- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Tuesday, 21 July 2015 11:14
- Hits: 7008
นํ้าเค็มทะลักถึงกรุงแล้ว 'บ่อปลา-นาข้าว'อุทัย แย่งสูบน้ำ-เคลียร์วุ่น
'บิ๊กตู่' ซัดรัฐบาลประชาธิปไตยทำป่าต้นน้ำหาย 8.6 ล้านไร่ ดันแนวคิดเกษตรแนวใหม่ หรือสมาร์ทฟาร์เมอร์อ้อนไม่ได้ให้เลิกสูบน้ำทั้งหมด แต่ต้องคำนึงถึงความสำคัญ ทุ่มงบ 3.5 แสนล้านจัดการน้ำระยะยาว ฟุ้งปี "60 มีน้ำประปาทั่วปท. แจงไม่ได้ห้ามปลูกข้าว แต่ปลูกแล้วตาย 2-3 รอบ เพราะไม่มีน้ำแล้วจะปลูกกันทำไม "ปนัดดา" เผยร่วมกับศธ. ตั้งจุดแจกน้ำดื่มพระราชทานตามพระราชดำริฯ ที่โรงเรียนมูลนิธิราชประชา นุเคราะห์ใน 53 จังหวัด กรมชลฯเผย 22 ก.ค.เริ่มส่งน้ำเข้านา โดยแบ่ง 5 ระดับความสำคัญ ชี้เหนือ-อีสานทุเลาแล้ง หลังมีฝนตก ผู้ว่าฯกปภ. เผย 8 สาขายังจ่ายน้ำเป็นเวลา ชาวนาอุดรฯเครียดยิงตัวตาย ไม่มีน้ำทำนาหาเงินใช้หนี้ บึงกาฬเจอฝนถล่มน้ำท่วม เพชรบูรณ์พายุพัดต้นไม้ล้มทับเสาไฟ ลพบุรีประชุมแบ่งสูบน้ำ อุทัยฯหย่าศึกแย่งน้ำ อยุธยาระดมสูบน้ำเข้านา สวท.ชี้ออกแบบถนนใหม่กันทรุด พท.กระทุ้งรัฐบาลลงพื้นที่ภัยแล้ง กทม.น้ำเค็มเกินมาตรฐาน ปราจีนฯเร่งแก้น้ำเค็มหนุน วอน 7 จว.ลุ่มแม่กลองประหยัดน้ำ
วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9001 ข่าวสดรายวัน
ชุบชีวิตข้าว - ชาวบ้านระดมสูบน้ำเข้าสู่คลองซอยต่างๆ เพื่อส่งน้ำไปเลี้ยงต้นข้าว ที่กำลังใกล้ตายกว่า 7 พันไร่ในหลายตำบลของอ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา หลังจากกรมชลประทานยอมเปิดประตูน้ำลาดชะโด เมื่อวันที่ 20 ก.ค.
'บิ๊กตู่'ดันสมาร์ทฟาร์เมอร์
เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 20 ก.ค. ที่อาคารศูนย์กลางเกษตรจังหวัดระยอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. พร้อมด้วยครม. อาทิ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯและโฆษกประจำสำนักนายกฯ เดินทางมาตรวจราชการ เพื่อรับทราบถึงปัญหาและข้อร้องเรียนต่างๆ และรับทราบการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือชาวสวนผลไม้
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกับประชาชนที่มาต้อนรับตอนหนึ่งว่า วันนี้ฝนไม่ตกตามฤดูกาลเนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ตนกังวลคือเรื่องแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยรัฐบาลได้วางแผนตั้งแต่ปี 2557 ที่รื้อมาทำใหม่ เป็นแผนระยะยาวถึงปี 2569 ที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าทำ วันนี้เรามีปัญหาฝนแล้ง ฝนตกใต้เขื่อน จึงไม่สามารถเก็บน้ำได้ แต่ไม่ใช่รัฐบาลไม่ทำอะไร รัฐบาลมีแผนดำเนินการตรงนี้ตั้งแต่ ปี 2557 ทั่วประเทศจะต้องมีน้ำประปาภายในปี 2560 ใน 7,400 หมู่บ้าน และให้มีแหล่งน้ำการเกษตรชลประทาน 732 แห่ง รวมถึงแก้แหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน 2,157 แห่งให้เสร็จในปี 2558 ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานต้องมาพิจารณาว่าจะช่วยเหลืออย่างไร รัฐบาลไม่ได้บอกว่าให้เลิกสูบทั้งหมด และอยากให้มีการเกษตรแบบอุตสาหกรรม ไม่ใช่ปลูกอย่าง เดียวแต่ต้องแปรรูป โดยกำนันผู้ใหญ่บ้าน ต้องเป็นผู้นำเกษตรแนวใหม่ หรือสมาร์ทฟาร์เมอร์ ในการเข้าถึงแอพพลิเคชั่น
ฉะรัฐบาลปชต.ทำป่าสูญ 8.6 ล.ไร่
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังต้องขุดน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรให้ได้กว่า 1,000 แห่ง เพื่อใช้สำหรับพื้นที่ 1 ล้านไร่ ขณะนี้ขุดน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรได้แล้ว 6.6 หมื่นไร่ ทุกคนต้องเข้าใจว่าที่มาของต้นทุนน้ำ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลประชาธิปไตยทำพื้นที่ป่าต้นน้ำหายไปถึง 8.6 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นภาคเหนือและอีสานที่ปัจจุบันเป็นเขาหัวโล้นทั้งสิ้น แล้วเราจะเอาน้ำมาจากไหน และการทำฝนหลวงก็ไม่มีผล เพราะทำให้ฝนตกเพียงเล็กน้อย สำหรับน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร รัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อใช้สำหรับพื้นที่การ เกษตร 1 ล้านไร่ โดยขณะนี้ได้ทำไปแล้ว 6.6 หมื่นไร่ แต่จะทำต่อไป ขณะที่การขุดลอกแม่น้ำสายหลัก เป็นเพราะน้ำตื้น จึงต้องขุดให้ลึกกว่าเดิม แต่ต้องดูว่าจะไปทำลายระบบนิเวศหรือไม่ เหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลคิดไว้นานแล้ว โดยต้องทำเป็นแก้มลิงด้วย เพื่อเป็นที่พักน้ำ ประชาชนต้องร่วมมือกันเป็นกลุ่ม เช่น หมู่บ้านเพื่อช่วยกันทำแก้มลิง ยืนยันว่าถ้าเกิดฝนตกตามปกติประเทศไทยจะไม่ขาดน้ำ แต่ทุกวันนี้ปัญหาอยู่ที่การกักเก็บน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งมานานแล้ว แต่ทำไมที่ผ่านมาไม่ทำกัน
จนวันนี้ตนต้องมาคลี่คลายทุกอย่าง รื้อทั้งหมด ซึ่งอาจจะใช้งบประมาณถึง 3.5 แสนล้านบาท ขณะที่ปีนี้เก็บภาษีไม่ได้มากพอ เศรษฐกิจโลกก็ไม่กระเตื้อง แต่ถ้าเป็นรัฐบาลอื่นทุกอย่างอาจเจ๊งไปแล้วก็ได้ วันนี้ทุกคนต้องอย่าคิดว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ เพราะรัฐบาลรู้มาล่วงหน้าว่าจะไม่มีฝน ถึงได้เขียนแผนบริหารจัดการน้ำขึ้นมาตั้งแต่ปี 2557 แต่เมื่อฝนไม่ตกจึงส่งผลกระทบหมดตั้งแต่น้ำอุปโภค-บริโภค รวมถึงการเกษตร
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อยากขอให้ทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำ ไม่ใช่ประหยัดเพื่อตัวเอง แต่ประหยัดเพื่อคนรุ่นต่อไป โดยต้องร่วมมือกัน มีทุกข์ร่วมทุกข์มีสุขร่วมเสพ วันนี้ในเมื่อปลูกข้าวแล้วตาย 2 ถึง 3 รอบ เพราะไม่มีน้ำ แล้วจะปลูกกันทำไม ตอนนี้ต้องดูว่าจะปลูกอะไรได้บ้าง ซึ่งตนไม่ได้บังคับอย่างก่อนหน้านี้ ที่ตนยกตัวอย่าง เรื่องของการปลูกหมามุ่ย ก็เพราะว่ามันสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก เกษตรกรสามารถปลูกอย่างอื่นได้ ทั้งผัก หญ้า เกษตรออร์แกนิก และอยากให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยเอง เพราะการซื้อปุ๋ยเคมีนั้นมีราคาแพง ได้ไม่คุ้มเสียมีอันตราย และยังไม่เกิดประโยชน์
ชี้ถนนทรุดบางแห่งมีทุจริต
นายกฯ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องถนนทรุด ถ้ารวมแล้วมีประมาณกว่า 2 หมื่นกิโลเมตร สาเหตุเกิดจากแรงดันที่อยู่ใต้พื้นดินต่างๆ รัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหา เบื้องต้นต้องดำเนินการในจุดที่จำเป็นเร่งด่วนก่อน อาจจะต้องใช้เงินกู้หรือไม่ก็ยังไม่รู้ แต่พอไปแตะดูเข้าจริงๆ บางแห่งมีเรื่องการทุจริตอีก ตนเบื่อจริงๆ อย่าให้มีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ว่า ขอเตือนว่าหากภายใน 1-2 ปีนี้ ไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมได้ ค่าไฟจะสูงขึ้น เพราะ ขณะนี้ใช้น้ำมันและก๊าซเป็นต้นทุนผลิตไฟฟ้า จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจ อย่าคิดเอาเอง เพราะบางอย่างที่เดินหน้าไม่ได้เพราะไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์ อีไอเอ หรือเอชไอเอ หากเป็นเช่นนี้ต่อไปประเทศเราจะอยู่กันอย่างไร ตนอยากให้รวมกลุ่มกันให้ได้เพื่อจะได้ฟังว่าเรากำลังทำอะไร
ตั้งจุดน้ำดื่มตามพระราชดำริฯ
ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประชุมจัดตั้งศูนย์บริจาคน้ำดื่ม เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยของรัฐบาล ตามโครงการ "ปันน้ำดื่มเพื่อพี่น้องไทยประสบภัยแล้ง" ก่อนเปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ที่มีความห่วงใยพสกนิกรชาวไทยที่ประสบภัยแล้งทั้ง 53 จังหวัด จึงมอบหมายให้ปภ. ร่วมกับสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยการติดตั้งจุดน้ำดื่ม 53 จังหวัด จะอยู่ที่ศูนย์น้ำดื่มเพื่ออุปโภคบริโภคพระราชทาน ที่โรงเรียนมูลนิธิ ราชประชานุเคราะห์ และนำรถผลิตน้ำดื่มไปแจกจ่ายในพื้นที่ 122 แห่ง โดยรายงานให้ครม.ทราบ ในวันที่ 21 ก.ค. เพื่อให้ความเห็นชอบจัดตั้งโครงการ และจะมีการแถลงข่าวความชัดเจนในช่องทางการรับบริจาคอีกครั้ง หากประชาชนสนใจร่วมบริจาค สามารถติดต่อ ขอบริจาคน้ำ ได้ที่เบอร์ติดต่อ 0-2281-6558 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนผู้ที่สนใจบริจาคเป็นเงินทางสปน. จะแจ้งบัญชีรับบริจาคในวันที่ 21 ก.ค. พร้อมกันนี้ได้ประสานไปยังทุกหน่วยงาน ให้จัดทำคู่มือประหยัดน้ำแจกจ่ายให้ประชาชนตามนโยบายดังกล่าวด้วย
แล้งแล้วท่วม - เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือชาวบ้านขนย้ายสิ่งของหนีน้ำ หลังจากเกิดน้ำท่วม ฉับพลันในตัวเมืองจังหวัดบึงกาฬ ถนนหลายสายระดับน้ำสูงถึง 1 เมตร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เพิ่งประสบปัญหาภัยแล้ง เมื่อวันที่ 20 ก.ค. |
กปภ. 8 สาขายังจ่ายน้ำเป็นเวลา
ด้านการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) รายงาน สถานการณ์ภัยแล้ง ที่ส่งผลกระทบต่อการจ่ายน้ำประปา พบว่ายังมี กปภ.8 สาขาที่จ่ายน้ำเป็นเวลา ประกอบด้วย กปภ.สาขาท่าตะโก จ.นครสวรรค์ กปภ.สาขาวิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ กปภ.สาขาแก้งคร้อ กปภ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ กปภ.สาขาอำนาจเจริญ กปภ.ปักธงชัย และกปภ.พิมาย จ.นครราชสีมา รวมถึง กปภ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ กปภ. 10 สาขา ต้องลดแรงดันและลดอัตราการจ่ายน้ำ คือ กปภ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กปภ.จุน จ.พะเยา กปภ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ กปภ.หนองบัวลำภู กปภ.สังขะ จ.สุรินทร์ กปภ.พิมาย จ.นครราชสีมา กปภ.ลพบุรี กปภ.บ้านหมี่ กปภ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี และ กปภ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายแล้ว 38 จังหวัด ปัจจุบันเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง 2 จังหวัด 15 อำเภอ 98 ตำบล 896 หมู่บ้าน ได้แก่ จ.น่าน และ จ.นครราชสีมา ส่วนจังหวัด ที่ประสบภาวะฝนแล้งตั้งแต่ 4 มิ.ย.ถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ประสบภาวะฝนแล้ง 7 จังหวัด 29 อำเภอ 173 ตำบล 1,468 หมู่บ้าน คือ จ.แพร่ ชลบุรี สุโขทัย ปทุมธานี พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจผลกระทบ เบื้องต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำรถน้ำแจกจ่ายน้ำช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งแล้ว
กรมชลฯเผย 22 ก.ค.ส่งน้ำเข้านา
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชล ประทาน เปิดเผยภายหลังประชุมคณะอนุ กรรมการบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา ว่า ได้ พิจารณาถึงแผนการระบายน้ำหลังจากที่ประกาศ ลดการระบายน้ำเหลือ 18 ล้านลบ.ม./วัน รวมทั้งปิดสถานีสูงน้ำกว่า 335 สถานี ไปเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยผลดำเนินการดังกล่าวพบว่าระดับน้ำบริเวณเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท อยู่ที่ 13.82 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง(รทก.) สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 13.2 จากทก. โดยเป็นผลมาจากการปิดสถานีสูบน้ำ การขอความร่วมมือจากชาวนาไม่ให้สูบน้ำ และ มีฝนตกบริเวณหน้าเขื่อน
โดยจากการรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ในช่วงนี้ยังมีตกต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 23-24 ก.ค. จะเริ่มเบาบางลงและตกอีกครั้งตั้งแต่ 25 ก.ค.จนถึงปลายเดือน แต่จะเริ่มเบาบาง ตั้งแต่วันที่ 1-5 ส.ค. และหลังจากนั้นจะเริ่มตกอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงมั่นใจว่าทั้งหมด จะส่งผลให้ปริมาณน้ำบริเวณเขื่อนเจ้าพระยามีระดับที่สูงขึ้น ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นชอบร่วมกันที่จะส่งน้ำที่เหลือให้กับเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. นี้เป็นต้นไป
แบ่ง 5 ระดับความสำคัญ
ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามลำดับความสำคัญของพื้นที่ คือ 1.ข้าวที่อยู่ในช่วงตั้งท้องคืออายุการเพาะปลูกตั้งแต่ 9 สัปดาห์ขึ้นไป 2. ผลไม้ 3. ข้าวที่ปลูกได้ 7-8 สัปดาห์ 4. ข้าวที่ปลูกได้ 5-6 สัปดาห์ และ 5.ข้าวที่ปลูกต่ำกว่า 4 สัปดาห์ โดยถือว่าเป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มปลูกในช่วงที่รัฐบาลสั่งให้ชะลอในขณะที่การระบายน้ำตามลำดับความสำคัญนี้ จะส่งผลไม่ให้เกษตรกรขยายการเพาะปลูกได้อีก กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงมหาดไทย จะสำรวจเอกซเรย์ พื้นที่เพาะปลูกจริงเหล่านี้ ส่งให้กรมชลประทาน ประมวลผลสรุปวิเคราะห์ให้แล้วเสร็จในวันที่ 21 ก.ค. เวลา 12.00 น. และเริ่มระบายน้ำเข้าพื้นที่เป้าหมายให้ได้ ตั้งแต่เช้าวันที่ 22 ก.ค. เป็นต้นไป
"ข้อมูลที่แจ้งให้กรมชลประทานมาประมวลผลนั้น จะต้องผ่านการรับรองจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแจ้งข้อมูลเท็จ เนื่องจากน้ำที่มีอยู่แม้ว่าจะมีอัตราที่เพิ่มขึ้น แต่ยังถือว่าเป็นปริมาณที่น้อยไม่เพียงพอที่จะทำนาได้อย่างทั่วถึง 7.5 ล้านไร่หรือเต็มพื้นที่ในเขตชลประทาน การปล่อยน้ำจึงต้องเป็นไปตามจำกัด และส่งตรงไปยังพื้นที่ที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น โดยในฤดูฝน ที่ไม่มีเหตุการณ์ภัยแล้งเกิดขึ้นนี้ระดับน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาจะต้องมีประมาณ 16 เมตร จาก รทก. "นายสุเทพกล่าว
ชี้เหนือ-อีสานทุเลาแล้ง
สำหรับ ปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันที่ 481 ล้านลบ.ม. โดยเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำใช้การได้ 120 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 1.67 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 5 ล้าน ลบ.ม./วัน เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 265 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลเข้า 5.86 ล้านลบ.ม. และระบายออก 13.02 ล้านลบ.ม./วัน เขื่อนแควน้อยฯมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 58 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลเข้า 1.91 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 1.73 ล้านลบ.ม. ป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำใช้การได้ 38 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลเข้า 0.68 ล้านลบ.ม. และการระบายน้ำ 1.28 ล้าน ลบ.ม.
ในภาพรวมการระบายน้ำยังอยู่ที่วันละ 19 ล้านลบ.ม. และจะลดลงเหลือ 18 ล้านลบ.ม. แยกเป็นเขื่อนภูมิพลเหลือ 5 ล้าน ลบ.ม./วัน สิริกิติ์ เหลือ 11 ล้านลบ.ม./วัน แควน้อยฯเหลือ 1.7 ล้าน ลบ.ม./วัน และป่าสักฯเหลือ 1.3 ล้าน ลบ.ม./วัน ทั้งนี้การระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 20 ก.ค. อยู่ที่ 90 ลบ.ม./วินาที โดยมีแผนจะปรับการระบายมากขึ้นเป็น 95 ลบ.ม./วินาที ในช่วงสิ้นเดือน หรือหลังเข้าพรรษา ประมาณ 30-31 ก.ค.นี้เพื่อดันน้ำเค็มที่จะหนุนสูงขึ้น
"ปริมาณน้ำที่ไหลลงเขื่อนมีแนวโน้มสูงขึ้นแล้ว จากที่คาดว่าจะไหลแตะ 142 ล้าน ลบ.ม./วัน แต่เมื่อวันที่ 19 ก.ค. มีน้ำไหลเข้าแล้ว 119 ล้าน ลบ.ม./วัน แล้ว ดังนั้นจึงเป็นแนวโน้มที่ดี โดยปัจจุบันจากฝนที่ตกลงมานั้นทั้งภาคเหนือและอีสาน มีเพียงพอกับความต้องการของเกษตรกรแล้ว ยกเว้น ภาคเหนือตอนล่าง รวมทั้งพื้นที่ข้าวตั้งท้องเช่น อยุธยาตอนล่าง อ.ผักไห่ จ.ลพบุรี จ.สิงห์บุรี จึงต้องการให้กรมชลประทานส่งน้ำให้เพื่อการ เกษตรก่อน ส่วน จ.สุพรรณบุรี พบว่ามีน้ำแล้ว ในขณะที่ปริมาณน้ำท่าในเขตภาคกลาง เริ่มมากขึ้นบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ดังนั้นสถานการณ์โดยรวมน่าจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้" นายสุเทพกล่าว
ชีวิตชาวนา - นายสุรณรงค์ บุตรดี อายุ 47 ปี ชาวบ้านจั่น อ.เมือง จ.อุดรธานี ใช้ปืน .38 ยิงกรอกปากตัวเองเสียชีวิตหน้าบ้านพัก สาเหตุเพราะเครียดปัญหาภัยแล้ง ทำนาไม่ได้ทำให้ไม่มีเงินไปใช้หนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. |
ชาวนาอุดรฯเครียดยิงตัวตาย
พ.ต.อ.อนิรุธ ขันตี พงส.ผทค.สภ.เมืองอุดรธานี เปิดเผยว่าเมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา เกิดเหตุนายสุรณรงค์ บุตรดี อายุ 47 ปี ใช้อาวุธปืนยิงตัวตาย ที่บ้านเลขที่ 288 หมู่ 11 บ้านโนนภูทอง ต.บ้านจั่น อ.เมืองอุดรธานี เมื่อไปตรวจสอบพบผู้ตายใช้อาวุธปืนลูกโม่ขนาด.38 ยิงกรอกปากตัวเองกระสุนทะลุศีรษะด้านบน นั่งเสียชีวิตอยู่บนเก้าอี้พลาสติกสีน้ำเงินหน้าประตูรั้วบ้าน ที่บริเวณพื้นใกล้กับขาผู้ตาย พบอาวุธปืนแบบลูกโม่ ขนาด.38 ตกอยู่ พร้อมด้วยปลอกกระสุนปืน จำนวน 30 ปลอก ตรวจสอบข้างในลูกโม่พบปลอกกระสุนปืน 4 ปลอก และลูกกระสุนปืนที่ยังไม่ได้ยิงอีก 2 นัด
จากการสอบสวนนางรำไพ ไกยะสวน อายุ 45 ปี ภรรยาของผู้ตายให้การว่า เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา สามีไปกู้เงินมา 1 แสนบาท เพื่อจัดงานแต่งงานให้กับลูกชาย แต่มาประสบภัยแล้งทำให้ไม่สามารถทำนาได้จึงไม่มีเงินจะไปใช้หนี้ ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครจ้าง ทำให้ กลุ้มใจดื่มเหล้าทุกวัน ช่วงหัวค่ำตนทำกับข้าวอยู่หลังบ้าน ขณะที่ญาติๆ และลูกๆ ไปร่วมงานศพของญาติ ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด วิ่งออกมาดูเห็นสามีที่นั่งดื่มอยู่คนเดียวมาตั้งแต่บ่ายแล้ว ยิงปืนขึ้นฟ้าอยู่หน้าบ้าน จึงเข้า ไปห้ามแต่สามีไล่ตนให้กลับเข้าบ้านไป ด้วยความกลัวเห็นสามีเมามาก จึงโทร.ให้ญาติๆ รีบกลับมาช่วยกันห้ามสามี แต่เมื่อญาติๆ มาถึงก็พบว่าสามียิงตัวตายแล้ว หลังสอบสวนจึงได้มอบศพให้มูลนิธิ นำส่งชันสูตรที่ ร.พ.ศูนย์ อุดรธานี ก่อนให้ญาตินำไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีต่อไป
นครพนมชาวบ้านจมหาย
ชุดปฏิบัติการนรข. กองทัพเรือ 13 นาย ยังคงเร่งงมหาร่างนายบวร พุทธวัน วัย 53 ปี ชาวบ้าน บ.หนองเบ็น ต.ดอนนางหงส์ อ.ธาตุ พนม จ.นครพนม ที่อุ้มด.ช.เอ หลานชาย วัย 9 ขวบ นักเรียนชั้น ป.5 ข้ามลำน้ำในห้วยบังฮวก ห่างหมู่บ้าน 300 เมตร แต่ถูกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก พัดเอาร่างสูญหายไปเมื่อเย็นวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยด.ช.เอ ร่างไหลลอยไปเกาะกิ่งไม้ ก่อนที่ชาวบ้านช่วยชีวิต ไว้ได้ ทั้งนี้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 2 เมตรอย่างรวดเร็ว หลังจากเกิดฝนตกหนักติดต่อกัน 3-4 วัน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการค้นหา ขณะที่ญาติยังคงเฝ้าติดตามดูการค้นหาริมตลิ่งเป็นจำนวนมาก
นายวีระศักดิ์ วิเชียรแสน ปภ.นครพนม กล่าวว่า ออกประกาศแจ้งเตือนผ่านคลื่นสถานี วิทยุหลายแห่ง เตือนให้ชาวบ้านหรือชาวประมง งดออกจับหรือหาปลาในแม่น้ำสาขา หรือลำห้วยช่วงนี้ เพราะอาจเกิดอันตรายจากกระแส น้ำไหลเชี่ยว หลังมีฝนตกหนักในพื้นที่ติดต่อกันหลายวัน จึงฝากเตือนผู้ปกครองให้ดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดไว้ด้วย
บึงกาฬฝนถล่มน้ำท่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดฝนตกหนักในเขตเทศบาลตำบลบึงกาฬ และเทศบาลวิศิษฐ์ ตั้งแต่ช่วยกลางดึก ส่งผลให้ถนนหลายสายเกิดน้ำท่วมขังสูง 50 ซ.ม. บางสายท่วมสูงถึง 1 เมตร รถยนต์เล็กผ่านไม่ได้ บ้านพักตำรวจ สภ.เมืองบึงกาฬ มีน้ำสูงประมาณ 50 ซ.ม. ทำให้ชั้นล่างของห้องพักถูกน้ำท่วม ที่หนักสุดคือบ้านพักเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบึงกาฬ น้ำท่วมสูงสุดประมาณ 1 เมตร ได้รับความเสียหายกว่า 50 ครอบครัว และที่โรงเรียนบึงกาฬ น้ำท่วมชั้นล่างอาคาร 3 ,4 และอาคาร 5 ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ห้องธุรการ และห้องพักครู น้ำสูงกว่า 80 เมตร ทำให้อุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เสียหายกว่า 50 เครื่อง ต้องระดมทั้งทหาร ตำรวจ หน่วยกู้ภัย เข้าช่วยเหลือขนข้าวของหนีน้ำจ้าละหวั่น ทั้งนี้เนื่องจาก 3 วันที่ผ่านมา มีฝนตกลงมาเป็นระยะและตั้งแต่บ่ายวานนี้จนถึงสายวันนี้มีฝนตกลงมาหนัก
เพชรบูรณ์ต้นไม้ล้มทับเสาไฟ
เมื่อเวลา 02.00 น. วันที่ 20 ก.ค. เกิดเหตุต้นไม้ใหญ่โค่นทับสายไฟทำให้เสาไฟหักหลายต้น บริเวณแยกคริสตจักร ถนนเทศบาลพัฒนา ด้านหลังวัดเพชรวราราม พระอารามหลวง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ที่เกิดเหตุพบต้นหางนกยูงขนาดใหญ่สูงประมาณ 8 เมตร ล้มทับสายไฟทำให้เสาไฟหักขวางถนนและได้รับความเสียหายหลายต้น ต่อมา กฟภ.สาขาเพชรบูรณ์ และเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ระดมเจ้าหน้าที่มาตัดกระแสไฟฟ้า และนำป้ายมากั้นไม่ให้รถผ่านเนื่องจากเกรงจะได้รับอันตราย แต่เนื่องจากมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่สามารถทำงานและสำรวจความเสียหายได้อย่างละเอียดต้องรอกระทั่งรุ่งเช้า เจ้าหน้าที่ไฟฟ้าจึงเข้าสำรวจพบว่าเสาไฟฟ้าหัก 12 ต้น หม้อมาตรวัดไฟฟ้าเสียหายหลายตัว รถยนต์ของชาวบ้านถูกเสาไฟฟ้าทับได้รับความเสียหาย 1 คัน
นายสุบิน ภาวงค์ นายกอบต.ศิลา อ.หล่ม เก่า จ.เพชรบูรณ์ เผยว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนักและเกิดน้ำป่าไหลหลากทะลักไหลท่วมบ้านเรือนราษฎร ได้รับความเสียหายทั้งพืชไร่และสัตว์เลี้ยงรวมทั้งถนนลูกรังบางสายถูกน้ำกัดเซาะเบื้องต้น หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบมี 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วยหมู่ 3 บ้านอุ่มกะทาด หมู่ 5 บ้านหินโง่น หมู่ 12 บ้านโคกสว่าง และหมู่ 13 บ้านกลาง พืชไร่ ข้าวโพดเสียหาย ประมาณ 500 ไร่ สัตว์เลี้ยง เป็ด,ไก่ ถูกน้ำพัดไหลไปกับกระแสน้ำ รวมทั้ง ข้าวของเครื่องใช้ ถูกน้ำท่วมเสียหาย และมีบ้านเรือนราษฎรทรุดพัง 3 หลัง แต่ยังไม่ได้รายงานว่ามีผู้เสียชีวิต
ลพบุรีประชุมแบ่งสูบน้ำ
นายประวิทย์ พรมทะบุตร นายกอบต.บ้านทราย อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี เรียกประชุมชาวนา ที่ปลูกข้าวแถบฝั่งตะวันออกของคลองชัยนาท- ป่าสัก กว่า 40 คน เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่นากว่า พันไร่ที่กำลังจะตั้งท้องและกำลังจะเสียหาย เนื่องจากหากไม่จัดการบริหารให้ดี อาจจะบาน ปลายถึงแย่งสูบน้ำกันจนทะเลาะกัน
นายประวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางรัฐบาลได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรที่นาข้าวกำลังตั้งท้อง และที่พื้นที่แตกระแหง ได้ใช้น้ำได้บ้าง บางส่วน แต่ไม่ใช่ตลอดไป และต้องคำนึงถึงเรื่องน้ำอุปโภค บริโภค ของระบบน้ำประปาด้วย ซึ่งชาวบ้านได้เสนอจะใช้เครื่องสูบของตนเอง สูบน้ำลงคลองโค้ง (หรือคลอง 3 ซ้าย) หมู่ 4 ต.บ้านกล้วย อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี เพื่อให้ที่นาพันไร่ที่กำลังตั้งท้องออกรวง ได้มีน้ำบรรเทาความเสียหาย
ขณะเดียวกันชาวนา ต.พุคา อ.บ้านหมี่ ลพบุรี เกือบ 100 คน รวมตัวกันที่ประตูน้ำคลองโพนทอง เพื่อขอให้เปิดประตูระบายน้ำบานกลาง ให้น้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก ไหลเข้าไปทำประปาหมู่บ้าน แต่มีชาวนาบางคนค้านว่าข้าวที่เพาะปลูกไว้ หากไม่มีน้ำแห้งตายแน่นอน จำเป็นต้องสูบน้ำเข้าไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่กำลังจะแห้งตายหากไม่ได้น้ำ แต่ไม่มีเหตุรุนแรงอะไร
ส่วนนายชิดชัย ดิษฐอ่วม หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 (ตอนบ้านกล้วย) สำนักงานชลประทานที่ 10 กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนที่จะปล่อยน้ำให้ชาวนาที่ทำนาอยู่ในขณะนี้ เนื่อง จากฝนได้ตกลงมาบ้าง ในขณะนี้ระดับน้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก เริ่มดีขึ้น แต่การช่วยเหลือก็จะต้องไม่มีผลกระทบต่อระบบการทำน้ำประปาด้วย อาจจะช่วยได้เฉพาะพื้นที่ที่อยู่ติดกับคลองชลประทาน หากไกลออกไปช่วงนี้คงจะลำบากเนื่องจากน้ำมีน้อย
อุทัยฯหย่าศึกแย่งน้ำ
ที่สถานีสูบน้ำเขาขี้ฝอย อ.ทัพทัน จ.อุทัย ธานี นายเรวัติ อัมพวานนท์ ปลัดจังหวัดอุทัย ธานี พร้อมเจ้าหน้าที่จากชลประทานจังหวัดนายอำเภอทัพทัน นายอำเภอเมืองอุทัยธานี ร่วมกันเข้าไกล่เกลี่ยเพื่อหาข้อตกลงระหว่างชาวบ้านทั้ง 2 ฝ่าย ที่เกิดเหตุปัญหาในการแย่งกันใช้น้ำจากแก้มลิงเขาขี้ฝอย ระหว่างเกษตรกร ผู้ทำนาในพื้นที่อำเภอเมือง กับกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชัง ในพื้นที่อำเภอทัพทัน หลังชล ประทานอุทัยธานี เปิดน้ำจากแก้มลิงธรรมชาติ ต.เขาขี้ฝอย อ.ทัพทัน เพื่อให้เพียงพอกับพื้นที่รอบๆ อ่าง และพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อผู้เลี้ยงปลากระชัง แต่ด้วยทางกลุ่มเกษตรผู้ทำนาในพื้นที่อำเภอเมือง ระดมเครื่องสูบน้ำกว่า 16 เครื่อง สูบน้ำจากแก้มลิงลงไปยังคลองชลประทาน เพื่อส่งน้ำเข้าหล่อเลี้ยงข้าวของตนเอง ส่งผลให้กลุ่มผู้เลี้ยงปลา กระชังได้รับผลกระทบ จึงเกิดการแย่งน้ำกัน
นายเรวัติ กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับรายงานจาก ชลประทานว่าน้ำในเขื่อน มีเหลืออยู่ประมาณ 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตร และเบื้องต้นสรุป ข้อตกลงของเกษตรกรทั้ง 2 ฝ่าย โดยชาวบ้านเขาขี้ฝอยนั้นยอมให้เกษตรชาวนา ตำบลทุ่ง ใหญ่ นั้นดึงมาไปได้อีก 10 เซนติเมตร หรือประมาณ 2 แสนลูกบาศก์เมตร เพื่อไปหล่อเลี้ยงต้นข้าว ประมาณ 200 ไร่ เพื่อรอฝนใหญ่ หลังจากนั้น ก็มาเจรจาหาข้อตกลงกันอีกครั้ง
พท.กระทุ้งรัฐบาลลงพื้นที่ภัยแล้ง
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความเดือดร้อนของประชาชนว่า เรื่องเศรษฐกิจและภัยแล้งสร้างความลำบากและความยากไร้ให้ประชาชน อย่างมาก ทำให้ประชาชนคิดได้ว่า วาทกรรมที่ชอบใส่ร้ายและด่านักการเมืองไม่น่าจะจริง น่าจะคิดได้ว่าที่บอกว่านักการเมืองไม่ดีแต่นักการเมืองยังยึดโยงกับประชาชน ตอบสนอง ปัญหาชาวบ้านได้รวดเร็ว แต่ขณะนี้ต้องถามว่าประเทศดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ เพราะยังมองไม่เห็นอนาคตว่าจะดีขึ้นได้อย่างไร หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คงต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่แล้ว
"ขณะที่ประชาชนเดือดร้อน กลับมีกระแสข่าวบุคคลระดับนำของประเทศ ไปตีกอล์ฟในสนามแถววิภาวดีฯ ซึ่งมีหญ้าเขียวและ ใช้น้ำมหาศาล ตรงข้ามกับชาวนาที่นั่งคอยฝนดูผืนนาที่ต้นข้าวแห้งเฉาเพราะขาดน้ำเหมือนอยู่คนละประเทศ หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วไปตีกอล์ฟในสภาวะเช่นนี้ คงถูกชาวบ้านขับไล่อย่างแน่นอน อยากให้หยุดตีกอล์ฟและลงพื้นที่บ้าง น่าจะคิดถึงทุกข์ของชาวบ้านบ้าง และหาทางช่วยเหลือโดยด่วน" นายอนุสรณ์กล่าวและว่า วันนี้รัฐบาลส่งสัญญาณน้อยเกินไปในการช่วยเหลือ และ ไม่พูดความจริงกับประชาชนทั้งหมด ประชาชน จึงเหมือนถูกโดดเดี่ยว
ปราจีนเร่งแก้น้ำเค็มหนุน
น.ส.จิตรา พรหมชุติมา ผวจ.ปราจีนบุรี นำนายอำเภอ ผู้นำท้องถิ่น ทหาร ตรวจดูผักตบชวา ที่สะพานวัดสง่างาม ต.ท่างาม อ.เมืองปราจีนบุรี เนื่องจากมีผักตบหนาแน่นตลอดลำน้ำ โดยเฉพาะเขตพื้นที่ อ.เมืองปราจีนบุรี ตั้งแต่ท่าน้ำวัดหาดสะแก วัดกระแจะ วัดสง่างาม วัดเลียบ หน้าร.พ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และหน้าวัดแก้วพิจิตร เป็นระยะทางไกลนับกว่า 10 ก.ม.
น.ส.จิตรากล่าวว่า สำหรับภาวะภัยแล้ง ที่ อ.บ้านสร้าง จากภาวะน้ำเค็มหนุนแม่น้ำปราจีนบุรี น้ำไม่สามารถใช้เพื่อการเกษตรกรรม หรือใช้ในการอุปโภค-บริโภค รวมถึงผลิตประปาได้ ค่าระดับความเค็มสูงอยู่ประมาณ 10 กรัม/ลิตร และส่งผลให้แหล่งกักเก็บน้ำดิบเพื่อผลิตประปาขาดแคลน อาทิ ประปาหมู่บ้าน ต.บางยางหมด ประปาเทศบาล ตำบลบ้านสร้าง จะหมดอีกใน 9 วัน การแก้ไขระยะสั้นได้ประสานกรมชลประทาน ขอรับการสนับสนุน น้ำจากเขื่อนขุนด่านปราการชล ขอให้ช่วยผันน้ำมาช่วยเหลือผ่านเข้ามาทางคลองสอง ผ่านเข้าสู่คลองชวด ข้ามทางรถไฟสายภาคตะวันออก (กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ) เข้าเขตทต. บ้านสร้าง เพื่อผลิตประปาแจกจ่ายต่อไป ส่วนระยะยาวเร่งจัดหาพื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในแต่ละตำบล เพื่อเป็นแหล่งน้ำจืดเมื่อเกิดภาวะน้ำเค็มหนุนต่อไป
กทม.น้ำเค็มเกินมาตรฐาน
ทางด้านนางเบญทราย กียปัจจ์ ผู้ช่วยเลขา นุการผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะรองโฆษกกทม. แถลงผลประชุมผู้บริหาร กทม. ที่มีม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธาน ว่าที่ประชุมรายงานสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่กทม. พบว่าขณะนี้มีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 362 ครัวเรือน พื้นที่เกษตรกร 1,197 ไร่ 2 งาน แบ่งเป็น 1.บ้านเรือนประชาชนขาดน้ำอุปโภคบริโภคจำนวน 58 ครัวเรือน 2.ขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการ เกษตรกร จำนวน 115 ครัวเรือน 3.ขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการปศุสัตว์ จำนวน 1 ครัวเรือน ซึ่ง กทม.ได้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชน โดยให้สำนักงานเขตติดตั้งแท็งก์น้ำในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังพบว่าในพื้นที่กทม. ประสบปัญหาน้ำเค็ม เนื่องจากน้ำทะเลหนุน พบว่ามีค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงรอยต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล สูงถึง 4.5 ม.ก.ต่อลิตร เกินค่ามาตรฐาน จากปกติ 1.2 ม.ก.ต่อลิตร ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากน้ำเค็ม จำนวน 188 ครัวเรือน ซึ่งสำนักงานเขตได้ช่วยเหลือโดยการนำน้ำจากโรงบำบัดน้ำ เสีย มาช่วยเหลือพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ กทม.ได้กำชับให้ทุกสำนักงานเขตติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอย่างใกล้ชิด แม้จะมีฝนตกในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าปัญหาภัยแล้งจะหมดไป ต้องให้ฝนตกเหนือเขื่อนเพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอจึงจะพ้นวิกฤต
วอน 7 จว.ลุ่มแม่กลองประหยัดน้ำ
นายธนรัชต์ ภุมมะกสิกร ผอ.เขื่อนศรี นครินทร์ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า เขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำที่สามารถนำไปใช้งานได้ จำนวน 1,746.91 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 23.31% เขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำ ที่สามารถนำไปใช้งานได้ 1,008.42 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 17.20% ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอใช้สำหรับปี 2558 แต่ต้นทุนน้ำปี 2558 จะส่งผลกระทบไปถึงช่วงหน้าแล้ง ปี 2559 อย่างแน่นอน ดังนั้นจึงขอความร่วมมือจากประชาชน ในลุ่มน้ำแม่กลอง ทั้ง 7 จังหวัด ประกอบด้วย จ.เพชรบุรี, ราชบุรี, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, นครปฐม, สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี รวมทั้งกรุงเทพฯ ใช้น้ำอย่างประหยัด และให้เกิดประโยชน์สูงสุด