- Details
- Category: สิ่งแวดล้อม
- Published: Monday, 29 June 2015 10:58
- Hits: 5775
แห่กักตุนน้ำกิน-ใช้ ลพบุรีแตกตื่น กปภ.หยุดจ่าย พิษแล้งลุกลาม
พสกนิกรปลื้มปีติ 'ในหลวง' ทรงห่วงใยเรื่องภัยแล้ง โปรดเกล้าฯ จัดตั้งศูนย์ฝนหลวงพิเศษเพิ่มอีก 2 แห่ง ที่ปากน้ำโพ ให้ดูแลเขตลุ่มเจ้าพระยา และที่เชียงใหม่ดูแลในพื้นที่ภาคเหนือ ขณะที่ศูนย์ฝนหลวงอีสานเร่งส่งฝูงบินสร้างฝนเทียมเติมน้ำเข้าอ่างลำตะคอง ขณะที่กฟผ.โคราชยันไม่กระทบการปั่นไฟฟ้า ชาวนาบุรีรัมย์ยอมกลืนเลือดปล่อยข้าวแห้งตาย เก็บน้ำไว้ผลิตประปา ขอนแก่นก็กัดฟันซื้อน้ำใส่นาเลี้ยงต้นข้าว ส่วนพิจิตรสู้ต่อไม่ไหวประกาศขายนาหาเงินใช้หนี้ธ.ก.ส. น้ำเจ้าพระยาลดฮวบทำตลิ่งทรุดบ้านถล่มพังยับเยินที่ชัยนาท ส่วนลพบุรีแห่ซื้อน้ำขวดกักตุนจนเกลี้ยงเมือง
วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8979 ข่าวสดรายวัน
ตุนน้ำ - ชาวบ้านเขตเทศบาลเมือง จ.ลพบุรี พากันกักตุนน้ำใช้ไว้ในภาชนะต่างๆ หลังการประปาลพบุรีประกาศหยุดผลิตน้ำประปา เนื่องจากท่อส่งน้ำไม่สามารถสูบน้ำจากคลองชลประทานป่าสัก-ชัยนาทขึ้นมาได้ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.
โปรดเกล้าฯตั้งศูนย์ฝนหลวงพิเศษ
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. นายดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎรที่ขาดแคลนน้ำในการอุปโภค บริโภค และทำการเพาะปลูก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งศูนย์ฝนหลวงพิเศษขึ้นในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ ฐานปฏิบัติการสนามบิน จ.นครสวรรค์ รับผิดชอบปฏิบัติการฝนหลวงในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา และฐานปฏิบัติการสนามบินจังหวัดเชียงใหม่ รับผิดชอบปฏิบัติการฝนหลวงในเขตภาคเหนือ
โดยให้นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรทำหน้าที่เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ฝนหลวงพิเศษ ด้วยการดำเนินงานที่สอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกัน ประโยชน์ของฝนหลวงนั้น จะเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน ทั้งยังเพิ่มพื้นที่ในการทำการเกษตร และระบบผลิตน้ำประปา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เคยพระราชทานแนวทาง การแก้ไขวิกฤตภัยแล้งเมื่อปี 2542
ทบ.เร่งขุดบาดาล
พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผบ.สส. พร้อมคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ กองบัญชาการกองทัพไทย ไปตรวจเยี่ยมโครงการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกรในพื้นที่ อ.แสวงหา จ.อ่างทอง ซึ่งบูรณาการการทำงาน ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เข้าช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ 24 จังหวัด 9,524 หมู่บ้าน ที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง
สำนักงานพัฒนาภาค 1 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ได้รับมอบหมายให้ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ อ.แสวงหา 11 แห่ง ประกอบด้วยพื้นที่ ต.บ้านพราน ที่บ้านสระสี่เหลี่ยม และบ้านยางแขวงใต้ ม.1, บ้านริ้วหว้า ม.2, บ้านหนองสองตอน ม.6, บ้านวังน้ำเย็น ม.7, บ้านหนองแหน ม.8 แห่งละ 1 จุด รวม 6 จุด บ้านยางนอน ม.9 อีก 2 จุด ในพื้นที่ ต.สีบัวทอง บ้านสีบัวทอง ม.2 จำนวน 1 จุด และบ้านคลองชะอม ม.4 อีก 2 จุด ซึ่งจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนจำนวน 836 ครัวเรือน 3,421 คน ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 2,757 ไร่
นายสินชัย พึ่งตำบล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือเปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ ขอนแก่น, อุบลราชธานี และนครราชสีมา โดยในส่วนของ จ.นคร ราชสีมา มีเครื่องบินสำหรับปฏิบัติการฝนหลวง 5 ลำ มีเครื่องขนาดใหญ่ 1 ลำ เครื่องบินขนาดเล็ก 4 ลำ ปฏิบัติการบินทำฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนเม.ย.เป็นต้นมา เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่การเกษตร
สำหรับ เดือนมิ.ย.มีแผนการบินปฏิบัติการทำฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 5 แห่งใน จ.นครราชสีมา ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ ลำตะคอง, อ่างเก็บน้ำลำแชะ, อ่างเก็บน้ำมูลบน, อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง และอ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ ซึ่งปกติช่วงระหว่างเดือนพ.ค.-ต.ค.ของทุกปีจะมีปริมาณน้ำฝนตกลงมารวมกันเฉลี่ย 1,300 มิลลิเมตร
ตลิ่งทรุด - จนท.เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลิ่งทรุดจนบ้านพังทั้งหลัง ในพื้นที่หมู่ 2 ต.ท่าชัย อ.เมือง จ.ชัยนาท สาเหตุเกิดจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้ดินสไลด์ตามน้ำ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. |
ลุยทำฝนหลวงเติมน้ำลำตะคอง
แต่ปีนี้ฝนทิ้งช่วงนาน จึงมีปริมาณน้ำฝนตกลงมาเติมน้ำในอ่างน้อยกว่าปีที่แล้วประมาณร้อยละ 50 ส่งผลกระทบต่อน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภคและการเกษตรอย่างหนัก แต่จากการบินปฏิบัติการฝนหลวงเหนืออ่างเก็บน้ำตั้งแต่ต้นเดือนมิ.ย.เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำฝนได้ถึงร้อยละ 16 จึงเหลือช่องว่างความห่างของปริมาณน้ำฝนจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 34
"ซึ่งเป็นการบ้านให้ต้องมาทำงานอย่างหนัก เพื่อลดช่องว่างนี้ให้ได้มากที่สุด โดยจะประสานขอเครื่องบินจากศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจ.ขอนแก่นและจ.อุบลราชธานี ให้มาช่วยเสริมปฏิบัติการทำฝนหลวงในจ.นครราช สีมา พร้อมกันนี้ยังประสานความร่วมมือกับสำนักงานชลประทานที่ 8 และสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดนครราชสีมา เพื่อบูรณาการให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป"นายสินชัยกล่าว
ด้านนายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ในพื้นที่จ.นครราชสีมามีฝนตกลงมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่อง สำหรับอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว ในวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำในเขื่อนที่สามารถใช้ได้ประมาณร้อยละ 18 หรือประมาณ 57 ล้านลบ.ม. ของความจุที่ระดับกักเก็บ 314 ล้านลบ.ม.
แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะมีปริมาณฝนตกกระจายในพื้นที่เหนือเขื่อนลำตะคอง แต่น้ำฝนที่ตกลงมามีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนน้อย ถ้าจะเทียบจากปริมาณน้ำที่ไหลมาจากบ่อน้ำผุดธรรมชาติที่หมู่บ้านท่าช้าง ต.หมูสี อ.ปากช่อง ซึ่งมีตลอดทั้งปีแต่ยังน้อยอยู่มาก โดยเฉลี่ยการใช้น้ำในเดือนต.ค.ที่จะต้องใช้น้ำอยู่ที่ประมาณ 110 ล้านลบ.ม. หากสถานการณ์เป็นอย่างนี้น้ำในอ่างลำตะคองจะไม่เหลือแน่นอน แต่ถ้ามีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องด้านเหนือเขื่อน มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าสถานการณ์เป็นไปตามกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ว่าในเดือนก.ค.ฝนจะทิ้งช่วง คงต้องรอดูอีกทีว่าจะเป็นเช่นไร
กฟผ.ยันไม่กระทบปั่นไฟ
นายชิตชนก กล่าวว่า ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไป ต้องบอกว่าน้ำในเขื่อนลำตะคองถึงขั้นวิกฤต แต่ขอดูว่าในช่วงต่อไปจะมีฝนตกลงมาหรือไม่ แต่ถ้ายังเป็นอยู่อย่างนี้ จะต้องนำเรื่องรายงานถึงนายธงชัย ลืออดุลย์ ผวจ.นครราชสีมา เพื่อเรียกประชุม เนื่องจากการผลิตน้ำประปาใช้อุปโภคบริโภค ในพื้นที่เมืองและพื้นที่ใกล้เคียงก็นำน้ำมาจากเขื่อนลำตะคอง จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำอย่างแน่นอน
"ส่วนพื้นที่บริเวณด้านเหนือเขื่อนซึ่งก่อนนี้เป็นบริเวณกักเก็บน้ำของเขื่อนลำตะคอง แต่ปัจจุบัน กลายเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ปลูกพืชของชาวบ้าน หมู่บ้านท่างอย ต.จันทึก อ.ปากช่อง กว่าหมื่นไร่ เกิดจากการทับถมของตะกอนดิน รัฐบาลโดยกรมชลประทาน ได้ตั้งงบประมาณของปีงบประมาณ 2559 จำนวน 90 ล้านบาท ขุดลอกรอบอ่างลำตะคอง เพื่อให้มีพื้นที่กักเก็บน้ำมากขึ้น เนื่องจากเขื่อนก่อสร้างมากว่า 50 ปี จึงมีตะกอนจำนวนมากที่น้ำพัดพามาทับถมจนทำให้บริเวณกักเก็บน้ำตื้นเขินเป็นบริเวณกว้างเกือบหมื่นไร่ เมื่อขุดลอกแล้วจะเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำมากขึ้น" นายชิตชนกกล่าว
นายพงศกร เรืองมนตรี หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า น้ำดิบในอ่างเก็บน้ำลำตะคองลดต่ำสุดในรอบ 10 ปี ล่าสุดมีปริมาณน้ำ 57.983 ล้านลบ.ม. หากมีปริมาณน้ำต่ำกว่า 30 ล้าน ลบ.ม. ต้องหยุดกระบวนการผลิตไฟฟ้าตามข้อตกลงกับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา
แล้งจัด - ชาวบ้าน ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ช่วยกันวิดปลาออกจากบ่อที่แห้งขอด ขณะที่ชลประทานลำตะคอง ระบุระดับน้ำอยู่ในภาวะวิกฤต เหลือเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ของความจุ ไม่สามารถจ่ายน้ำให้เกษตรกรทำนาได้ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. |
"สถิติที่ผ่านมา อ่างเก็บน้ำลำตะคอง เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2548 มีปริมาณน้ำ 31 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 10 ซึ่งต่ำที่สุดตั้งแต่สร้างเขื่อน แต่ กฟผ.สามารถสูบน้ำขึ้นไปที่อ่างพักน้ำตอนบนเขายายเที่ยง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 500 เมกะวัตต์ ช่วยเสริมในระบบไฟฟ้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบริเวณใกล้เคียงให้เพียงพอและมั่นคงได้ตามปกติ ดังนั้นสถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้จึงยังไม่น่าเป็นห่วงและมีผลกระทบต่อการจ่ายกระแสไฟฟ้าในระบบแต่อย่างใด" นายพงศกรกล่าว
บุรีรัมย์ยอมให้ข้าวแห้งตาย
วันเดียวกัน สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ยังขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดหนองหัวช้าง บ้านลิ้นเกี่ย ต.นิคม อ.สตึก ซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่เนื้อที่กว่า 32 ไร่ และเป็นส่วนหนึ่งของอ่างเก็บน้ำลำตะโคง อ.แคนดง ที่มีเนื้อที่รวมทั้งหมดกว่า 1,000 ไร่ นอกจากนั้นยังเป็นทั้งแหล่งน้ำดิบในการผลิตประปาบริการประชาชนและทำการเกษตรใน 2 อำเภอ มี อ.สตึก และอ.แคนดง แต่ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขินใกล้แห้งขอด เนื่องจากฝนตกน้อยและทิ้งช่วง
แต่เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวใกล้หนองหัวช้างไม่กล้าที่จะสูบน้ำขึ้นไปใส่นาข้าว เพราะเกรงว่าน้ำที่เหลืออยู่เพียงประมาณร้อยละ 10 ของความจุ จะไม่เพียงพอในการผลิตประปาหล่อเลี้ยงประชาชนทั้ง 2 อำเภอได้ตลอดฤดูแล้ง จึงต้องปล่อยให้ต้นข้าวที่หว่านไว้เหี่ยวเฉาและยืนต้นตาย ทั้งนี้คาดว่าหากฝนไม่ตกหรือตกน้อยภายใน 2 เดือน น้ำที่เหลืออยู่จะแห้งขอดจนไม่สามารถสูบขึ้นไปทำประปาได้อย่างแน่นอน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านจึงได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเข้ามาสำรวจช่วยเหลือทั้งในเบื้องต้นโดยการทำฝนหลวง หรือขุดลอกหนองหัวช้างให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในระยะยาวด้วย
นายประสิทธิ์ แตร่งยอดรัมย์ อายุ 58 ปี ผู้ใหญ่บ้าน บ้านลิ้นเกี่ย กล่าวว่า หนองน้ำดังกล่าวมีมาตั้งแต่ก่อตั้งหมู่บ้าน แต่ไม่เคยขุดลอกเลยทำให้ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขินและแห้งขอดที่สุดในรอบหลายปี ทำให้เกษตรกรที่อาศัยน้ำจากหนองน้ำดังกล่าวในการทำนาไม่กล้าที่จะสูบน้ำขึ้นไปใส่นาข้าว เพราะเกรงน้ำจะไม่เพียงพอในการผลิตประปาทั้ง 2 อำเภอได้ตลอดหน้าแล้งนี้ จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาสำรวจช่วยเหลือด้วย
ด้านนายภควุฒิ เที่ยงธรรม อายุ 48 ปี ชาวบ้าน บ้านลิ้นเกี่ย กล่าวว่า พื้นที่ของอ่างเก็บน้ำลำตะโคงมีมากกว่า 1,000 ไร่ แต่หนองหัวช้างดังกล่าวมีพื้นที่ 32 ไร่ ขณะนี้มีสภาพตื้นเขินบางจุดแห้งขอด สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรที่มีอาชีพทำนา เพราะไม่สามารถสูบน้ำขึ้นไปเพาะปลูกข้าวได้ จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเข้ามาสำรวจขุดลอกหนองน้ำดังกล่าวให้กักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตรได้ตลอด ทั้งปีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและเกษตรกรด้วย
ขอนแก่นซื้อน้ำ-พิจิตรขายนาทิ้ง
ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ส่งผลกระทบต่อชาวนาครอบคลุมทั้ง 26 อำเภอ นายพัด ชูดวง อายุ 47 ปี ชาวนาบ้านทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ เผยว่า ชาวนาในพื้นที่ทุกคนยัง คงทำนาดำเช่นเดิม แม้จะประสบปัญหาการขาด แคลนน้ำอย่างหนัก แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงพร้อมใจในการที่จะซื้อน้ำจากรถบรรทุกของเอกชนมาทำนาในราคาคันละ 100-200 บาท
นอกจากนั้น ยังต้องพึ่งพาน้ำจากสถานีสูบน้ำไฟฟ้าสูบขึ้นมาจากลำน้ำพอง ก่อนส่งมาตามคลองส่งน้ำ โดยชาวบ้านจะต้องขุดร่องให้น้ำไหลเข้านาเอง เพื่อพยุงต้นข้าวให้อยู่รอดในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง จึงเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาไม่มีน้ำทำนาและอุปโภคบริโภคโดยด่วน
ส่วนที่ จ.พิจิตร นางวันเพ็ญ สวนเสรฐ อายุ 45 ปี ชาวนา ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง เปิดเผยว่า หลังจากที่ฝนตกทิ้งช่วงน้ำไม่มีหล่อเลี้ยงต้นข้าว น้ำในแม่น้ำยมแห้งขอด จึงเจาะบ่อบาดาลหวังสูบน้ำเข้านาเพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่กำลังเติบโต ปรากฏว่าน้ำในบ่อบาดาลมีน้อยไม่เพียงพอ จึงทำให้ข้าวในนาตายทั้งหมด
ส่งผลให้สามีเกิดความเครียดจนล้มป่วยเพราะกลัวว่าจะไม่มีเงินไปใช้หนี้สิน จึงได้ประกาศขายที่นา 14 ไร่ ซึ่งเป็นมรดกของครอบครัว เพื่อจะนำเงินไปใช้หนี้ธ.ก.ส. ค่าปุ๋ยค่ายา ซึ่งขณะนี้เป็นหนี้อยู่เกือบ 2 ล้านบาท เช่นเดียวกัน นายอุเทพ ผู้บุกกร อายุ 37 ปี ชาวนาในตำบลเดียวกันก็ประกาศขายที่นาจำนวน 14 ไร่ เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ธ.ก.ส.ที่กู้ยืมมาทำนา
ชัยนาทตลิ่งทรุด
ส่วนที่ จ.ชัยนาท เกิดเหตุตลิ่งทรุดตัวพังทลายลงแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อช่วงค่ำวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา จนส่งผลให้บ้านเลขที่ 14 ม.2 ต.ท่าชัย อ.เมืองชัยนาท พังทลายลงแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหลัง สาเหตุจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลงอย่างรวดเร็ว นางวาสนา สนิทชาติ เจ้าของบ้าน เปิดเผยว่า ขณะเกิดเหตุไม่มีใครอยู่บ้าน โดยช่วงบ่ายวันที่เกิดเหตุ มีเพื่อนบ้านโทรศัพท์มาแจ้งว่าตลิ่งเริ่มทรุดตัวลง จึงขอแรงเพื่อนบ้านช่วยกันขนย้ายทรัพย์สินออกมาได้บางส่วน กระทั่งบ้านทั้งหลังพังถล่มลงในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงค่ำ โดยค่าเสียหายประมาณ 1.2 ล้านบาท
ด้านนายสิงหล ทรัพย์พ่วง นายกอบต. ท่าชัย กล่าวว่า สาเหตุเกิดจากระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับตลิ่งสูงชันทำให้ดินสไลด์ตามน้ำลงไป จุดอ่อนบริเวณนี้เป็นช่วงโค้งน้ำ น้ำพุ่งชนบริเวณนี้ตลอดเวลา บริเวณนี้มีบ้านเรือนที่เสี่ยงประมาณ 20 หลัง เบื้องต้นได้ประสานทางอำเภอเมืองชัยนาทนำถุงยังชีพมาเยียวยาแล้ว การช่วยเหลือต้องดูในระเบียบหลักเกณฑ์ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นพื้นที่รับผิดชอบของกรมเจ้าท่า
"เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็มีบ้านเรือนริมแม่น้ำเจ้าพระยาในหมู่บ้านเดียวกันทรุดตัวเสียหายทั้งหลัง 1 หลัง และบางส่วนอีก 3 หลัง ซึ่งได้ประสานผู้ใหญ่บ้าน กำนันในพื้นที่ ประกาศให้ประชาชนได้เฝ้าระวังระดับน้ำที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ที่อาจทำให้ตลิ่งทรุดตัวอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับสิ่งก่อสร้างริมตลิ่งได้" นายกอบต.ท่าชัยกล่าว
ลพบุรีกักตุนน้ำขวด
ด้านสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.ลพบุรี ระดับน้ำในคลองอนุศาสนันท์ หรือคลองชัยนาท-ป่าสัก ที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท และไหลผ่าน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ อ.บ้านหมี่ อ.เมืองลพบุรี ก่อนไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ อ.นครหลวง จ.พระศรีอยุธยา ลดลงอย่างมาก และมีความตื้นเขินจนไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาผลิตเป็นน้ำประปาได้ ล่าสุดการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขาลพบุรี หยุดจ่ายน้ำให้ประชาชนแล้ว พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมภาชนะสำรองไว้ใส่น้ำ ในช่วงเวลาที่การประปาปล่อยน้ำมาให้ใช้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ ดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนเดินทางมาซื้อถังใส่น้ำจำนวนมาก จากการสอบถามพบว่าซื้อไปเพื่อเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ในขณะที่การประปาปล่อยน้ำมาให้ พร้อมกันนี้ก็ได้มีการพูดคุยกันต่อว่า ขาดน้ำปีนี้จะทารุณกว่าทุกปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เพราะน้ำประปาคงไม่ไหลไปอีกนาน และหากการประปาปล่อยน้ำมาให้ใช้ คงปล่อยได้เพียงวันเดียวและหยุดไปอีก 4-5 วัน ถึงจะปล่อยมาให้อีกครั้ง จึงต้องสำรองถังเก็บน้ำเอาไว้ใช้หลายๆ วัน นอกจากนั้นชาวบ้านยังแห่ไปซื้อน้ำบรรจุขวดกักตุนไว้ด้วย ทำให้ร้านค้าและห้างสรรพสินค้าต่างๆ ขายจนหมดเกลี้ยงในเวลาไม่นาน