WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

NAM22


รบ.ปล่อยน้ำเข้าระบบ 
ช่วยนา 1.46 ล.ไร่ สิงห์บุรียังปั้นหุ่น

        ครม.มีมติ ส่งน้ำเข้าระบบชลประทานวันนี้ แต่จะจัดโซนแบ่งน้ำครอบคลุมนา 1.46 ล้านไร่ ที่ข้าวกำลังตั้งท้อง 'บิ๊กตู่'เผยเห็นใจเกษตรกร ขอร้องอย่าไปทำร้ายตัวเอง ภาคกลางยังแล้งหนัก สิงห์บุรีปั้นบ้าง หุ่นสังวาสขอฝน ขณะที่อยุธยาชาวนาแห่สูบ หลังกรมชลฯยอมผ่อนปรน


วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9002 ข่าวสดรายวัน

 


เร่งวางท่อ - นายจิรชัย มูลทองโร่ย หัวหน้าผู้ตรวจสำนักนายกฯ และประธานบอร์ด กปภ. ตรวจความคืบหน้าติดตั้งเครื่องผลิตน้ำประปาและท่อส่งน้ำ ที่สระเก็บน้ำพระรามเก้า จ.ปทุมธานี เมื่อ 21 ก.ค.

 

บิ๊กตู่ลั่นไทยไม่ขาดน้ำถึงปี 69
     เมื่อวันที่ 21 กค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า การดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง รัฐบาลได้กำหนดให้การบริหารจัดการน้ำทั้งหมดเป็นวาระแห่งชาติ วางแผนให้ประเทศไทยไม่ขาดน้ำจนถึงปี 2569 การดำเนินการต่างๆ กำหนดไว้เป็นขั้นตอน ตามช่วงเวลา โดยช่วงแรกปี 2557-2559 ตั้ง เป้าหมายดำเนินการ 12 กิจกรรม ทั้งการหาแหล่งน้ำเพิ่ม การทำระบบส่งน้ำ การขุดลอกคูคลอง การทำแก้มลิง ทำบ่อขนมครก การขุดบ่อน้ำในไร่นา การขยายอ่างเก็บน้ำให้เพิ่มความจุ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในแผนการบริหารจัดการน้ำจนถึงปี 2569 ทั้งสิ้น ตามการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี และอาจมีงบฯ เงินกู้เล็กน้อย ที่เตรียมไว้ประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท วันนี้มีการขุดบ่อไป 5-6 พันบ่อ แต่ฝนไม่ตก
       "แต่ผมเชื่อว่าเดี๋ยวฝนก็คงมา ถ้าเรามีความรัก ความสามัคคี อะไรมันก็ดีขึ้นเอง ผมไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง โดยเฉพาะข้าราชการของรัฐที่ช่วยกันทำงาน วันนี้ก็มีคสช. เข้าไปช่วย ยืนยันว่าไม่ทำให้ใครเดือดร้อนอยู่แล้ว เพียงแต่จะทำความเข้าใจกันอย่างไร" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

วอนอย่าตื่นตระหนก
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า มาตรการความช่วยเหลือนั้น การบริจาคน้ำดื่มที่มีการรณรงค์กันถือเป็นคนละเรื่อง เป็นการแสดงน้ำใจซึ่งกันและกัน ไม่ได้มุ่งหวังไปขอใคร แต่ทุกคนต้องการมีความร่วมมือและประสงค์ที่จะบริจาคน้ำดื่ม โดยรัฐบาลจะเป็นคนกลาง และจัดส่งไปยังศูนย์ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ขอร้องประชาชนอย่าตื่นตระหนกมากนัก เพราะรัฐบาลจะดูแลทั้งในส่วนที่ปลูกไปแล้ว และเกิดความเสียหาย หรือพื้นที่ที่ยังไม่ได้ปลูก ว่าเสียโอกาสหรือไม่ และพื้นที่ปลูกนาปรังก็ต้องดูเป็นระยะๆ เพราะจะให้เหมาทีเดียวทั้งหมดก็ไม่รู้จะ เอาเงินมาจากไหน พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลดูแลทุกส่วน โดยจะประชุมแผนบริหารจัดการน้ำในเช้าวันที่ 22 ก.ค. นี้ 
      "ผมเห็นมีคนมาร้องห่มร้องไห้ เห็นแล้วรู้สึกบีบคั้นผมพอสมควร ขอให้รู้ไว้ว่ารัฐบาลไม่มีเจตนาที่จะทำให้ทุกคนต้อง เสียน้ำตาอะไรเลย เพราะน้ำมันน้อยอยู่แล้ว ขอให้เก็บน้ำตาไว้เพื่อแสดงความดีใจ ดีกว่าเมื่อฝนมา" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

ขอร้องอย่าไปทำร้ายตัวเอง
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้รัฐบาลเห็นใจทุกคนขอร้องอย่าไปทำร้ายตัวเองไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปทำร้ายตัวเอง วันนี้ แม้จะมีปริมาณฝนตกลงมาแต่ก็ไม่มาก เท่าที่ติดตามดูฝนไปตกลงที่เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ รวมทั้งเขื่อนแควน้อย เขื่อนขุนด่านปราการชล ทำให้มีกำลังใจดีขึ้น แต่การระบายน้ำช่วงไหนจำเป็นต้องลดก็ต้องลด วันนี้ต้องเห็นใจคนในชุมชนเมืองด้วย แม้ไม่ได้ปลูกข้าวแต่ก็ทำธุรกิจค้าขาย การท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้ก็ขอความร่วมมือให้ประหยัดไม่ฟุ่มเฟือย อย่าล้างรถทุกวัน วันนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันประหยัดน้ำประปา แต่วันนี้เป็นที่น่ายินดีว่าฝนตกมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ขอให้ทุกคนช่วยกันทำความดีต่อไป
       ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พร้อมด้วยนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ และพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ. ร่วมกันแถลงมติครม. เกี่ยวกับการแก้ปัญหาภัยแล้ง

ยัน 22 ก.ค.เริ่มส่งน้ำให้เกษตรกร
      นายปีติพงศ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำ จากที่รัฐบาลเคยขอความร่วมมือในการงดการสูบน้ำทำการเกษตรในพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาขึ้นไป พบว่าได้รับความร่วมมืออย่างดีและที่ผ่านมาน้ำเหนือเขื่อนก็มีอัตราเพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าพอใจ และมีการประเมินเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ว่า มีโอกาสจะส่งน้ำเพิ่มให้ภาคการเกษตรที่เป็นพื้นที่วิกฤต ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งข้าวอายุมากกว่า 8 สัปดาห์ กำลังตั้งท้องและจะออกรวงใกล้เก็บเกี่ยวได้ ซึ่งการส่งน้ำจะส่งไปในพื้นที่ที่มีความจำเป็นที่มีปัญหาที่ต้องส่งน้ำผ่านไปยังจุดเป้าหมาย 1.36 ล้านไร่

 


ซับน้ำตา - มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดศูนย์บริการ น้ำอุปโภคบริโภคพระราชทาน เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยแล้ง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยพบว่ามีราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 7 อำเภอ รวม 75,838 ครัวเรือน เมื่อวันที่ 21 ก.ค.

 

      "จึงขอร้องประชาชน 2 ฝั่ง ต้องช่วยกันดูแล เพราะคนเดือดร้อนก็อยู่ปลายทาง ที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแลกำหนดจำนวนลูกบาศก์เมตร จึงขอให้เชื่อฟังเจ้าหน้าที่ส่งน้ำระหว่างทาง ต้องพยายามเข้าใจว่าน้ำจะต้องถูกลำเลียงในพื้นที่ที่กำหนดไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่จะดำเนินการวันที่ 22 ก.ค. เป็นต้นไป ซึ่งอาจใช้เวลาเล็กน้อยกว่าน้ำจะวิ่งไปถึงพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งมีการจัดทำแผนที่ข้อมูล มอบให้ผู้ว่าฯ และส่วนเกี่ยวข้องว่าพื้นที่ปัญหาเป็นอย่างไรแล้ว" รมว.เกษตรฯ กล่าวและว่า ส่วนการเยียวยาอื่นๆ จะหารือในการประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในวันที่ 22 ก.ค. ที่พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นประธานด้วยตัวเอง แต่การเยียวยาชดเชยรายได้นั้นจะต้องรอให้มีผลการสำรวจความเสียหายจากพื้นที่จริงรายงานเข้ามาก่อน

'บิ๊กป๊อก'เผยเข้าใจชาวนา
     ด้านพล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า จากที่นายกฯ มอบให้ส่วนเกี่ยวข้องพิจารณาช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาฝนแล้งที่ส่งผลต่อปัญหาปากท้อง เรื่องแรกครม.ให้ไปพิจารณาให้สร้างงานในพื้นที่ โดยครม.อนุมัติในหลักการตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณ ภัย (ปภ.) เสนอให้นำเงินทดรองจ่าย 10 ล้านบาทของผู้ว่าฯ มาใช้ให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ภัยแล้ง 
     รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการระบายน้ำให้พื้นที่ปลูกข้าว 1.36 ล้านไร่ว่า จะทำอย่างไรให้เกษตรกรระหว่างทางเข้าใจด้วย เพราะหากระดมสูบอีกก็จะมีปัญหาอีก จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองและฝ่ายทหารจะต้องดูแลซึ่งเป็นความยากในการทำให้สัมฤทธิผล รัฐบาลเข้าใจและเห็นใจเกษตรกรที่เขาทำนาด้วยชีวิตเขากู้เงินมาทำนา ข้าวกำลังตั้งท้อง ก็เป็นธรรมดาที่เขาต้องต่อสู้ทุกวิถีทาง ซึ่งนั่นเป็นความยากในการบริหารจัดการ
      "ฝ่ายทหารก็ต้องช่วยสร้างความเข้าใจ เพราะเราไม่ต้องการเผชิญหน้า ทหารต้องมาช่วยให้ระบบเดินไปได้และสื่อก็ต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจ ไม่ใช่สร้างประเด็นความขัดแย้ง ขอให้ช่วยสร้างความเข้าใจกับสังคม" รมว.มหาดไทยกล่าว

มติครม.ขุดอีกพันบ่อบาดาล
     พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ในวันที่ 22 ก.ค. ช่วงเย็นคงจะปล่อยน้ำไปดูแลพื้นที่การ เกษตรได้ เราก็เห็นใจประชาชน เพราะทหารที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นทหารชั้นผู้น้อย เป็นลูกหลานในพื้นที่ทั้งนั้น
     ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยครม.เห็นชอบให้ดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล 1,173 บ่อ แยกเป็นพื้นที่ที่มีไฟฟ้า 928 บ่อ และไม่มีไฟฟ้า 245 บ่อ งบฯ 372,880,620 บาท โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ของสำนัก งานปลัดกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรม ปภ. พิจารณาเปลี่ยนแปลงจุดดำเนินการได้ ตามวัตถุประสงค์เดิม โดยไม่ต้องเสนอครม. พิจารณาอีกครั้ง และภายหลังขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลแล้ว ให้จัดทำทะเบียนคุม และระบุพิกัดที่ตั้งให้ชัดเจน พร้อมส่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อใช้ประโยชน์และบำรุงรักษาต่อไป

กรมฯน้ำบาดาลแจงขุดแพง
      น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากร น้ำบาดาล (ทบ.) กล่าวถึงกรณีสภาเกษตรกร จ.อ่างทอง ร่วมกับสภาเกษตรภาคกลางและเหนือตอนล่างจะยื่นหนังสือถึงรัฐบาล เรื่อง ราคาขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลที่มีราคาแพงกว่าเอกชน ว่า ราคาการเจาะบ่อน้ำบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะมีค่าใช้จ่าย 266,680 บาท ขณะที่ราคาของเอกชนอยู่ที่ 40,000-50,000 บาท ทั้งนี้เนื่องจากเครื่องเจาะน้ำบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่สามารถเจาะผ่านชั้นดิน ชั้นหินได้ทุกประเภท เจาะที่ความลึกโดยเฉลี่ย 100 เมตร มีอายุใช้งานมากกว่า 20 ปี ขณะที่เอกชนส่วนใหญ่เจาะที่ความลึกโดยเฉลี่ย 20-30 เมตรมีอายุการใช้งานประมาณ 5-10 ปี ประสิทธิภาพการให้น้ำของบ่อที่มีลักษณะใหญ่ย่อมให้น้ำได้มากกว่า 

ชาวนา 22 จว.ยังไม่ขอน้ำเพิ่ม
      นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการร้องขอน้ำเพิ่มเติมขึ้นมาจากพื้นที่ กรมชลประทานได้สำรวจความต้องการน้ำของพื้นที่ปลูกข้าวของชาวนา พบว่าขณะนี้พื้นที่ปลูกข้าวลุ่มเจ้าพระยาใน 22 จังหวัดมีการปลูกข้าว 7.5 ล้านไร่ ในจำนวนนี้มีข้าวที่รอเก็บเกี่ยวประมาณ 2.05 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ไม่ต้องการน้ำแล้ว และข้าวอายุ 8 สัปดาห์ กำลังตั้งท้องในจำนวนนี้มี 1.36 ล้านไร่ ส่วนนี้คือเป้าหมายแรกที่จะจัดสรรน้ำ แต่จะจัดสรรตามคำร้องขอของชาวนา ที่มีเอกสารรับรองจากผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ในจำนวนพื้นที่ 1.36 ล้านไร่ที่ข้าวตั้งท้องแก่นี้ ไม่ใช่ทั้งหมดที่ต้องการน้ำ เพราะมีบางพื้นที่มีน้ำแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมากนัก

 


ขอฝน - ชาวบ้านบางตาเพชร หมู่ที่ 4 ต.บางมัญ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี นิมนต์พระ 7 รูปทำพิธีสวดมนต์ หลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก รวมทั้งปั้นหุ่นดินนายเมฆและ นางฝนเสพสังวาสเพื่อขอฝนตามพิธีกรรมโบราณ เมื่อวันที่ 21 ก.ค.


       "ที่เคยประมาณการพื้นที่ปลูกข้าวอาจเสียหาย 1.46 ล้านไร่ มาถึงวันนี้ข้าวอาจจะไม่เสียหายมากอย่างที่ประมาณการใน เบื้องต้นไว้ เพราะเริ่มมีฝนตกลงมา เมื่อมีข้าวเก็บเกี่ยว 2.05 ล้านไร่ อีก 1.36 ล้านไร่น่าจะรอด เพราะกรมชลประทานมีน้ำเพียงพอจะสนับสนุน แต่ต้องประเมินสถานการณ์น้ำใกล้ชิดก่อน" นายสุเทพกล่าว

เร่งซ่อมถนนทรุด
       นายประศักดิ์ บัณฑุนาค รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า จากกรณีการทรุดตัวของถนนเลียบคลอง ในเส้นทาง ที่รับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบทนั้น จากการสำรวจสถานการณ์พบว่าการทรุดตัวของถนนเลียบคลองทางหลวงชนบทได้เพิ่มขึ้นจากเดิมทรุดตัวเพียง 5-6 ก.ม. แต่ภายใน 2 สัปดาห์พบว่ามีการทรุดตัวมี 36 สายทาง ระยะทางรวมกว่า 16.258 ก.ม. และมีจุด เสียหาย 133 จุด ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จ.ปทุม ธานี ที่เหลือกระจายใน 6 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี สระบุรี อ่างทอง อยุธยา นนทบุรี และลพบุรี นอกจากนี้ ยังมีจุดเสี่ยงที่ต้อง เฝ้าระวังอีก 4 จุด ซึ่งอยู่ในเส้นทางคลอง 13 (เลียบคลอง ระพีพัฒน์) จุดที่เพิ่งทรุดตัวไม่สามารถสัญจรได้ 6 จุด บริเวณเส้นทางคลอง 13 เช่นกัน ส่วนที่เหลือเป็นจุดที่เพิ่งทรุดตัวแต่สามารถสัญจรได้ 1 เลน 9 จุด ทั้งนี้มีจุดที่ซ่อมแซมชั่วคราวซึ่งรถเล็กสามารถใช้เส้นทางได้ จำนวน 144 จุด
      นายประศักดิ์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นจะของบประมาณปี 2559 ในการดำเนินการซ่อมแซมถนนทรุดระยะแรก เพื่อซ่อมถนน 31 สายทาง วงเงิน 700 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะต้องดำเนินการเจาะสำรวจดินในเส้นทางที่ชำรุดเสียหาย พร้อมออกแบบแก้ไขและก่อสร้างปรับปรุงระหว่างเดือนต.ค.2558 - มี.ค.2559

พระบรมฯพระราชทานน้ำดื่ม
    ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัด เปิดเผยว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระมหากรุณา ธิคุณพระราชทานน้ำดื่ม แก่โครงการปัน น้ำดื่มเพื่อพี่น้องไทยประสบภัยแล้ง "น้ำพระทัย Bike for Mom พระราชทาน ดับภัยแล้ง" เพื่อนำไปมอบให้แก่ราษฎร ผู้ประสบภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ นับเป็น พระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อม หาที่สุดมิได้ โดยมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ร่วมมอบน้ำดื่มให้กับโครงการปันน้ำดื่มเพื่อพี่น้องไทยประสบภัยแล้ง ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความรักของคนในชาติ ซึ่งรัฐบาลขอขอบพระคุณในไมตรีจิตของทุกฝ่ายเป็นอย่างยิ่ง

 

เปิดศูนย์บริการน้ำพระราชทาน
       เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎรในประเทศที่ปีนี้ได้ประสบ ปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคเป็นวงกว้าง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ จัดตั้งศูนย์บริการน้ำอุปโภคบริโภคพระราชทานทั้งหมด 53 จุดทั่วประเทศ 
      วันเดียวกันหลายจังหวัดได้เปิดศูนย์บริการน้ำอุปโภคบริโภคพระราชทาน นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมนำน้ำมาสมทบ เพื่อมอบน้ำดื่มให้กับชาวบ้าน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นประธานเปิด อาทิ ที่ จ.หนองคาย จ.อุดรธานี จ.สุรินทร์ จ.บุรีรัมย์ จ.ร้อยเอ็ด

สิงห์บุรีปั้นหุ่นสังวาสขอฝน
      ที่บ้านบางตาเพชร หมู่ที่ 4 ต.บางมัญ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ชาวบ้านได้รวมตัวกันทำพิธีสวดมนต์ หลังประสบปัญหาภัยแล้ง อย่างหนัก โดยร่วมกันนิมนต์พระ 7 รูป มาสวดมนต์ ที่บริเวณสะพานกลางหมู่บ้าน เพื่อทำบุญขอฝนตามพิธีกรรมโบราณ ปัดเป่า สิ่งชั่วร้ายให้หมดไป หลังได้รับความทุกข์หนักจากภัยแล้งฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล น้ำแห้งขอดคลอง พืชสวนและต้นข้าวในนาขาดน้ำกำลังใกล้ตาย 
     นอกจากนั้น ชาวบ้านยังช่วยกันปั้นรูปปลัดขลิก พร้อมหุ่นดินสังวาสนายเมฆและนางฝน ไว้ที่บริเวณกลางสะพานในหมู่บ้าน พร้อมร่วมทำบุญขอฝนให้ตกลงมาช่วยเหลือชาวนาที่กำลังทุกข์หนัก
     นายสำเภา มีชัย อายุ 76 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 กล่าวว่า รัฐบาลห้ามสูบน้ำใช้ทำการเกษตร ชาวบ้านจึงต้องหันมาพึ่งเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยร่วมกันทำบุญและ ปั้นหุ่นสังวาสไว้ เพื่อให้เทวดาปล่อยฝนตกลงมา เพื่อชะล้างให้รูปปั้นนายเมฆและนางฝนให้หายไป ชาวนาก็จะได้รับน้ำฝนจากฟ้าหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่ใกล้ตายให้ฟื้นกลับคืนมา 

อยุธยาจัดโซนเวลาสูบเข้าคลอง
      ที่บริเวณหน้าสภ.มารวิชัย จ.พระนคร ศรีอยุธยา ชาวนาใน อ.เสนา จ.พระนครศรี อยุธยา ชาวนาเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำกว่า 25 เครื่อง เพื่อสูบน้ำจากคลองสาน ต.มารวิชัย เข้าคลองซอยต่างๆ ส่งน้ำเข้าไปในพื้นที่นาที่กำลังตั้งท้อง กว่า 1 หมื่นไร่ ในต.ชายนา ต.มารวิชัย ต.ดอนทอง หลังจากที่ทางกรมชลประทานผ่อนพันให้สูบน้ำและเปิดประตูระบายน้ำส่งน้ำให้ชาวนา
     นายฐิติวัฒน์ กลีบมาลัย นายก อบต. มารวิชัย กล่าวว่า จะสูบน้ำเข้าคลองอู่ตะเภาและคลองปิ่นแก้ว ให้เต็มคลองก่อนจะใช้เวลาประมาณ 1 วันครึ่ง แล้วจัดโซนให้ชาวนาที่อยู่ปลายน้ำได้สูบน้ำก่อน แล้วจึงจะมาทางต้นน้ำ ซึ่งชาวนาได้ตกลงกันแล้ว จะได้มีน้ำใช้ทั่วถึง นาข้าวจะได้ผลผลิตสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณร้อยละ 70 ขณะที่มี นาข้าวบางส่วนได้เสียหายไปบ้างแล้ว 

บ้านหมี่เฮกรมชลฯให้สูบน้ำ
     ที่ จ.ลพบุรี นายวัลลภ โฉมเรือง หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทานลพบุรี กล่าวว่า จังหวัดได้ร่วมประชุมกับชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยความเห็นชอบของรัฐบาล และเปิดโอกาสให้ชาวนาในเขตอำเภอบ้านหมี่ จ.ลพบุรี ซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายของคลองชัยนาท-ป่าสัก สูบน้ำเข้าพื้นที่ทำนาได้ตั้งแต่เวลา 13.00 น. วันนี้ ไปจนถึงเวลา 06.00 น. วันที่ 23 ก.ค. หลังจากนั้นห้ามสูบน้ำเด็ดขาด เพราะต้องจัดสรรน้ำให้ที่อื่นบ้างและต้องกันน้ำไว้ทำน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาด้วยเช่นกัน
     นายณัฎฐพงษ์ เหลืองทอง กำนันตำบลหนองเมือง อ.บ้านหมี่ กล่าวว่า แค่นี้ก็นับว่าเป็นบุญกุศลกับชาวนาอย่างเหลือล้นแล้ว เพราะน้ำที่ชลประทานให้สูบครั้งนี้ จะไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวได้ถึงฤดูเก็บเกี่ยวราวกลางเดือนส.ค. ไม่เช่นนั้นคงหมดตัวกันเป็นแถวแน่นอน 
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สถานีสูบน้ำปากคลองสายห้วยแก้ว ปากคลองอยู่ระดับต่ำน้ำจึงไหลเข้าคลองซอยได้อย่างสะดวก และมีเกษตรกรชาวนานำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งสูบน้ำเข้านากันจำนวนมาก นอกจากนี้ตามปากคลองสถานีสูบน้ำต่างๆตลอดเส้นสายบ้านหมี่ พบว่ามีเกษตกรนำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งสูบน้ำเข้าคลองซอยด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มกันตลอดทั้งสายเช่นกัน

ประปาปทุมฯ ลั่นจ่ายน้ำได้แน่
      ที่ จ.ปทุมธานี นายจิรชัย มูลทองโร่ย หัวหน้าผู้ตรวจสำนักนายกรัฐมนตรีและประธานบอร์ดการประปาส่วนภูมิภาค กล่าวหลังลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าการติดตั้งเครื่องผลิตน้ำประปาและท่อส่งน้ำประปาที่สระเก็บน้ำพระรามเก้า ต.คลองห้า อ.คลองหลวง ว่า การติดตั้งท่อส่งน้ำและเครื่องผลิตน้ำประปาคาดว่าจะเสร็จภายในวันที่ 27 ก.ค. นี้ เบื้องต้นในพื้นที่เคยขาดแคลนน้ำได้ทุเลาความเดือดร้อนจากการขาดน้ำแล้ว แต่ยังมีพื้นที่ปลายท่อส่งน้ำประปาที่ยังมีน้ำไหลช้าอยู่ แต่หากได้น้ำประปาจากสระน้ำพระรามเก้า คาดว่าได้น้ำใช้อย่างทั่วถึง
      ที่จ.ปราจีนบุรี นายสมชาย ชำนิ นายอำเภอบ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า พื้นที่ อ.บ้านสร้างประสบภาวะน้ำเค็มหนุนในแม่น้ำปราจีนบุรีตลอดช่วงหน้าแล้งยาวนานเกินปกติ ถึงขณะนี้สถานการณ์ค่อนข้างหนัก เนื่องจากไม่มีฝนตกลงมา หรือตกน้อยมาก โดยความเดือดร้อนแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกผู้ใช้น้ำจากประปาหมู่บ้าน หากฝนไม่ตกไม่เกินสิ้นเดือนนี้น้ำผลิตประปา ทุกแห่งเกือบ 10 แห่งจะหมด ลุ่ม 2 พื้นที่การเกษตรนาข้าวกว่า 28,000 ไร่ ประมาณ 1,300 ครัวเรือน ที่หว่านกล้าข้าวแล้ว ไม่ขึ้น และข้าวที่ขึ้นแต่ยืนต้นรอวันตาย ไม่ปลอดภัยหากฝนไม่ตกมาอีกใน 2 สัปดาห์ และกลุ่มที่ 3 บ่อปลาน้ำจืดที่เลี้ยงไว้ น้ำที่ กักเก็บไว้หมด ขาดแคลนน้ำจืดต้องอาศัยประตูน้ำบางพลวง แต่ระดับค่าน้ำยังเค็มจัดใช้ไม่ได้ สำหรับระดับค่าความเค็มน้ำล่าสุดในเขตเทศบาลตำบลบ้านสร้าง อยู่ที่ 10 มิลลิกรัม/ลิตร

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!