- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Sunday, 19 July 2015 14:02
- Hits: 4104
'ฉัตรชัย'เตรียมถกผู้นำเมียนมา วาดแผนเจาะอุโมงค์ผัน 2 แม่น้ำเข้าไทย
แนวหน้า : พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการบริหารน้ำแห่งชาติ(กบช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้แผนบริหารจัดการน้ำได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อ 7 พ.ค.58 ที่ผ่านมาแล้ว โดยในสัปดาห์หน้า จะมีการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแห่งชาติ (กบช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยจะเป็นการพิจารณาแนวทางปฏิบัติตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำของประเทศ ระยะเวลา 10 ปี( 2558-2569 ) ในรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งแผนยุทธศาสตร์การบริหารน้ำระยะเวลา 10 ปี ได้คลอบคลุมการจัดการน้ำ, เตรียมการระบายน้ำจากตอนเหนือสู่อ่าวไทย, การจัดการน้ำในเขื่อน และการจัดการน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยตั้งเป้าประชาชน 7,000 หมู่บ้าน ต้องมีน้ำประปาใช้ทุกครัวเรือนภายในปี 2560 เป็นต้น ซึ่งหากจัดการตามแผนได้ เชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยมีน้ำเพียงพอต่อการใช้และจะไม่เกิดน้ำ ท่วมแน่นอน
สำหรับ แผนระยะสั้นที่เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2557 แล้วถึงปี 2559 จะเน้นแก้ปัญหาน้ำขาดเพื่อการอุปโภคบริโภคให้ทั่วถึงทั้งประเทศ ให้มีประปาใช้ถึงระดับตำบลและหมู่บ้าน ตั้งเป้า เข้าถึง 7,000 หมู่บ้าน เพิ่มพื้นที่ในการกักเก็บน้ำ เช่น การขุดบ่อน้ำในไร่นาจากเดิม 50,000 แห่ง เป็น 200,000 แห่ง ทำพื้นที่แก้มลิง เป็นต้น เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำอีก 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงจัดเตรียมการระบายน้ำจากตอนเหนือสู่อ่าวไทย โดยปี 2557 -2558 จะใช้งบประมาณปกติ 50,000-60,000 ล้านบาท ในปี 2559 จะใช้งบเพิ่มเติมอีก 30,000 ล้านบาท รวมงบประมาณเป็น 80,000 ล้านบาท
ขณะที่แผนในแผนระยะกลางและยาว ต้องเน้นการจัดหาต้นทุนน้ำเพิ่มเติมจากน้ำฝน คือ การเจรจาดึงน้ำธรรมชาติจากแม่น้ำสาละวิน จากประเทศเมียนมาร์ มาไว้ที่เขื่อนภูมิพล ซึ่งเบื้องต้น รัฐบาลไทยกับเมียนมาร์ได้หารือไว้แล้ว และดึงน้ำจากแม่น้ำโขง มาไว้ที่เขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำนานาชาติ ที่ 6ประเทศใช้ร่วมกัน ก็จะต้องหารือต่อไป โดยไทยได้มีการเตรียมวิธีการไว้แล้ว โดยการดึงน้ำจากแม่น้ำมาใช้อาจต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี เพื่อดำเนินการ
"หนึ่งในแผนสำคัญ คือการดึงน้ำจากแม่น้ำนานาชาติ 2 แห่ง คือ แม่น้ำโขง และแม่น้ำสาละวิน ประเทศเมียนมา มาใช้ในไทย โดยเบื้องต้น ได้หารือร่วมกับผู้นำของเมียนมาร์ถึงความเป็นไปได้ในการดึงน้ำจากแม่น้ำสาละวินมาเป็นต้นทุนน้ำในไทย แต่ก็อาจต้องเจาะภูเขาของไทย เพื่อทำอุโมงค์ส่งน้ำ เข้ามาเติมในเขื่อนภูมิพล ส่วนน้ำจากแม่น้ำโขง เข้ามาเติมน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ และขอยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้ยังไม่มีนโยบายสร้างเขื่อนเก็บน้ำใหม่ เพราะจะเป็นการกระทบในหลายๆด้าน"