่อนซักซ้อมรับมือ "จาตุรนต์"รุดตรวจโรงเรียนเชียงราย พบเสียหาย 73 แห่ง เร่งซ่อมให้ทันเปิดเทอม พระธาตุนครชุมก็แตกร้าว นักวิชาการแนะอีก เฝ้าระวังรอยเลื่อนนอกสายตา
ถก 14 ผวจ.เหนือรับมือดินไหว
เมื่อวันที่ 7 พ.ค. จากสถานการณ์ แผ่นดินไหวความรุนแรง 6.3 ริกเตอร์ จุดศูนย์ กลางอยู่บริเวณ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย ซึ่งสร้างความเสียหายให้บ้านเรือน อาคาร สถานที่ราชการและวัดจำนวนมาก โดยถือเป็นเหตุแผ่นดินไหวที่รุนแรงมากที่สุดในประเทศไทย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา จากนั้นยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกนับร้อยครั้ง พร้อมให้เฝ้าระวังอีก 5 รอยเลื่อนใน ภาคเหนือ ตามที่เคยเสนอข่าวไปนั้น
ความคืบหน้า นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ปฏิบัติหน้าที่รมว.มหาดไทย (มท.) เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว จึงสั่งกำชับมท. ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน พร้อมรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบเป็นระยะ ดังนั้น เพื่อเป็นการติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว มท. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้จัดประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัดภาคเหนือผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว
นายจารุพงศ์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นแบ่งงานเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย 1.สำรวจความเสียหายทั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ เส้นทางคมนาคม รวมถึงการตรวจสอบโครงสร้างและความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน ให้แล้วเสร็จใน 15 วัน 2.ซ่อมแซมเส้นทางคมนาคมที่เสียหายให้สามารถใช้งานตามปกติโดยเร็ว 3.สำรวจพื้นที่เสี่ยง กำหนดมาตรการและลดผลกระทบจากแผ่นดินไหว เช่น หลุมยุบ หินหน้าผาและดินถล่ม 4.การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวให้ปภ.ร่วมกับจังหวัด ตรวจสอบความเสียหาย
ต่อมานายจารุพงศ์ พร้อมนายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผวจ.เชียงราย และคณะ เดินทางตรวจเขื่อนโครงการชลประทานแม่ลาว หรือเขื่อนแม่สรวย จากการรายงานทราบว่า เขื่อนไม่ได้รับความเสียหาย และยังสามารถกักเก็บน้ำได้ปกติ
พิษดินเขย่า-เสียหาย 3.5 พันหลัง
นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ปฏิบัติหน้าที่รมช.มท. กล่าวว่า กำชับผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัดภาคเหนือ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะยุติ เนื่องจากหลังเกิดเหตุมาจนถึงตลอดทั้งคืนที่ผ่านมายังเกิดอาฟเตอร์ช็อกมากกว่า 270 ครั้ง
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดมท. กล่าวว่า สั่งการให้ปภ. ร่วมกับจังหวัดฝึกซ้อมแผนอพยพหนีภัยจากแผ่นดินไหว โดยเฉพาะ 22 จังหวัด ที่ตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนที่มีพลัง 14 รอยเลื่อน
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีปภ. เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลความเสียหายมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน และลำปาง รวม 12 อำเภอ 38 ตำบล 406 หมู่บ้าน ผู้เสียชีวิต 1 ราย ผู้บาดเจ็บ 23 ราย โดยจ.เชียงราย บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 4 หลัง เสียหายบางส่วน 3,500 หลัง วัด 10 แห่ง โรงเรียน 3 แห่ง โรงพยาบาล 3 แห่ง โรงแรม 1 แห่ง ถนนสายเชียงราย - เชียงใหม่ ทรุดตัวเป็นระยะทางยาว 50 เมตร ส่วน จ.เชียงใหม่ อาคารห้างเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต เสาร้าวเล็กน้อย จ.พะเยา อาคารเรียนร้าวเล็กน้อย พระธาตุวัดศรีปิงเมือง รอยร้าวถึงยอดเจดีย์ จ.น่าน อุโบสถวัดพระธาตุเขาน้อยมีรอยร้าว และจ.ลำปาง บ้านเรือนเสียหาย 1 หลัง
พายุซัด- พายุฝนและลมพัดกระโชกแรงซัดต้นยางขนาดใหญ่ 5 คนโอบ อายุกว่า 300 ปี จนหักล้มทับเมรุเผาศพพังทั้งหลัง ภายในบริเวณ วัดกงจักร ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 7 พ.ค. |
ยอดโรงเรียนพัง 73 แห่ง
วันเดียวกัน ที่ ร.ร.พานพิทยาคม อ.พาน นายจาตุรนต์ ฉายแสง ปฏิบัติรมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่สำรวจความเสียหายอาคารเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวว่า เบื้องต้นรวมแล้วมีสถานศึกษาในสังกัดเสียหาย 73 แห่ง รวมมูลค่า 152.5 ล้านบาท เป็นสถานศึกษาระดับประถมศึกษา 49 โรง มูลค่า 40.5 ล้านบาท ระดับมัธยมศึกษา 14 โรง มูลค่า 82 ล้านบาท ระดับอาชีวศึกษา 10 โรง มูลค่า 20 ล้านบาท และระดับอุดมศึกษา 1 โรง มูลค่า 10 ล้านบาท
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการซ่อมแซมนั้น หน่วยงานต้นสังกัดเตรียมงบประมาณไว้เบื้องต้นแล้ว แต่ในส่วนอาคารเรียนที่เสียหายอย่างหนักคงต้องทุบทิ้งแล้วสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องของบประมาณกลางจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่ม เพราะต้องใช้งบฯ วงเงินสูง เช่น อาคารเรียนร.ร.พานพิทยาคม เสียหายคิดเป็นมูลค่า 30 ล้านบาท ที่สำคัญต้องเตรียมงบฯ ไว้สำหรับรื้อถอนด้วย
"ขอให้ทุกโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายยึดหลักการว่า อาคารใดไม่แน่ใจในความปลอดภัย ให้ปิดกั้นห้ามคนเข้าไปนอกจากช่าง แต่หากผู้ปกครองไม่แน่ใจความปลอดภัย สามารถร้องขอให้ตรวจสอบได้ นอกจากนี้ต้องหาทางให้เปิดเรียนได้ภายในกำหนด 16 พ.ค. ซึ่งโรงเรียนที่อาคารเรียนได้รับความเสียหายทุกโรง ได้วางแผนเตรียมใช้อาคารประกอบเป็นสถานที่เรียนชั่วคราว รวมทั้งสร้างอาคารเรียนน็อกดาวน์เพิ่มเติม" นาย จาตุรนต์กล่าว
นายคำภา ชานะกุล นายช่างโยธาอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากการประเมินเบื้องต้นอาคารเรียนของร.ร.พานพิทยาคมได้รับความเสียหายอย่างหนักคงต้องทุบทิ้ง ซึ่งขณะนี้สพฐ.เพิ่งได้รับอนุมัติแบบอาคารเรียนที่ต้านแรงแผ่นดินไหว สำหรับโรงเรียนในพื้นที่ในเขตรอยเลื่อนหรือเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว โดยแบบอาคารเรียนจะมี 3 ชั้น และเสริมเหล็กโครงสร้างอาคารให้มีความมั่นคง รองรับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว
อาฟเตอร์ช็อกซ้ำ-ไหวไม่หยุด
สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยม วิทยา รายงานว่าจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ วันที่ 5 พ.ค. จนถึงวันที่ 7 พ.ค. ทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามมาหรืออาฟเตอร์ช็อกอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย ขนาด 5-5.9 ริกเตอร์ 7 ครั้ง ขนาด 4-4.9 ริกเตอร์ 21 ครั้ง ขนาด 3-3.9 ริกเตอร์ 66 ครั้ง ขนาดน้อยกว่า 3.0 ริกเตอร์ มากกว่า 180 ครั้ง
พิษดินไหว- นายจาตุรนต์ ฉายแสง ปฏิบัติหน้าที่ รมว.ศึกษาธิการ ตรวจซากความเสียหายที่โรงเรียนพานพิทยาคม อ.พาน จ.เชียงราย พบอาคารเรียนถูกแรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จนปูนแตกร้าวและพังแทบทั้งหลัง เมื่อวันที่ 7 พ.ค. |
โดยพบเหตุอาฟเตอร์ช็อกส่วนใหญ่เกิด ขึ้นที่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย และมีรายงาน อาฟเตอร์ช็อก ขนาด 4.9 จุด ศูนย์กลาง อ.แม่สรวย เมื่อคืนที่ผ่านมา ทำให้บ้านของ พ.ต.ท.อนันต์เดช ยาวิชัย รองผกก.สส.สภ. ภูซาง ซึ่งเป็นบ้านสองชั้นใน ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้อง พังถล่มลงมาเสียหายทั้งหลัง
พระธาตุนครชุมก็แตกร้าว
ที่ จ.กำแพงเพชร พระราชวชิรเมธี รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุนครชุม ตรวจสอบความ เสียหายรอยร้าวขององค์เจดีย์ จากเหตุแผ่นดินไหว โดยพบรอยแตกร้าวชั้น 2 ขององค์พระธาตุทั้ง 4 ด้าน นอกจากนี้ฉัตรซึ่งสร้างขึ้นใหม่อยู่บนยอดพระเจดีย์ ซึ่งเพิ่งอัญเชิญขึ้นไปก็เอียง นอกจากนี้ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงคำทำนายในคัมภีร์ใบลานอายุกว่า 200 ปี ซึ่งวัดได้เก็บรักษาไว้ โดยระบุจะเกิดแผ่นดินไหวในวันดังกล่าว เบื้องต้น
ด้านนางธาดา สังข์ทอง หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร กล่าวว่า หลังตรวจสอบพบรอยร้าวขององค์เจดีย์พระบรมธาตุ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 6 จะมาตรวจสอบโครงสร้าง
ที่จ.เชียงราย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านปากทางแม่สรวย ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว ยังคงออกมากางเต็นท์นอนนอกบ้านและนอนในรถ เพราะส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจกับสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง อีกทั้งยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกอย่างต่อเนื่อง
ที่ จ.น่าน นายอุกริช พึ่งโสภา ผวจ.น่าน กล่าวว่า ขณะนี้เฝ้าระวังสถานการณ์แผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจังหวัดเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เสี่ยงภัย เนื่องจากมีรอยเลื่อนปัว ซึ่งเคยเกิดแผ่นไหวขนาด 7 ริกเตอร์ เมื่อปี 2475 ขณะที่นายนิธิวัฒน์ นิธินันท์ธาร ปภ.น่าน กล่าวว่า จากการสำรวจพบวัดพระธาตุเขาน้อย ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่พระอุโบสถแตกร้าวหลายจุด วัดภูมินทร์ มีรอยแตกร้าวเช่นกัน
ที่ จ.พังงา นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานทุกแห่งในจังหวัด ตรวจสอบพื้นที่และเฝ้าระวังอันตรายหากเกิดเหตุแผ่นดินไหว เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งตั้งอยู่บนรอยเลื่อนมะรุ่ย ซึ่งเมื่อ 2 ปีก่อนเคยเคลื่อนตัวบริเวณ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต มาแล้วครั้งหนึ่งขนาดความรุนแรง 4.3 ริกเตอร์ ก่อนมีอาฟเตอร์ช็อกขนาด 5.3 ริกเตอร์ ตามมาหลายครั้ง นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวเคย ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิด้วย
แนะจับตารอยเลื่อนนอกสายตา
ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว "แผ่นดินไหว...รับมืออย่างไร" เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีศูนย์กลาง ที่ อ.พาน จ.เชียงราย วัดความรุนแรงได้ 6.3 ริกเตอร์
ศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ ภาควิชาธรณีวิทยา และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหว คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สาเหตุของแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 5 พ.ค. เกิดจากกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา ซึ่งเป็นรอยเลื่อนมีพลังและถือเป็นรอยเลื่อนนอกสายตา แต่ในอดีตเคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวมาแล้ว วัดความรุนแรง 5-5.6 ริกเตอร์ โดยหลังจากนี้นักวิชาการต้องหันมาสนใจรอยเลื่อนที่อยู่ในแนวเดียวกับรอยเลื่อนพะเยา ที่อาจมีการปรับตัวของดินใต้แผ่นเปลือกโลก รวมถึงรอยเลื่อนนอกสายตา เช่น รอยเลื่อนถลางและรอยเลื่อนองครักษ์
ด้านดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ ที่ปรึกษาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบควรสังเกตความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านเรือน เช่น พบเห็นรอยร้าวที่เสาสั่น ลักษณะการแตกเป็นแนวทแยง และรอยร้าวมีความกว้างกว่า 0.5 ม.ม. ให้รู้ว่าอันตรายมาก หากเกิดอาฟเตอร์ช็อกรุนแรง อาคารอาจพังลงมาได้ ทั้งนี้หากตรวจสอบโครงการแล้วพบไม่มั่นคงควรปิดการใช้อาคารทันที นอกจากนี้ภาครัฐควรมีบทบาทดูแลโครงสร้างอาคารที่เป็นอาคารสาธารณะ และเผยแพร่ความรู้เรื่องแผ่นดินไหวให้ถึงระดับนักเรียนด้วย
สมาคมสถาปนิกช่วยตรวจสอบ
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาความเสียหายทางสถาปัตยกรรมเบื้องต้นกับผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหว จ.เชียงราย พร้อมเปิดสายผู้ประสบภัยปรึกษาฟรี ซึ่งหากประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ต้องการคำปรึกษาเบื้องต้นถึงแนวทางปรับปรุง ซ่อมแซม อาคาร บ้านเรือนต่างๆ สามารถติดต่อที่กรรมาธิการสถาปนิกล้านนา 0-5322-2324 หรือ asalanna @gmail.com หรือสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ 0-2319-6555 ต่อฝ่ายวิชาชีพ หรือ [email protected]
พายุถล่มอ่วมสุพรรณฯ-กาญจน์
เมื่อวันที่ 7 พ.ค. เกิดพายุฤดูร้อนในหลายอำเภอ จ.สุพรรณบุรี บ้านเรือนเสียหาย ต้นไม้และเสาไฟฟ้าล้ม สร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี รองผวจ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า จากการสำรวจมีพื้นที่เสียหายทั้งหมด 7 อำเภอ ขณะนี้กำลังเร่งสำรวจและเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่เป็นบ้านเรือน ต้นไม้และเสาไฟฟ้าล้ม
พระสมุห์สง่า เจ้าอาวาสวัดกงจักร ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 6 พ.ค. มีฝนและลมแรงพัดต้นยางขนาดใหญ่กว่า 5 คนโอบ อายุกว่า 300 ปี ล้มลงมาทับเมรุเสียหายทั้งหมด และกิ่งต้นยางที่ล้มลงมายังทับกุฏิเสียหายไปด้วย
ขณะเดียวกัน ที่จ.กาญจนบุรี เมื่อกลางดึกวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา มีน้ำป่าจาก อ.ไทรโยค ไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่บ้านประตูด่าน หมู่ 14 ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี บ้านเรือน 10 หลังคาเรือนเสียหาย ต่อมานายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ ผวจ.กาญจนบุรี สั่งการให้นายอำเภอเมืองกาญจนบุรี นำกำลังฝ่ายปกครอง ร่วมกับอบต.เร่งช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและสำรวจความเสียหาย
ส่วนที่ จ.ปทุมธานี ในช่วงเย็นเกิดฝนตกลงมาอย่างหนักและมีลมพายุพัดอย่างรุนแรง ทำให้ถนนพหลโยธินขาออกช่องทางคู่ขนาน ก.ม.ที่ 44+300 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง มีน้ำท่วมขังประมาณ 30 ซ.ม.ตลอดทั้งสาย ส่งผลให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก ส่วนภายในนิคมอุตสาหกรรมนวนครมีน้ำท่วมขังและเสาไฟฟ้าล้มทั้งหมด 12 ต้น กระทบไฟฟ้าดับบางโรงงาน เจ้าหน้าที่กำลังเร่งซ่อมบำรุง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงเช้าวันที่ 8 พ.ค.